เทรนด์นี้มาเเรง พนักงานทั่วโลก เลือกรับค่าจ้างเป็น ‘คริปโต’ มากขึ้น

Photo : Shutterstock
พนักงานทั่วโลก เลือกที่จะรับค่าตอบเเทนเป็นสกุลเงินดิจิทัลหรือคริปโตเคอร์เรนซีมากขึ้น โดยเฉพาะในสายงานเทคโนโลยีและการเงิน

ข้อมูลนี้มาจาก Deel บริษัทด้านการจ้างงานรายใหญ่ ที่มีเครือข่ายพนักงานกว่า 1 แสนคนใน 150 ประเทศทั่วโลก ระบุว่าช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีพนักงานราว 2% (จาก 1 เเสนคน) สนใจรับค่าตอบแทนอย่างน้อยบางส่วนเป็นสกุลเงินคริปโตฯ หลังเริ่มเสนอทางเลือกนี้เมื่อเดือน ก.. ปีที่ผ่านมา

โดยในกลุ่มของผู้ที่เลือกรับค่าตอบเเทนเป็นคริปโตฯ นั้นกว่า 2 ใน 3 เลือกที่จะรับเป็นเหรียญยอดนิยมอย่างบิตคอยน์’ (BTC)

นอกจากนี้ ยังพบว่าพนักงานที่เลือกรับเงินเดือนเป็นคริปโตฯ ส่วนใหญ่จะอยู่ในเเวดวงเทคโนโลยีและการเงิน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเข้าใจในเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลมากกว่าพนักงานในภาคธุรกิจอื่น

จากข้อมูลของ Deel เปิดเผยว่า พนักงานในอาร์เจนตินา สนใจรับค่าตอบแทนเป็นคริปโตฯ มากที่สุดถึง 1 ใน 3 เนื่องจากปัญหาอัตราเงินเฟ้อสูง รองลงมาคือพนักงานในไนจีเรีย ที่มีสัดส่วน 1 ใน 5 และพนักงานบราซิลมีสัดส่วนราว 3% ส่วนพนักงานในสหรัฐฯ ที่ Deel จัดจ้าง มีเพียง 1.2% เท่านั้น ที่เลือกรับค่าตอบเเทนเป็นคริปโตฯ

โดยในหลายประเทศ รวมทั้งสหรัฐฯ พนักงานจะไม่สามารถรับค่าตอบแทนเป็นสกุลเงินดิจิทัลได้โดยตรง’ ทาง  Deel จึงร่วมมือกับ Coinbase แพลตฟอร์มศูนย์กลางซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล มาให้บริการแปลงเงินคริปโตฯ ให้เป็นเงินสกุลท้องถิ่น

อย่างไรก็ตาม การรับค่าตอบเเทนหรือเงินเดือนเป็นสกุลเงินดิจิทัล ไม่ง่ายเเละยังไม่เเพร่หลายมากนักในปัจจุบันเนื่องจากยังไม่ได้เป็นสกุลเงินที่รับประกันโดยรัฐบาล เเละมีข้อจำกัดด้านกฎระเบียบต่างๆ อย่างการที่บริษัทต้องรายงานค่าจ้างพนักงานต่อรัฐ เพื่อจัดเก็บภาษีเป็นสกุลเงินท้องถิ่น

เเต่ด้วยความที่ราคาของคริปโตฯ มีความผันผวนสูงมาก อาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อพนักงานที่อาจจะถูกเรียกเก็บภาษีจากค่าตอบเเทน เมื่อเหรียญเหล่านั้นมีมูลค่าลดลงหรือเพิ่มขึ้นในอนาคตได้

ทั้งนี้ การประกอบธุรกิจและการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วมาก โดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในประเทศไทยก็มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นจาก 240 ล้านบาท เป็นกว่า 4,839 ล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินของลูกค้าเพิ่มขึ้นจาก 9,600 ล้านบาท เป็น 114,539 ล้านบาท และมีจำนวนบัญชีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นจาก 1.7 แสนราย เป็น 1.98 ล้านราย (ข้อมูลจากกรมสรรพากร 28 ม.ค.65)

 

ที่มา : Bloomberg