ส่อง 107 ดีลซื้อกิจการของ ‘3 บิ๊กเทคคอมปานี’ ตลอดปี 2021 ที่เย้ยกฎหมายการ ‘ผูกขาดตลาด’

หากไม่ใช่ดีลใหญ่จริง ๆ หลายคนคงจะไม่รู้ว่า 3 บิ๊กเทคคอมปานีระดับโลกอย่าง Amazon, Microsoft และ Alphabet ได้เข้าซื้อกิจการบริษัทในปี 2021 รวมกันถึง 107 ดีลเลยทีเดียว ซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ สหรัฐฯ เองก็กำลังพยายามควบคุมเพื่อไม่ให้เกิดการ ‘ผูกขาดตลาด’

ตามข้อมูลที่รวบรวมโดย Dealogic พบว่าในปี 2021 Alphabet บริษัทแม่ของ Google ได้เข้าซื้อกิจการไป 22 ดีล รวมมูลค่า 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วน Microsoft ปิดไป 56 ดีล รวมมูลค่า 2.57 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Amazon ปิดที่ 29 ดีล รวมมูลค่า 1.57 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวนับเฉพาะมูลค่าของ ข้อตกลงที่เปิดเผยต่อสาธารณะเท่านั้น

จากปริมาณดีลการเข้าซื้อกิจการของทั้ง 3 บริษัทถือว่ามี จำนวนมากที่สุดในรอบ 10 ปี ในขณะที่ปี 2022 นี้ก็เริ่มเห็นความเคลื่อนไหวใหญ่จาก Microsoft ที่เตรียมซื้อ Activision Blizzard บริษัทผู้ผลิตวิดีโอเกมชื่อดังอย่าง Call of Duty, World of Warcraft และ Candy Crush ในมูลค่า 6.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากจำนวนดีลดังกล่าวกำลังแสดงให้เห็นว่า เหล่าบริษัทใหญ่ไม่ได้เกรงกลัวการปราบปรามการผูกขาดที่จะเกิดขึ้น หรือก็คือพวกเขาไม่เชื่อว่าหน่วยงานกำกับดูแลจะสามารถดำเนินคดีในศาลหรือปิดกั้นการเข้าซื้อกิจการได้

อย่างไรก็ตาม Lina Khan ประธานคณะกรรมาธิการการค้าแห่งสหพันธรัฐ (Federal Trade Commission : FTC) ที่เพิ่งรับตำแหน่งเมื่อเดือนมิถุนายนปี 2021 ได้กล่าวว่า “หน่วยงานของเธอต้องการบังคับใช้นโยบายต่อต้านการผูกขาดอย่างจริงจัง” โดยที่ผ่านมาเธอได้ยื่นคำร้องแก้ไขต่อ Facebook แล้ว โดยอ้างว่าการเข้าซื้อกิจการ Instagram และ WhatsApp มีส่วนทำให้สถานะปัจจุบันของบริษัทนั้นผูกขาดเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Media)

จนถึงตอนนี้ FTC ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ Khan นั้นใช้กลยุทธ์ในการยับยั้งการเข้าซื้อกิจการของบริษัท โดยหนึ่งในการดำเนินการดังกล่าวคือ FTC จะดำเนินการตรวจสอบข้อตกลงของดีลต่อไป แม้ว่าจะเลยระยะเวลาตามกฎหมายก็ตาม โดย FTC จะส่งจดหมายเตือนว่า ธุรกิจสามารถควบรวมกิจการได้โดยยอมรับความเสี่ยง เพราะ FTC อาจยื่นฟ้องในภายหลังเพื่อให้เลิกทำธุรกรรมได้

Lina Khan ประธานคณะกรรมาธิการการค้าแห่งสหพันธรัฐ ภาพจาก Reuters

อย่างไรก็ตาม องค์กรดังกล่าวกำลังเจอกับความท้าทายด้านเวลาเพื่อให้ทันกับการควบรวมกิจการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ และสิ่งที่ยังมองไม่เห็นคือ หน่วยงานเต็มใจที่จะทำการต่อต้านการผูกขาดได้แค่ไหน เพราะด้วยงบประมาณที่ไม่สอดคล้องกับปริมาณงาน

“การต่อสู้กับ Big Tech ต้องใช้ความกล้าหาญ เพราะบริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทที่มีทรัพยากรมหาศาล และพวกเขาไม่อายที่จะปรับใช้ทรัพยากรเหล่านั้น เรากำลังแสดงบริษัทเหล่านี้ว่าเจ้าหน้าที่จะไม่ถอยเพียงเพราะแค่บริษัทเหล่านี้พยายามข่มขู่เรา” Lina Khan กล่าว

ที่ผ่านมา บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่มักจ่ายเงินให้ทนายความหลายสิบคน ทั้งภายในและนอกที่ปรึกษา เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับโอกาสในการอนุมัติข้อตกลงเข้าซื้อกิจการไม่ว่าจะเป็น Microsoft, Amazon, Meta (Facebook), Alphabet และ Apple ซึ่งบริษัททั้งหมดมีมูลค่ารวมเกือบ 9.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน

ทั้งนี้ การออกมาปราบปรามการผูกขาดจากบริษัทใหญ่มาจากนโยบายของ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน โดยที่ผ่านมา หน่วยงานกำกับดูแลการต่อต้านการผูกขาดที่เขาเลือกได้มีการฟ้องร้องการเข้าซื้อกิจการของ Simon & Schuster สำนักพิมพ์คู่แข่งของ Penguin Random House ในเดือนพฤศจิกายน และ FTC ก็ได้ฟ้องการเข้าซื้อกิจการ Arm ผู้ให้บริการออกแบบชิปในสหราชอาณาจักรมูลค่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ของ Nvidia ในเดือนธันวาคม

Source