รวมกลยุทธ์รับมือความผันผวนสูงในตลาดหุ้น

หากใครติดตามตลาดหุ้นทั่วโลกตั้งแต่ปลายปี 2564 จนถึงต้นปี 2565 นี้ จะพบว่าตลาดหุ้นทั่วโลกส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงกัน เนื่องจากเป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านการดำเนินนโยบายการเงินการคลังของประเทศมหาอำนาจโลก นำโดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ 

สะท้อนผ่านตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อ และตัวเลขการว่างงาน ที่มีผลต่อการส่งสัญญาณจะปรับลดการอัดฉีดสภาพคล่อง (QE) รวมถึงการประเมินว่าอาจต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยกี่ครั้งในรอบปีของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ล้วนกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์ทุกประเภท โดยเฉพาะสินทรัพย์อย่าง ‘หุ้น’ จะได้รับผลกระทบจากความผันผวนที่สูงกว่า

ดังนั้น เวลาที่เกิดความผันผวนในตลาดหุ้น ลูกค้าจะตั้งคำถามกับผมอยู่ตลอดว่า ตลาดหุ้นมีความผันผวนหนักควรทำอย่างไรดี และโอกาสการลงทุนอยู่ตรงไหนกันแน่?

ผมก็มักตอบว่า โอกาสการลงทุนมีอยู่ทุกช่วงครับ เพียงแต่ไม่มีใครคาดการณ์ได้เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น สิ่งที่คุณควรทำคือ การลงทุนอย่างมีหลักการ เพราะผมเคยเห็นหุ้นบางตัวที่ปรับขึ้นสวนทางกับตลาดหรือราคาเป็นขาลง แต่เมื่อความผันผวนที่เกิดขึ้นนั้นผ่านไป ก็พบว่าราคาจะพลิกกลับขึ้นมา หรือฟื้นตัวเร็วกว่าหุ้นอื่นๆ เพราะเป็นหุ้นที่มีธุรกิจพื้นฐานที่ดี ฟันฝ่าวิกฤติได้ดีกว่า หุ้นลักษณะแบบนี้ถือลงทุนระยะยาวได้ ถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีคุณภาพดี

Photo : Shutterstock

เพราะจริงๆ ในโลกแห่งการลงทุน ไม่มีใครที่ลงทุนแล้วได้กำไรทุกปี ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนชื่อดังหลายๆ ท่านของโลก แม้แต่ปู่ Warren Buffett ก็บอกเองว่า ยังไม่เคยได้กำไรทุกปีเลย เพียงแต่ว่า ถ้ามีหลักการลงทุนที่ดีจริง ในปีที่ตลาดหุ้นขึ้นก็อาจจะได้กำไรเยอะกว่าปกติ และในปีที่ตลาดหุ้นลงก็อาจจะขาดทุนได้บ้าง สุดท้ายแล้วการลงทุนระยะยาวจะช่วยทำให้เห็นอัตราเฉลี่ยกำไรของพอร์ตได้ชัดเจนกว่า ซึ่งการเฟ้นหาหุ้นดีๆ มีการเติบโต จะทำพอร์ตให้เติบโตได้ 

แต่ถ้าเมื่อใดที่หลักการลงทุนไม่ถูกต้อง เลือกหุ้นไม่ดี หรือซื้อๆ ขายๆ โดยไม่มีหลักการ พอร์ตของคุณก็จะวูบวาบ อาจจะเห็นการเติบโตได้เพียงปีสองปีในช่วงที่หุ้นขึ้น เมื่อเกิดช่วงหุ้นตก พอร์ตก็จะเสียหายอย่างหนัก

อย่างที่เคยได้ยินว่า “ทุกๆ 10 ปีตลาดหุ้นจะมีขึ้น 6-7 ปี ลง 3-4 ปี” ซึ่งจริงๆ เป็นการวัดแบบหลายๆ ปี ถึงจะเห็นชัดเจนกว่า นักลงทุนเก่งๆ หลายคนบอกว่าการลงทุนเป็นเหมือนบททดสอบความอดทน บางปีอาจกำไร บางปีอาจจะขาดทุน ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะอยู่ได้นานแค่ไหน

ขยายภาพความผันผวนตลาดหุ้นไทย 43 ปี

วันนี้ ผมขอเอากราฟข้อมูลสถิติมาให้ดูเรื่องความผันผวนของตลาดหุ้นไทยตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี 2518-2560 หรือราว 43 ปี ถ้าดูในแต่ละปี ดัชนีจะแกว่งตัวมากเลย แต่ละปีมีกำไรไม่เท่ากัน มีทั้ง 100% หรือ 30% ก็มี บางปีกำไร 70% ส่วนบางปีขาดทุน 30 % หรือขาดทุน 50% ไปเลย หรือติดลบ 40%

ไม่มีใครตอบได้ว่า เราลงทุนแล้วจะเข้าไปอยู่ในปีไหน เพราะบางครั้ง ตลาดหุ้นก็มีความบ้าคลั่งระดับหนึ่ง และเชื่อไหมครับ บางทีเราคิดว่า ‘แพง’ แต่หุ้นก็ยังขึ้นไปได้อีกเยอะ หรือบางทีคิดว่า ‘ถูก’ แล้ว แต่ก็ยังตกลงไปได้อีก

