GoDaddy จูงใจ SMEs ไทยเปิดเว็บไซต์ส่วนตัว อย่าฝากร้านไว้กับโซเชียลมีเดียเท่านั้น

บริษัทรับจดโดเมนเนมรายใหญ่จากสหรัฐฯ “GoDaddy” อัปเดตหลังบุกตลาดไทย 1 ปีกว่า ความท้าทายหลักยังเป็นการจูงใจให้ SMEs ที่ทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซสนใจเปิดเว็บไซต์ส่วนตัวควบคู่กับร้านบนโซเชียลมีเดีย เน้นสื่อสารข้อดีของการมีเว็บไซต์ และปัจจุบันมีทีมคนไทยคอยดูแลแล้ว พร้อมตอบรับเศรษฐกิจดิจิทัลไทยที่จะโต 17% ภายในปี 2568

GoDaddy เป็นบริษัทให้บริการเกี่ยวข้องกับเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ มีธุรกิจหลัก 3 อย่างคือ รับจดโดเมนเนม, โฮสติ้ง และให้บริการออกแบบเว็บไซต์ด้วยตนเอง (DIY) และตัวแทนจำหน่ายแอปพลิเคชันเพื่อธุรกิจ เช่น Office365 ช่วงไตรมาส 3/2021 บริษัท GoDaddy มีรายได้ทั่วโลก 964 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 32,500 ล้านบาท) เติบโต 14% YoY

ตลาดหลักของบริษัทยังอยู่ในสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อ 2-3 ปีก่อน บริษัทเริ่มขยายตัวออกสู่ตลาดต่างประเทศอย่างจริงจัง รวมถึงในไทยด้วย แต่ตลาดฝั่งเอเชียนั้นพฤติกรรมผู้บริโภคมีความแตกต่างจากตะวันตก

“สายทิพย์ (นิกกี้) เชวงทรัพย์” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ GoDaddy อัปเดตธุรกิจหลังเริ่มทำตลาดในไทยประมาณ 1 ปีกว่า มีธุรกิจไทยติดต่อเข้ามาพอสมควรจากหลากหลายธุรกิจ เช่น สินค้ารีเทล ร้านอาหาร บริษัททัวร์ บริษัทสถาปนิก ฯลฯ โดยบริษัทแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลัก ที่มีความต้องการสร้างเว็บไซต์ของบริษัทด้วยจุดประสงค์ต่างกัน ดังนี้

  • Small & Growing เป็นสตาร์ทอัพหรือผู้ประกอบการรายใหม่ที่เริ่มทำธุรกิจมาไม่ถึง 1 ปี ต้องการสร้างแบรนด์และมองหาโอกาสทำธุรกิจให้เติบโต
  • Small & Steady เป็นธุรกิจเล็กที่เริ่มมีรายได้คงที่แล้ว กำลังเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ต้องการจะเติบโตอย่างยั่งยืน
  • Large SMB เป็นธุรกิจขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ มีทีมงานมากกว่า 10 คน เริ่มมองหาการขยายธุรกิจให้โตก้าวกระโดด เป็นกลุ่มที่รู้ว่าตัวเองต้องการมุ่งเป้าไปในทิศทางไหน

GoDaddy

จากการทำตลาดจะพบว่า พฤติกรรมคนเอเชียรวมถึงคนไทยจะสลับกับฝั่งตะวันตก กล่าวคือฝั่งตะวันตกเมื่อเริ่มทำธุรกิจ มักจะสร้างเว็บไซต์ของแบรนด์ขึ้นมาก่อน จากนั้นจึงเปิดหน้าร้านบนโซเชียลมีเดีย แต่ฝั่งเอเชียจะนิยมเปิดร้านบนโซเชียลมีเดียก่อน จนติดตลาดแล้วจึงพิจารณาเรื่องการเปิดเว็บไซต์ ซึ่งทำให้ตลาดโตช้ากว่าในตะวันตก

 

โจทย์ใหญ่: ผู้บริโภคมองว่าทำไมต้องมี “เว็บไซต์” ?

อุปสรรคของธุรกิจรับออกแบบเว็บไซต์และจดโดเมน คือ SMEs ไทยจะไม่เห็นความจำเป็นในการเปิดเว็บไซต์ เพราะผู้บริโภคไทยเองก็เคยชินกับการ ‘ทักแชท’ ซื้อขายแบบโซเชียลคอมเมิร์ซ เป็นช่องทางที่สะดวกและตรงจริตคนไทยอยู่แล้ว นอกจากนี้ ยังมองว่าการเปิดเว็บไซต์นั้นยุ่งยาก ต้องมีความรู้เทคนิค และต้องลงทุนสูง

อย่างไรก็ตาม สายทิพย์ชี้ให้เห็นอีกมุมหนึ่งว่า การมีเว็บไซต์ส่วนตัวของแบรนด์มีข้อดีที่เหนือกว่าการฝากร้านไว้กับโซเชียลมีเดียเท่านั้น ดังนี้

