เทรนด์ของ ‘พลังงานหมุนเวียน’ กำลังได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วโลก ด้วยเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอน เพื่อช่วยให้มีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น รัฐบาลประเทศต่างๆ องค์กรทั้งหลาย ต่างมุ่งสู่นโยบาย ‘Net Zero’ หน่วยงานขนาดใหญ่เริ่มปฏิรูปการใช้พลังงานรูปแบบดั้งเดิมไปสู่พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประชาชนผู้เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย และองค์กรขนาดกลาง-ขนาดย่อม ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงพลังงานหมุนเวียน เนื่องจากราคาอุปกรณ์และการติดตั้งยังมีต้นทุนสูง
จาก Pain Point ของผู้บริโภคเหล่านี้ ทำให้ ‘ไอออน เอนเนอร์ยี่’ หรือ ION บริษัทจัดหาโซลูชันพลังงานโซลาร์ครบวงจรในกลุ่มบางกอกเคเบิ้ล ผู้ผลิตสายไฟฟ้ารายใหญ่ในประเทศไทย มองเห็นโอกาสตลาด เปิดตัวโมเดลธุรกิจใหม่ ให้กลุ่มผู้ใช้รายย่อย ภาคครัวเรือน และองค์กรธุรกิจ เข้าถึงพลังงานสะอาดได้ ด้วยการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปโดย ‘ไม่มีค่าใช้จ่าย’ ในการจัดซื้ออุปกรณ์และค่าติดตั้ง
โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแบบ Private PPA ที่ลูกค้าจ่ายเพียงค่าใช้ไฟตามจริงด้วยราคาที่ต่ำกว่าการไฟฟ้า 20-50% เเละเมื่อครบสัญญา 15 ปีก็จะได้รับโอนแผงโซลาร์ให้กับผู้ใช้ไฟฟรี ทำให้สามารถใช้ไฟได้ฟรีไปได้อีก 10 ปี หรือตลอดอายุการใช้งาน
บุกตลาด ‘รายย่อย’ ด้วยข้อเสนอติดตั้งฟรี
“ตอนนี้ยังไม่มีผู้เล่นรายใหญ่ลงมาลงเล่นในตลาดเล็กมากนัก เพราะโฟกัสกับโปรเจกต์ใหญ่ (3MW ขึ้นไป) มากกว่า ซึ่งนับเป็นโอกาสของเราที่จะเข้าเจาะตลาดรายย่อย เน้นงานที่อยู่อาศัย ดีลกับภาคอสังหาฯ รวมถึงบริษัทขนาดเล็กเเละขนาดกลาง เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงพลังงานสะอาดให้ได้มากที่สุด” พีรกานต์ มานะกิจ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ไอออน เอนเนอร์ยี่ จำกัด กล่าว
สำหรับรูปแบบการให้บริการของไอออน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้เเก่
- Private PPA
ติดตั้งโซลาร์ฟรี ผ่านสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เหมาะกับองค์กรธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่มีค่าไฟตั้งแต่ 500,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป โดยที่ ION จะให้บริการจัดหาและติดตั้งแผงโซลาร์และระบบสายไฟฟ้า รวมถึงเชื่อมต่อการให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน ให้กับผู้ใช้งานฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งลูกค้าจะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นแค่ในส่วนของค่าไฟฟ้าที่ใช้จริงในแต่ละเดือนเท่านั้น
ทั้งนี้ค่าไฟฟ้าจากการใช้บริการแบบ PPA นี้จะมีราคาต่ำกว่าการใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าขั้นต่ำประมาณ 20-50% (ขึ้นกับขนาดการติดตั้ง) โดย ION จะทำสัญญาการใช้ไฟฟ้ากับลูกค้าเป็นระยะเวลา 15 ปี เมื่อครบสัญญาลูกค้าจะสามารถใช้ไฟฟ้าได้ฟรีไปอีกถึง 10 ปี หรือตามอายุของแผงโซลาร์ ซึ่งปัจจุบันมีอายุการใช้งานขั้นต่ำ 25 ปี
- EPC
เป็นการให้บริการในรูปแบบ “รับเหมา” ออกแบบ จัดหา และติดตั้งระบบโซลาร์ให้กับลูกค้า ด้วยการบริการแบบมืออาชีพ และอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน พร้อมการขออนุญาตกับหน่วยงานรัฐ สามารถติดตั้งได้ทุกขนาดตั้งแต่ 1.5 กิโลวัตต์ขึ้นไป เหมาะสำหรับบ้านเดี่ยว ภาคครัวเรือนและโครงการอสังหาริมทรัพย์ เช่นบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม โฮมออฟฟิศ รวมไปถึงองค์กรธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
ธุรกิจโซลาร์ เติบโตเร็ว
สำนักวิจัยธนาคารกรุงไทยได้คาดการณ์ว่า ธุรกิจโซลาร์ภาคเอกชนแบบ PPA จะเติบโตขั้นต่ำ 30% ต่อปีหรือเติบโต 13.4 เท่า ภายใน 10 ปี จากปี 2563 ที่มีอยู่ 670 เมกะวัตต์ เป็น 9,000 เมกะวัตต์ในปี 2573
