พลังของ Angry Birsd จุดประกายให้นักพัฒนาแอพพลิเคชั่น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจระดับยักษ์ใหญ่อย่างกลุ่มทรูคอร์ปอเรชั่น หรือบริษัทขนาดเอสเอ็มอี ต่างมั่นใจว่าแรงเหวี่ยงของเกมนกยั๊วะ จะทำให้ทั้งคนสร้างและคนใช้งาน ต่างติดใจแอพฯ อื่นตามมา แน่นอนจึงส่งต่อให้อุตสาหกรรมนี้ถูกเหนี่ยวพร้อมยิงทำแต้ม สร้างเม็ดเงินเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดนับจากนี้
การทำงานของนักพัฒนาแอพฯ ก็คงไม่ต่างจากอารมณ์ตอนเล่นเกม Angry Birds ที่อย่างน้อยก็ต้องรู้สึกว่าอยากเอาชนะตัวเอง ทำสถิติได้คะแนนสูงกว่าครั้งที่ผ่านมา ไม่เช่นนั้นในโลกของแอพพลิเคชั่น คงไม่มีหน้าใหม่เดินเข้ามาตลอดเวลา ขณะที่คนเดิมที่อยู่ก็มีความหวังสักครั้งว่าจะมีแอพฯ ที่ทำขึ้นกับมือถูกดาวน์โหลดสูงสุดของร้าน
“อติรุฒม์ โตทวีแสนสุข” กรรมการผู้จัดการสายงานคอนเวอร์เจนซ์ และกรรมการผู้จัดการกลุ่มลูกค้าธุรกิจ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ดูแล True App Center ที่กลุ่มทรูฯตั้งขึ้นเพื่อเดินเข้าสู่ธุรกิจพัฒนาแอพฯอย่างเต็มตัว บอกว่า Angry Birds เป็นแรงบันดาลใจให้คนอยากมาเป็นนักพัฒนาแอพฯ ได้ เพราะเป็นกรณีที่เห็นชัดว่าได้ทั้งรายได้ ชื่อเสียง หรือการได้ทั้งเงินและกล่อง
แน่นอนว่ากรณีนี้ไม่ได้หมายถึงแอพฯเกมเท่านั้น เพราะจินตนาการของการพัฒนาแอพฯไปได้หลายมุม และกว้างไกลเพื่อให้ทันกับไลฟ์สไตล์ของคนยุคนี้มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
“อติรุฒม์” บอกว่า ตั้งแต่ปี 2009 ทรูฯ มองว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงในวงการคอนเทนต์บนอุปกรณ์เคลื่อนที่ ตั้งแต่สมาร์ทโฟนไปจนถึงแท็บเล็ต จึงเริ่มตั้ง True App Center จากพนักงานไม่กี่คน ส่งไปอบรมที่แอปเปิล รองรับธุรกิจแรกคือการเป็นตัวแทนจำหน่ายไอโฟน ที่มีการพัฒนาแอพฯ ออกมารองรับ 14 ตัว ด้วยการคอนเวอร์เจนซ์กับคอนเทนต์ในกลุ่มที่มีอยู่ โดยเฉพาะคอนเทนต์จากเคเบิลทีวีทรูวิชั่นส์ ตั้งแต่ทรูเอเอฟ จนถึงฟุตบอลพรีเมียร์ลีก และแอพฯ ที่ให้ความสะดวกกับผู้ใช้งานอีกหลากหลาย จนในที่สุดแอพฯ ที่พัฒนาเอง กลายเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจใช้บริการของ “ทรูมูฟ” นอกเหนือจากเครือข่ายสัญญาณ Wi-Fi และ 3G
จากจุดแรกที่ช่วยสนับสนุนทรูมูฟ วันนี้ True App Center มองเห็นโอกาสเติบโตของธุรกิจนี้ และในไทยจะเกิด App Economy ในที่สุด
ปัจจัยส่งเสริมให้เกิด App Economy นั้นมาจาก 3 ส่วนหลักๆ คือ
1. มีอุปกรณ์รองรับมากขึ้น จากอดีตเคยใช้โปรแกรมบนคอมพิวเตอร์ ได้เปลี่ยนมาอยู่บนอุปกรณ์เคลื่อนที่โดยเฉพาะการเริ่มต้นของสมาร์ทโฟน อย่าง ไอโฟน แบล็คเบอร์รี่ แอนดรอยด์ และล่าสุดแท็บเล็ต ที่มีไอแพด 2 และอีกหลายๆ แบรนด์เข้าสู่ตลาด และอินเทอร์เน็ตทีวี
2. ผู้บริโภคสนใจการดาวน์โหลดแอพฯ มากขึ้น เพื่อให้อุปกรณ์ในมือใช้ประโยชน์และเพลิดเพลินยิ่งขึ้น และ
3. ธุรกิจต่างๆ ในไทยเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากแอพฯมากขึ้น ในที่สุดจะทำให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตเท่าตัวจากปี 2010 มีมูลค่า 130-140 ล้านบาท
ปัจจุบัน True App Center มีนักพัฒนาอยู่กว่า 200 คน และมีพันธมิตรที่เป็นนักพัฒนาแอพฯ อิสระที่มีอยู่จำนวนมากในประเทศไทยรายได้จาก True App Center 80% มาจากการรับพัฒนาให้กลุ่มธุรกิจ (Business Solution) เช่น การใช้งานภายในองค์กร การใช้แอพฯ เป็นช่องทางสื่อสารของแบรนด์ ส่วนแอพฯ สำหรับลูกค้าทั่วไปอย่างบันเทิงและเกมส่วนใหญ่เป็นแอพฯ ฟรี และถูกพัฒนาโดยนักพัฒนาอิสระมากกว่า
