กลัวน้อยหน้าไมโครซอฟท์! ‘Sony’ ทุ่ม 1.2 แสนล้านบาทซื้อสตูดิโอ ‘Bungie’ เจ้าของเกม ‘Destiny’

ตั้งแต่ต้นปีก็มีดีลสะท้อนโลกของ Microsoft (ไมโครซอฟท์) บริษัทเทคคอมปานียักษ์ใหญ่ที่ซื้อ Activision Blizzard บริษัทผู้ผลิตวิดีโอเกมชื่อดังอย่าง Call of Duty, World of Warcraft และ Candy Crush ในมูลค่า 6.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 2.27 ล้านล้านบาท เปิดเดือนกุมภาพันธ์มา Sony (โซนี่) ก็ซื้อสตูดิโอเกม ‘Bungie’ ซึ่งเป็นอดีตเด็กปั้นของ Microsoft

ย้อนไปในปี 2000 สตูดิโอ Bungie ที่เคยเป็นสตูดิโอเกมอิสระได้ถูก Microsoft ซื้อกิจการไป โดยสตูดิโอดังกล่าวได้เป็นผู้ปลุกปั้นแฟรนไชส์เกม Halo ให้โด่งดังไปทั่วโลก อีกทั้งยังมีส่วนสำคัญในการผลักดัน Xbox ให้เข้าสู่วงการครั้งแรก อย่างไรก็ตาม ในปี 2007 Bungie ก็ได้แยกตัวออกจาก Microsoft และในปี 2010 Bungie ก็ได้เป็นพาร์ตเนอร์กับบริษัท Activision Blizzard (ที่เพิ่งถูกไมโครซอฟท์ซื้อ) โดยทั้ง 2 ได้พัฒนาเกมชื่อดังอย่าง Destiny และได้แยกทางกันในปี 2019

ปัจจุบัน Sony Interactive Entertainment หรือ SIE ก็ได้ทุ่มเงิน 3.6 พันล้านดอลลาร์ (ราว 1.2 แสนล้านบาท) ปิดดีลสตูดิโอ Bungie เข้ามาเสริมแกร่งบริษัท พร้อมย้ำว่า Bungie จะยังคงมีอิสระด้านความคิดสร้างสรรค์ การพัฒนา และการจัดจำหน่ายเกมของตัวเอง โดยปัจจุบันทาง Bungie มีสำนักงานอยู่ในเมืองเบลเลอวู วอชิงตัน จำนวนพนักงานมากกว่า 900 คน

“Bungie ได้สร้างและพัฒนาแฟรนไชส์วิดีโอเกมที่เป็นที่รักมากที่สุดในโลกอย่างต่อเนื่อง พวกเขาได้รวบรวมผู้คนนับล้านทั่วโลกมารวมกัน และปรับค่านิยมให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้คนในการแบ่งปันประสบการณ์การเล่นเกม” เคนอิจิโร โยชิดะ ประธาน ประธานและซีอีโอของโซนี่ กล่าว

ทั้งนี้ Bungie บอกเป็นนัยว่าจะพัฒนาเกมต่อไปสำหรับทุกแพลตฟอร์ม “เราจะดำเนินการเผยแพร่และพัฒนาเกมของเราอย่างสร้างสรรค์ต่อไป และเราจะเดินหน้าขับเคลื่อนชุมชน Bungie ที่รวมกันเป็นหนึ่งเดียวต่อไป เกมของเราจะยังคงเป็นที่ที่ชุมชนของเราอยู่ ไม่ว่าพวกเขาจะเลือกเล่นที่ไหนก็ตาม”

อย่างไรก็ตาม แค่ต้นปีนี้ไม่ได้มีดีลใหญ่จาก Microsoft และ Sony เท่านั้น แต่ยังมีดีลของบริษัท Take-Two เจ้าของ GTA ทุ่ม 4.2 แสนล้านบาทซื้อค่ายเกมแคชวล Zynga มาเสริมทัพ นอกจากนี้ยังมีความเคลื่อนไหวจากฝั่งประเทศจีนอย่าง ‘NetEase’ ค่ายเกมเบอร์ 2 จีนเปิดตัวสตูดิโอเกมใหม่ในญี่ปุ่นเพื่อรุกตลาดเกมคอนโซลอีกด้วย

Source