สำหรับผลงานในปี 2564 บริษัทได้ทำการติดตั้งโซลาร์โซลูชันให้ลูกค้าไปแล้วกว่า 400 โครงการ คิดเป็นกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 5 เมกะวัตต์ ซึ่งเน้นเจาะตลาดลูกค้าติดตั้งโซลาร์ขนาดไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ มีทั้งลูกค้ากลุ่ม PPA และ EPC ทั้งภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และบ้านเดี่ยว ยกตัวอย่างเช่น บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) โรงแรมเดอะสแตนดาร์ด หัวหิน บริษัทโรงงานแม่รวย (ผู้ผลิตและจำหน่ายถั่วลิสง “โก๋แก่”) รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอีกหลายแห่ง
ในปีนี้ ION ตั้งเป้าหมายเจาะกลุ่มลูกค้าควบคู่กันทั้งธุรกิจโซลาร์ภาคประชาชนทั้งแบบ PPA และ EPC คาดว่าจะมีโครงการติดตั้งใหม่รวมกำลังผลิตไฟฟ้า 25 เมกะวัตต์ หรือเป็นการติดตั้งราว 2,000 โครงการ รวมมูลค่าโครงการ 625 ล้านบาท แบ่งเป็น PPA จำนวน 15 เมกะวัตต์ และ EPC จำนวน 10 เมกะวัตต์ ซึ่งจะประกอบไปด้วยลูกค้าภาคครัวเรือนและบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ “พร้อมตั้งเป้าหมายในระยะยาวให้มีสัดส่วนลูกค้า PPA 70% และ EPC 30%”
ด้านเป้าหมายการเติบโตในระยะ 5 ปี นับจากปี 2565-2570 จะมีการติดตั้งโซลาร์โซลูชันกำลังการผลิตไฟฟ้า 150 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นมูลค่าโครงการ 3,750 ล้านบาท สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมโซลาร์
โดยรายได้หลักของ ION ส่วนใหญ่จะมาจาก ‘ส่วนลดค่าไฟ’ เเละข้อได้เปรียบเรื่องต้นทุนการผลิตที่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับระยะเวลาการใช้งาน
เปิดเเพลตฟอร์มให้ใช้ได้หลายๆ เเบรนด์
อีกหนึ่งความน่าสนใจคือ แอปพลิเคชั่น solar monitoring & payment platform ซึ่งพัฒนามาเพี่อรองรับไลฟ์สไตล์ผู้ใช้งานในปัจจุบัน ที่สามารถตรวจสอบการทำงานของระบบโซลาร์ ทั้งการผลิตและการจ่ายไฟฟ้า รวมถึงกำลังการใช้ไฟฟ้า และยังสามารถชำระค่าไฟฟ้าผ่านแอปพลิเคชันได้ด้วย
ในอนาคตจะพัฒนาให้สามารถเชื่อมต่อกับระบบ IoT เพื่อควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน เเละ เปิดระบบให้ใช้ได้กับหลากหลายเเบรนด์ทั่วไป ไม่จำกัดเฉพาะการติดตั้งของ ION เท่านั้น
ลุยจับมือเเบรนด์อสังหาฯ พร้อมกลยุทธ์บอกต่อ
เมื่อถามถึงกลยุทธ์การตลาดที่จะทำให้พลังงานโซลาร์ครบวงจรให้เข้าถึงลูกค้าได้มากยิ่งขึ้นนั้น ผู้บริหาร ION ตอบว่า
ในส่วนของกลุ่มที่อยู่อาศัย จะเน้นไปที่การจับมือกับเเบรนด์อสังหาฯ ทั่วประเทศ เพื่อเสนอเเพ็กเกจราคารวมการติดตั้งให้สำหรับบ้านใหม่
ส่วนกลุ่มที่อยู่อาศัยที่เป็น ‘บ้านเก่า’ จะมุ่งทำการตลาดโดยสื่อสารกับรายย่อยมากขึ้น อย่างการโปรโมตเเละให้ความรู้ผ่านสื่อโซเชียล รวมไปถึงจะมีการนำสินค้าไปโชว์ตามโมเดิร์นเทรดเพื่อให้ลูกค้าได้เห็นของจริง
ด้านธุรกิจขนาดเล็กเเละขนาดกลาง ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ บริษัทจะใช้กลยุทธ์ ‘ป่าล้อมเมือง’ ไม่จำกัดเฉพาะหัวเมืองใหญ่ เเต่จะไปรอบนอกก่อน ด้วยการส่งทีมที่ปรึกษาไปหาลูกค้าเอง
นอกจากนี้ ยังมีกลยุทธ์บอกต่อเเบบ ‘ปากต่อปาก’ โดยจะมีการให้ค่าเเนะนำสำหรับผู้ที่บอกเพื่อน ญาติมิตรหรือคนรู้จักที่ใช้ค่าไฟตั้งแต่ 500,000 บาทต่อเดือนขึ้นไปมาติดตั้งโซลาร์เเบบ PPA กับบริษัทด้วย
“การเจาะตลาดกลุ่มผู้ใช้รายย่อย โดยเฉพาะการติดตั้งตามที่อยู่อาศัย ถือเป็นตลาดที่คู่แข่งบริษัทขนาดใหญ่ไม่สนใจลงมาแข่งขัน เนื่องจากลูกค้ากลุ่มนี้มีข้อจำกัดด้านเงินทุน ซึ่งหากสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนให้เป็นพลังงานสะอาดได้ ก็จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้อย่างมหาศาล”
- “แสนสิริ” ประกาศเป้า Net-Zero ดูแลสิ่งแวดล้อม ติดตั้ง “EV Charger” ทุกโครงการในปี 2025
- ไม่ได้ขายแค่หลอดไฟ! IKEA จะขาย “ไฟฟ้า” พลังงานสะอาด เริ่มประเทศแรกที่สวีเดน