แอพฯ เกมเป็นแอพฯ ที่มีความท้าทายสูง เพราะโปรดักชั่นต้องใหญ่ และเทคนิคมากกว่าแอพฯ อื่นๆ แม้จะเป็นแอพฯ ประเภทที่คนดาวน์โหลดทั้งซื้อและฟรีสูงสุด แต่ก็เสี่ยงสูงว่าจะคุ้มหรือไม่ สำหรับแอพฯ เกมของไทยในเวลานี้ ทั้ง True App Center และบริษัทพัมนาแอพฯ รายเล็ก จึงต้องขอเวลาเพื่อเรียนรู้ เพราะในโลกของความเป็นจริงในอุตสาหกรรมนี้ การปล่อยแอพฯ สักตัวลงไปอย่างใน App Store ของแอปเปิล นั่นหมายถึงกำลังแข่งกันแอพฯ อีกกว่า 5 แสนตัว
เช่นเดียวกับนักพัฒนาแอพฯ ขนาดเอสเอ็มอีแต่งานล้นมืออย่าง “ธีระชาติ ก่อตระกูล” ผู้ร่วมก่อตั้ง (Co-Founder) บริษัท สยามสแควร์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ที่แม้จะเรียนรู้อย่างดีถึงเหตุผลที่ Angry Birds ถูกใจคนทั่วโลกและคนไทย แต่ก็ขอรอเวลาสำหรับแอพฯ เกมอีกสักพัก เพราะแอพฯ เกมไม่ง่ายสำหรับคนไทย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นสามารถนำมาเรียนรู้เพื่อพัฒนาแอพฯ ประเภทอื่นๆ ซึ่งที่ผ่านมามีหลายแบรนด์อยากทำแอพฯ เพื่อเชื่อมโยงกับกลุ่มเป้าหมายบ้างแล้ว แต่ยังไม่สำเร็จมากนัก จุดสตาร์ทของ App Economy ในบ้านเรา จึงยังเป็นเรื่องของแบรนด์ และองค์กรที่อยากทำแอพฯ เพื่อให้บริการลูกค้า เช่น แอพพลิเคชั่นการซื้อขายหุ้น การอ่านหนังสือ มากกว่า
เขาแชร์ข้อมูลในฐานะคนในวงการคอนเฟิร์มว่า Angry Birds มีส่วนผสมที่สวย ลงตัว คือ
1.Simplicity เป็นเกมที่คนเข้าถึงได้ง่าย คาแร็กเตอร์ในเรื่องจดจำง่าย ผูกเรื่องง่าย คือไม่ยากแต่ก็ต้องโดน
2.Interactive Sound Effect เด่น เล่นแล้วเหมือนได้ตอบโต้ เสมือนจริง ถ้าไม่เล่นก็มีเสียงร้องเตือนให้ยิง
3.Dynamic มีการอัพเดตเวอร์ชั่นใหม่ๆ ทั้งช่วงเทศกาล และการออกตามปกติ ก่อนที่จะหมดเวลาของ Product life Cycle หรือก่อนที่อายุของเกมจะหมดไปเพราะความเบื่อของผู้เล่น
ทั้งหมดตอบโจทย์ของคนในยุคนี้ที่คนรู้สึกเหนื่อยกับสิ่งต่างๆ ที่มีเยอะ ชีวิตยุ่งยากเมื่อพักผ่อนก็ขอแบบเรียบง่าย หรือหากคิดมากเกินไปอาจไม่สำเร็จก็ได้ นอกจากนี้พฤติกรรมคนไทยมีการเลียนแบบสูง เมื่ออยู่รวมกัน มีเพื่อนโหลด ก็จะโหลดตามกัน คนใช้แอปเปิลก็จะคุยและโชว์ ยิ่งทำให้การเติบโตของนกยั๊วะขยายไปได้ง่าย
การเลียนแบบในสิ่งที่สำเร็จไปแล้วไม่ใช่ผลดี แต่ Rovio ก็ทำให้ “ธีระชาติ” เกิดแรงบันดาลใจมากยิ่งขึ้น มุ่งมั่นแรงกว่าเดิมในเส้นทางธุรกิจของเขา ที่เขาบอกว่า “นกยั๊วะ” มีความเฮงผสมกับความสร้างสรรค์ และการตลาด ทำให้เจ้าของจากเดิมไม่ใช่บริษัทใหญ่ เป็นสตูดิโอเล็กๆ กลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ เพราะการคิดได้อย่างมีกลยุทธ์ที่มีจุดเด่นคือย่อยทุกอย่างให้ง่าย แบบ Simple and Less is more เพื่อให้เด็กและผู้ใหญ่เล่นกันได้ สำหรับตัวเองก็ฝันว่าทุกวันจะทำอะไรอย่างนี้ได้
มูลค่าตลาดโมบายล์เกมทั่วโลก ในปี 2553อยู่ที่ 8,200 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโต 100% ไม่เพียง Angry Birds ที่สร้างมูลค่าสูง ยังมีเกมอื่นๆ ที่เล่นกันมาก เช่น Cut the Robe, Fruit Ninja, Plants vs Zombies, Doodle Jump
จำนวนแอพพลิเคชั่นแพลตฟอร์มต่าง ๆ | |
จำนวนแอพฯ | |
ios app | 400,000 |
Android app | 300,000 |
Ovi | 35,000 |
BB App | 20,000 |
Windows Phonw 7 | 12,000 |
จำนวนดาวน์โหลดบนแพลตฟอร์มท็อปฮิต App Store | |
ปี 2552 | 1 ล้าน |
ปี 2553 | 1.7 ล้าน |
ปี 2554 | ไตรมาส 1 จำนวน 1 ล้าน คาดว่าสิ้นปีจะถึง 3 ล้าน |
ที่มา : True App Center |