Benjamin Graham ยังบอกเลยว่า ตลาดหุ้นอาจจะไม่ได้สนใจเรื่องของมูลค่านัก เพราะตลาดหุ้นเป็นที่ที่แสดงออกว่า คนจำนวนมากคิดอย่างไร  อย่างถ้าคนกลัวมาก อยากจะขาย ต่อให้ราคาหุ้นถูกยังไง เขาก็ขาย ราคาหุ้นก็ตกลงได้อีก เพราะฉะนั้น เราจะเห็นภาพความวุ่นวายในตลาดหุ้น

ผมขอยกตัวอย่างเพิ่มเติมของตลาดหุ้นไทยช่วง 43 ปีที่ผ่านมา จะเห็นภาพปีที่ตลาดหุ้นขึ้น ‘มีมากกว่า’ ปีที่ตลาดหุ้นลง โดยตลาดหุ้นมีกำไรประมาณ 27 ปี และขาดทุนราว 16 ปี

ปีที่ตลาดหุ้นทำกำไรมากกว่า 20% มีถึง 18 ปี คิดเป็นสัดส่วน 41.8% ของตลอดช่วง 43 ปีที่มีตลาดหุ้นไทย ส่วนปีที่ขาดทุนมากกว่า 20% มี 6 ปี หรือสัดส่วน 13.9% นับว่าปีที่กำไรมีมากกว่า ‘เท่าตัว’ เลย

สำหรับปีที่กำไรมากกว่า 50% มี 6 ปี สัดส่วน 13.9% และปีที่ขาดทุนมากกว่า 50% มี 1 ปี หรือสัดส่วน 2.3% เรียกว่ามีโอกาสขาดทุนมากกว่า 50% จะมีแค่ปีเดียวเท่านั้นในรอบ 40 ปี

เพราะฉะนั้น คนที่รู้สึกกลัวว่าเข้าตลาดหุ้นแล้วตลาดตกจะขาดทุนหนัก จริงๆ ต้องบอกว่า คุณอาจจะคิดถูก แต่ความผิดพลาดของการตัดสินใจแบบนี้ คือคุณก็อาจจะพลาดโอกาสทำกำไรมหาศาลในปีที่ตลาดหุ้นขึ้นเช่นเดียวกัน

ติดอาวุธรับมือกับช่วงผันผวนของตลาดหุ้น

สิ่งที่ผมอยากให้นักลงทุนพยายามทำความเข้าใจ คือ “เราอย่าโฟกัสแค่ใบไม้ เราต้องโฟกัสทั้งป่า” หมายความว่า เราอย่าดูแค่การลงทุนระยะสั้น 3-6 เดือน หรือ 1 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งดูราคาทุกวันหรือดูราคาในระยะสั้น เพราะการลงทุนจะหลอกเราได้มากทีเดียว

Photo : Shutterstock

สิ่งที่นักลงทุนควรทำเพื่อรับมือในช่วงที่ตลาดหุ้นผันผวน คือ

  1. การเพิ่มทุน หรือ DCA  (Dollar Cost Averaging) ทุกปี เพื่อเฉลี่ยต้นทุน ถือเป็นกลยุทธ์ที่ดี ถ้ามองผ่านไประยะ 5 ปี ราคาปรับตัวสูงขึ้น แม้ระหว่างทางจะมีความผันผวนและราคาไหลลงบ้าง แต่ผลจากการทำ DCA สุดท้ายก็จะสร้างผลตอบแทนที่ดีในอนาคตได้
  2. ถ้าคุณไม่มีเงินจะเพิ่มทุน ก็แนะนำว่า ‘อยู่เฉยๆ’ และรอดูสถานการณ์ก่อน ตั้งสติ อดทน เพื่อถือผ่านมันไปให้ได้ เพราะว่าตลาดหุ้นมีความผันผวนเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว ไม่มีใครคาดการณ์อะไรได้ล่วงหน้า คุณไม่ควรต้องกังวลกับผลกระทบที่เกิดขึ้นระยะสั้น ถ้าคุณมั่นใจว่าได้ลงทุนอย่างมีหลักการที่ดี สุดท้ายมันก็กลับมาที่เดิม แต่คุณเชื่อไหมครับว่า คนส่วนมากที่จะขาดทุนจากตลาดหุ้นลงหนักๆ ก็คือคนที่ไม่สามารถอดทนต่อการสวิงหรือความผันผวนของตลาดหุ้นได้นั่นเอง

การอิงข้อมูลสถิติข้างต้น สะท้อนการลงทุนตลาดหุ้นระยะยาว จะมี ‘แต้มต่อ’ ที่มากกว่าระยะสั้น เพราะว่าคุณมีโอกาสเจอปีที่กำไรมากกว่าปีที่ขาดทุน

อดทนช่วงพอร์ตติดลบหนักๆ คว้าโอกาสลงทุนระยะยาว ‘ได้มากกว่าเสีย’

