“กีดกันสิทธิและศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของเสริมสุขจนเกินไป” เป็นหัวใจแห่งปัญหาที่นำพาสู่จุดแตกหักในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นบริษัทเสริมสุข จำกัดประจำปี 2554 ในวันที่ 29 เมษายน 2554
ผู้ถือหุ้นมีมติยืนยันตามมติเห็นชอบของคณะกรรมการฯให้บริษัทเสริมสุขดำเนินการยกเลิกสัญญา EBA (Exclusive Bottling Appoinment) โดยได้ทำหนังสือบอกกล่าวเลิกสัญญาไปตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2554 โดยมีผลสิ้นสุดวันที่ 1 เมษายน 2555
การประนีประนอมจึงไม่ใช่ทางออกของความขัดแย้งที่เริ่มก่อตัวมาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว หลังจากเป๊ปซี่-โคล่า(ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด เริ่มต้นทำ Tender offer การตัดบัวไม่เหลือใยของเสริมสุขจึงเกิดขึ้น
สมชาย บุลสุข กรรมการและประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ขณะที่ปริญญา เพิ่มพาณิช ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและปฏิบัติการขาย เป็นผู้ตอบคำถามแทน
“ผลจากการบอกเลิกสัญญา หมายถึงโอกาสของเสริมสุขได้เปิดกว้างขึ้น สำหรับเครื่องดื่มทุกประเภท ทั้งการสร้างแบรนด์ของตัวเอง การรับกระจายสินค้าและจัดจำหน่ายภายใต้แบรนด์คนอื่น นอกจากน้ำดื่มแล้วก็มีหลายเซ็กเม้นท์ที่ทำกำไรดี เช่น เครื่องดื่มชูกำลัง แต่ตอนนี้เรามีความสุขกับคาราบาวแดงมาก เพราะตอนนี้มีส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 2”
เมื่อสัญญาไม่ลงตัว งานนี้จึงเข้าทำนอง “แตกเป็นแตก แบกเอาไว้ก็หนัก” เสริมสุขดูจะไม่แยแสแม้จะขาดเป๊ปซี่ ที่ทำรายได้หลักแต่อย่างใด เนื่องจากมองว่าตัวเองมีศักยภาพที่จะเติบโตได้แม้ไม่มีเป๊ปซี่
ขณะที่สัญญาณแห่งความพ่ายแพ้ของเป๊ปซี่ ได้ฉายชัดขึ้น เพราะโอกาสที่จะกลับมาจูบปากกันดูลางเรือนเต็มที
“ถ้าจะกลับมาคุยกันใหม่ต้องขออนุมัติจากผู้ถือหุ้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการฯ แล้ว”
เส้นทางของเสริมสุขดูจะสดใส และไม่ใส่ใจว่าจะต้องโบกมือลาแบรนด์ดังระดับโลกที่ปลุกปั้นกันมานาน
“มั่นใจว่าหลังจากวันนี้จะมีคนมาจีบเราเยอะมาก จากก่อนหน้านี้ก็มี แต่เราก็ไม่กล้ากินข้าวกับใคร”
ขณะที่เป๊ปซี่เอง ก็น่าสนใจว่าจะเดินเกมไปในทิศทาง ด้วยเงินทุนที่หนาการจะตั้งโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์แบบไม่คืนขวด( Non-Returnable Bottle) ไม่ใช่เรื่องเกินกำลัง แต่ปริญญาวิเคราะห์ว่า สำหรับขวดแก้วคืนขวดแล้ว ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่อย่างใด ระยะเวลา 1 ปี นับจากนี้ไม่เพียงพออย่างแน่นอน
“อย่างน้อยๆ ต้องมี 4-5 ปี เพราะไลน์การผลิตยาก และปัญหาเรื่องวัตถุดิบที่ไม่พอเพียง ขณะเดียวกันการกระจายสินค้าและการขนส่งต้องทำ 2 เที่ยว คือแบกไปและแบกกลับ”
แน่นอนว่าบัลลังก์ของเป๊ปซี่ในไทยจะต้องสั่นคลอนและอาจถึงขั้นพ่ายแพ้แม้กระทั่งอาเจ บิ๊กโคล่า ก็เป็นได้เนื่องจากตลาดน้ำอัดลมยังคงพึ่งพาช่องทาง Traditional Trade สูง โดยขวดแก้วแบบคืนขวดคิดเป็นสัดส่วน 70% ของตลาด
อย่างไรก็ตาม 11 เดือนจากนี้ไป เราจะยังคงเห็นการตลาดอันเข้มข้นจากเป๊ปซี่-เสริมสุข อยู่ แต่เมื่อสิ้นสุดวันที่ 1 เมษายน 2555 ต่างคนจะต่างเดินบนเส้นทางที่เลือกแล้ว
“11 เดือนที่เหลือก็คือรายได้ของเสริมสุข ต้องทำเต็มที่ สำหรับเราศักดิ์ศรีสำคัญ เรายอมไม่ได้ ต้องเป็นที่ 1 จนวันสุดท้าย หลังจากนั้นก็ไม่ใช่เรื่องของเราแล้ว”
จากมิตรผู้ชิดเชื้ออาจกลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเสริมสุขเลือกที่จะเปิดตัวด้วยน้ำอัดลมภายใต้แบรนด์ของตัวเอง ซึ่งก็มีความเป็นไปได้สูง