นักวิจัยจีนพัฒนา “หลอด” กินได้ ย่อยสลายได้ภายใน 15-45 วัน

Photo : Shutterstock
(สำนักข่าวซินหัว) บทความวิจัยจากวารสารวัสดุเฉพาะทางขั้นสูง (Advanced Functional Material) ระบุว่าคณะนักวิจัยของจีนใช้กระบวนการสังเคราะห์ทางชีวเคมีมาพัฒนาหลอดประเภทใหม่จากเซลลูโลสของแบคทีเรีย ซึ่งสามารถรับประทานได้ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปราศจากไมโครพลาสติก และมีประสิทธิภาพทางกลดีกว่าหลอดกระดาษ รวมถึงไม่ต้องใช้กาวยึดเพิ่มเติม

หลอดพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งต้องใช้เวลาหลายร้อยปีในการย่อยสลายอย่างสมบูรณ์ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรงและเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ โดยอุตสาหกรรมบริการอาหารปรับเปลี่ยนมาใช้หลอดกระดาษแทน ทว่ามีรสชาติไม่ดีและโดยทั่วไปแล้วจะเปื่อยยุ่ยง่าย

หลอดที่ทำจากเซลลูโลสของแบคทีเรียข้างต้น บางกว่าหลอดกระดาษแต่มีประสิทธิภาพการใช้งานเหมือนกัน โดยสีผสมอาหารหรือสารสกัดจากพืชธรรมชาติที่อยู่ในเครือข่ายนาโนไฟเบอร์ 3 มิติของเซลลูโลสจากแบคทีเรีย ทำให้หลอดสามารถดูดซับสีและรสชาติที่หลากหลายเพื่อให้ได้รสชาติที่ดีขึ้น

หนังสือพิมพ์ไชน่า ไซเอนซ์ เดลี (China Science Daily) รายงานว่าหลอดประเภทใหม่นี้สามารถย่อยสลายได้อย่างรวดเร็วในสภาพแวดล้อมโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม โดยการทดลองพบว่าหลอดจะแตกเป็นชิ้นเล็กๆ ในช่วง 15-45 วัน หรือแทบจะสูญสลายหายไปทั้งหมด

สำหรับคุณสมบัติรับประทานได้ของหลอดประเภทใหม่นี้ ทำให้ผู้ใช้งานได้รับประสบการณ์ที่ดีขึ้น รวมถึงทำให้หลอดเป็นมิตรต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากกว่าหลอดพลาสติกทั่วไป

ทั้งนี้ จีนออกแผนการห้ามหรือลดการผลิตและการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญเพื่อควบคุมมลภาวะตลอดระยะ 5 ปีข้างหน้า ตั้งแต่ต้นปี 2020 ที่ผ่านมา