ผมขอยกตัวอย่างแนวทางการลงทุนระยะยาวแบบ ‘จิตตะ เวลธ์’ ที่พิสูจน์มาแล้วว่าทำผลกำไรได้ในระยะยาว หากคุณมีวินัยการลงทุนที่ดี เพราะฉะนั้นแม้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ จะขาดทุนบ้าง แต่ในระยะยาว ผลตอบแทนควรจะต้องเติบโตขึ้นตามดัชนีตลาดหุ้น

ในปี 2564 ตลาดหุ้นทั่วโลกมีความผันผวนระดับหนึ่ง ก็ยังถือว่าเป็นขาขึ้น ผลตอบแทนของ ‘จิตตะ เวลธ์’ สามารถทำออกมาได้ค่อนข้างดี โดยเฉพาะกลุ่ม Jitta Ranking ทำผลตอบแทนโตขึ้น 2 เท่าของดัชนีทีเดียว

เมื่อคุณดูนโยบาย Jitta Ranking เช่น หุ้นไทย จะผลตอบแทนอยู่ที่ +17.40% ต่อปี ในช่วงปี 2555-2564 และผลตอบแทนรวม คือ +398.05% แต่ในรอบ 10 ปีนั้น หากคุณเลือกที่จะดูมูลค่าพอร์ตของตัวเองทุกวัน คุณจะเห็นตัวเลข โอกาสขาดทุนสูงสุด (Maximum Drawdown) ได้ถึง -49.55% มันก็คือช่วง Covid-19 ซึ่งทำให้คุณกังวลใจอยู่ไม่น้อย

ตัวเลข Maximum Drawdown มีความแตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา ถ้าคุณเห็นผลตอบแทนรวม Jitta Ranking ไทย แล้วเทียบกับโอกาสขาดทุนสูงสุดรายวัน คุณจะเห็นว่า ผลตอบแทนที่ได้มันคุ้มค่ากับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น มันคือ Risk Reward นั่นเอง หมายความว่า หากคุณอดทนในช่วงที่พอร์ตติดลบหนักๆ ได้ ผลตอบแทนที่น่าพึงพอใจกำลังรอคุณอยู่ในอนาคต

จากตัวเลขเหล่านี้ หากคุณดูมูลค่าพอร์ตรายวัน ยิ่งเป็นในช่วงตลาดหุ้นผันผวน คุณอาจจะรู้สึกกังวลใจ ทั้งๆ ที่ตัวเลข Maximum Drawdown จะลดลง เมื่อคำนวณในระยะเวลาที่นานขึ้น นั่นหมายความว่า หากคุณไม่ตกใจจนรีบขายสินทรัพย์ที่ดีออกจากพอร์ตในช่วงความไม่แน่นอนไปก่อน โอกาสขาดทุนจะน้อยลง

ยิ่งเมื่อเห็นผลตอบแทนระยะยาวที่ชดเชยการขาดทุนได้ คุณคงยอมเสี่ยงอย่างแน่นอน แต่ในโลกแห่งความจริง ไม่มีใครรู้ว่า หุ้นจะขึ้นจะลงวันไหน จะต้องเผชิญการขาดทุนแค่ไหน ดังนั้น การลงทุนที่อิงสถิติระยะยาวด้วยส่วนหนึ่ง เพราะผ่านการพิสูจน์มาแล้ว การ DCA ทุกปี หรือลงทุนระยะยาวไปเรื่อยๆ จะได้กำไรทบต้นขึ้นมาในระดับที่ดีกว่า กรณีแย่ๆ ก็อาจกำไร 6-8% แต่ถ้าบริหารจัดการพอร์ตดีๆ ได้กำไร 10-15% ต่อปี นี่คือสิ่งที่จะทำให้คุณอยู่ฝั่งผู้ชนะได้

สำหรับคนที่รู้สึกหวั่นไหวกับความผันผวนหรือมูลค่าพอร์ตที่ลดลง ผมแนะนำว่า ควร ‘ลดความถี่ในการดูพอร์ต’ แต่ถ้าคุณมีความเข้าใจถึงความผันผวนในตลาดหุ้นมากขึ้น จะทำให้คุณมีความสุขกับการลงทุนมากขึ้น

จะเห็นว่ากลเม็ดเคล็ดลับไม่ได้ยากอะไรนัก สำหรับการบริหารความผันผวนพอร์ตการลงทุน สิ่งสำคัญคือเราจะต้องมีเป้าหมายระยะยาวที่ชัดเจน และมีพอร์ตการลงทุนที่มีหลักการ และกระจายความเสี่ยงที่ดี แต่หากหน้างานแล้วเรายังไม่สามารถควบคุมอารมณ์ หวั่นไหวกับความผันผวนของตลาดหุ้นที่ประดังประเดเข้ามา คุณอาจจะต้องมองหาตัวช่วย ที่มาบริหารจัดการพอร์ตลงทุนแทนคุณ โดยยึดมั่นในหลักการ และจัดการกับอารมณ์ได้ดีกว่า แล้วคุณก็ไปใช้ชีวิตอย่างสบายใจ เปิดดูพอร์ตลงทุนเติบโตกันแบบยาวๆ