  • กระจายความเสี่ยงการเปลี่ยนอัลกอริทึมของโซเชียลมีเดีย – บางครั้งโซเชียลมีเดียปรับอัลกอริทึมใหม่จนทำให้โพสต์ของร้านถูกลดการมองเห็นลงอย่างมาก ร้านค้าต้องลงทุนบูสต์โพสต์สูงขึ้นเพื่อให้ยังคงยอดขายไว้ได้ แต่หน้าเว็บไซต์มีโอกาสคงอยู่ใน Google Search ง่ายกว่า เสถียรกว่า
  • ปัญหาการจัดเก็บข้อมูลบนโซเชียลมีเดีย – เมื่อเราโพสต์ข้อมูลบนโซเชียลมีเดีย โพสต์จะเลื่อนหล่นลงไปเรื่อยๆ และหาได้ยาก การจัดเก็บไม่เป็นระบบเมื่อลูกค้าจะเข้ามาชมข้อมูล การจะหาข้อมูลต่างๆ ค่อนข้างยาก แต่หน้าเว็บไซต์สามารถออกแบบให้หาข้อมูลสำคัญได้ง่าย
  • แสดงตัวตนของแบรนด์ได้ชัดเจน – เมื่ออยู่บนโซเชียลมีเดียก็ยังมีเทมเพลตของโซเชียลมีเดียนั้นๆ กำกับ แต่เว็บไซต์เป็นพื้นที่ของแบรนด์เอง 100% แสดงตัวตนได้ชัดเจน
  • ลูกค้าเกิดความเชื่อถือ – ผลทางจิตวิทยาทำให้ลูกค้ารู้สึกว่า แบรนด์ที่มีเว็บไซต์ของตนเองเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจอย่างจริงจัง น่าเชื่อถือสูง
  • เก็บข้อมูลลูกค้าเพื่อใช้ประโยชน์ – การซื้อขายผ่านโซเชียลมีเดีย การจัดเก็บดาต้าลูกค้ายุ่งยากกว่า และทำการตลาดจูงใจให้ซื้อซ้ำหรือ CRM ได้ยากกว่าการเปิดเว็บไซต์ของตนเอง

GoDaddy

ในแง่ของการลงทุน เป็นคำถามใหญ่ที่ผู้ประกอบการมักจะสอบถาม ซึ่งสายทิพย์ชี้ให้เห็นว่า การฝากร้านไว้บนโซเชียลมีเดียก็ไม่ได้เป็นการใช้ฟรีเสมอไป เพราะทุกร้านมีการลงทุนบูสต์โพสต์แต่เนื่องจากอาจจะจ่ายเป็นรายวัน ทำให้รู้สึกว่าลงทุนต่ำ แต่รวมแล้วจริงๆ แล้วมีค่าใช้จ่ายหลักพันต่อเดือน ส่วนการสร้างเว็บไซต์กับ GoDaddy สามารถเริ่มต้นด้วยแพ็กเกจ 250 บาทต่อเดือนได้ ไม่จำเป็นต้องลงเงินก้อนใหญ่แต่แรก

แม้จะเป็นการเปรียบเทียบกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ประกอบการควรเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ควรจะใช้ทั้งสองช่องทางควบคู่กัน โดยมีการศึกษาวิจัยในต่างประเทศพบว่าร้านค้าที่มีหน้าร้านทั้งเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียจะทำให้การมองเห็นของลูกค้าเพิ่มขึ้น และทำยอดขายเพิ่ม 20%

 

ทีมคนไทยพร้อมดูแล

ด้านธุรกิจของ GoDaddy เอง ช่วงที่ผ่านมาได้ปรับตัวให้เข้ากับคนไทยมากขึ้น นั่นคือการตั้งทีมงานคนไทยเพิ่มเพื่อบริการให้คำปรึกษาและดูแลงาน จากที่ผ่านมาอาจจะมีคนไทยพูดไทยได้จำกัด ลูกค้าไม่สะดวกที่จะติดต่อกับพนักงานที่พูดภาษาอังกฤษ ทำให้ขณะนี้สายทิพย์มองว่า GoDaddy เป็นผู้เล่นระดับโลกรายเดียวในไทยที่มีทีมงานคนไทยพร้อมดูแล

“สายทิพย์ (นิกกี้) เชวงทรัพย์” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ GoDaddy

ส่วนการพัฒนาในระยะต่อไป เล็งเห็นแล้วว่าโจทย์ของไทยคือการซื้อขายจะเคยชินกับการทักแชท รวมถึงช่องทางชำระเงินควรจะเพิ่มฟีเจอร์จ่ายผ่านอีวอลเล็ตด้วย ซึ่งทางบริษัทจะนำไปศึกษาเพิ่มเติมว่าจะแก้โจทย์เหล่านี้อย่างไร

สายทิพย์มองว่า โอกาสการเติบโตในไทยยังมีสูง เนื่องจากผลการศึกษาของ Google คาดว่าเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยจะเติบโต 17% ในช่วงปี 2564-68 และการระบาดของ COVID-19 เป็นปัจจัยส่ง ทำให้มีผู้บริโภคดิจิทัลเพิ่มขึ้นแล้ว 9 ล้านคน ร้านค้าต่างปรับตัวเข้าสู่อีคอมเมิร์ซกันมากขึ้นด้วยสถานการณ์บังคับ เป็นโอกาสอันดีของธุรกิจรับจดโดเมนและออกแบบเว็บไซต์

“การใช้เว็บไซต์ของบริษัทคู่กับโซเชียลมีเดียเพื่อส่งเสริมกันและกัน จะเป็นเทรนด์อนาคตของอีคอมเมิร์ซ” สายทิพย์กล่าว