‘Hermes’ ยืนยันไม่ขึ้นราคา! แม้ต้นทุนสูงเพราะเงินเฟ้อ และผลประกอบการน้อยกว่าเป้า

‘แอร์เมส’ (Hermes) แบรนด์สินค้าหรูของฝรั่งเศส ยืนยันว่าแบรนด์ “ไม่มีกลยุทธ์ขึ้นราคา” สินค้าอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าผลประกอบการไตรมาสที่ 4 จะไม่เป็นไปตามเป้าเนื่องจากปัญหาซัพพลายเชน รวมไปถึงปัญหาเงินเฟ้อที่ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตก็ตาม

ผลประกอบการในไตรมาส 4 ของ Hermes ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยปิดที่ 2.38 พันล้านยูโร จากที่คาดว่าจะปิดที่ 2.53 พันล้านยูโร โดยยอดขายในหมวดเครื่องหนังและอานม้าลดลง -5.4% เนื่องจากข้อจำกัดด้านกำลังการผลิต อย่างไรก็ตาม ยอดขายปี 2564 เพิ่มขึ้น 42% โดยได้ดีมานด์จากตลาดสหรัฐฯ และจีน

ผลประกอบการทั้งปีแสดงให้เห็นว่าสินค้าของ Hermes ทั่วโลกขึ้นราคาเฉลี่ย 3.5% สูงกว่าอัตราปกติที่ 1.5% ซึ่งสะท้อนถึงต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นและความผันผวนของค่าเงิน แต่ก็ยังต่ำกว่าคู่แข่งอย่าง Louis Vuitton ซึ่งขึ้นราคาโดยเฉลี่ย 7% ทั่วโลก

Axel Dumas ซีอีโอของ Hermes ให้สัมภาษณ์ว่า ด้วยสินค้าของบริษัทนั้นเน้นผลิตด้วยมือ ดังนั้น บริษัทอาจเจอปัญหาด้านค่าจ้าง แต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ปัญหาด้านเงินเฟ้อ เช่น ต้นทุนด้านพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นสร้างแรงกดดันให้บริษัทมากกว่า แต่บริษัทไม่มีแผนที่จะขึ้นราคาสินค้า

“การขึ้นราคาโดยไม่จำเป็น ไม่ใช่กลยุทธ์ที่จะสร้างการเติบโต และเรามีอัตราเงินเฟ้อที่จำกัดมากเพราะเครื่องมือหลักของเราในการผลิตกระเป๋าคือ เย็บด้วยมือ ดังนั้น บริษัทเลยเผชิญกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อน้อยกว่าคู่แข่งบางราย” Axel Dumas กล่าว

อย่างไรก็ตาม หุ้น Hermes ร่วงลงมากถึง -7% ในการซื้อขายช่วงแรก โดยแย่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2559 และมูลค่าลดลงต่ำสุดในรอบกว่า 8 เดือน ซึ่งทาง Dumas ย้ำว่า “ไตรมาสที่แย่ 1 ไตรมาส ไม่ได้บ่งชี้ถึงภาวะถดถอยในวงกว้างใด ๆ”

แม้ไตรมาส 4 จะแย่แต่ภาพรวมทั้งปีถือว่าเติบโตอย่างมาก โดยมีตลาดสหรัฐอเมริกาและจีนเป็นตลาดหลัก ตามด้วยประเทศที่เหลือในเอเชีย และฝรั่งเศสที่เป็นตลาดที่สามารถทำรายได้เกินระดับก่อนเกิดการระบาดของ COVID-19

“เราเห็นความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมากในตลาดสหรัฐอเมริกา, จีน และเอเชีย โดยเฉพาะชนชั้นกลางกลุ่มมิลเลนเนียลที่กำลังเติบโตของจีน ซึ่งคิดเป็น 80% ของผู้ซื้อในจีน”

นอกจากนี้ ช่อทางออนไลน์ของบริษัทก็ยังสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแรง โดย 78% ของยอดขายออนไลน์มาจากลูกค้าใหม่

“หลังล็อกดาวน์ เมื่อร้านค้าเปิดใหม่ กระแสของอีคอมเมิร์ซก็ไม่เปลี่ยนแปลง”

Source