ดีกรีโกรธ เพิ่มระดับ Co-brand

เจ้านกยั๊วะเวลานี้เริ่มออกมาอาละวาดทำเงินให้กับสินค้าหลากหลายรูปแบบแล้ว เพราะ Angry Birds ไม่ใช่แค่เกมอีกต่อไป แต่คือ “แบรนด์” ที่ขณะนี้สินค้าบริการต่างๆ อยากได้ไปเสริมแบรนด์ของตัวเอง นอกเหนือจากตัวมันเองสามารถสร้างรายได้จากสินค้าอื่นๆ ไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตา หมอนนกหน้าตาโกรธ พวงกุญแจ สายห้อยโทรศัพท์ ปลอกไอโฟน หรือแม้แต่ชิ้นเล็กๆ ประดับบนคัพเค้ก

ความชัวร์ของการทำเงินจากสินค้านั้นเกิน 100% เพราะจากสถิติคนใช้เวลารวมกันทั้งโลก 200 ล้านนาทีต่อวัน คือหลักประกันทำให้ Rovio ในฐานะผู้พัฒนาเกมนี้จนกลายเป็นแบรนด์ไม่ทิ้งโอกาสทองในการทำธุรกิจสินค้าต่อเนื่องตามมา

Merchandise มาก่อน
ในเว็บไซต์ของ Rovio ที่ลิงค์ไปยัง shop.angrybirds.com มีสินค้าที่มีนกยั๊วะและหมูหิวเป็นสัญลักษณ์ทั้งตุ๊กตา และปลอกไอโฟนจำหน่าย ราคามีให้เลือกตั้งแต่ 11.99-59.99 เหรียญสหรัฐ และยังมีเสื้อยืดที่ angrybirdstees.com ทั้งของผู้ชาย หญิง และเด็ก ราคา 18-22 เหรียญสหรัฐ

เช่นเดียวกับในเมืองไทยหลายเดือนมาแล้วที่ Angry Birds สร้างความคึกคักให้กับผู้ค้าในตลาดสำเพ็ง ที่หากต่างชาติมาช้อปก็ “อุ๊ย! Angry Birds” ทันที แล้วก็ซื้อไป คนไทยหลายคนก็กรี๊ด แต่หลายคนแม้จะยังไม่เคยเล่นเกม เห็นแล้วก็อดใจไม่ไหว เพราะคาแร็กเตอร์น่ารัก น่าชังจริงๆ แม้ยอดจะไม่สูงนักแต่ก็ดีกว่าไม่มีสินค้าใหม่ๆ ในเวลานี้

เช่นเดียวกับบรรดาเว็บไซต์ขายตุ๊กตา และกิฟต์ช็อป ต่างมีสินค้านี้นำเสนอ และขายดีที่สุดเมื่อเทียบกับสินค้าอื่นๆ ในเวลานี้

สินค้าที่ขายดีที่สุดคือสายห้อยโทรศัพท์ Angry Birds ทำยอดขายให้ร้านค้าในย่านสำเพ็ง เฉลี่ยร้านหนึ่งไม่ต่ำกว่า 100 ชิ้นต่อวัน ส่วนใหญ่ซื้อไปขายต่อทั้งเปิดท้ายและร้านรายย่อยตามตลาดนัด รวมไปถึงเว็บไซต์ รองลงมาเป็นกระเป๋าสตางค์ และตุ๊กตา ที่สามารถนำไปขายต่ออัพราคาได้เท่าตัว ทั้งหมดนำเข้ามาจากโรงงานในจีน

นี่คือการขายได้ขายคล่องและทำให้ Angry Birds บินออกจากจอในมือถือ กลายเป็นแบรนด์และคาแร็กเตอร์ที่ต่อยอดให้ธุรกิจสินค้าอื่นๆ ตามมา

เพิ่มระดับถึง Co-brand
ต้นปี 2554 แบรนด์ที่ใช้พลังของ Angry Birds มาสร้างชีวิตชีวาให้แบรนด์ก่อนใครคือ Lego ที่เปิดตัวคอลเลกชั่น Angry Birds ขึ้นมาโดยเฉพาะ ซึ่งไม่เพียงตัวนกเท่านั้นแต่หมู นกตัวเล็กตัวน้อยก็อยู่ในคอลเลกชั่นด้วย

และไม่กี่เดือนต่อมาหนัง Rio ก็ร่วมพลังกับ Angry Birds เปิดตัวเกมเวอร์ชั่น Rio และปลุกให้คนสนใจหนังเรื่องนี้ได้มากขึ้น

ส่วนกระแสในเมืองไทยการ Co-brand ยังไม่เกิด เพราะ Rovio เพิ่งเซ็นกับบริษัทแปซิฟิคไลเซ่นส์ สตูดิโอ จำกัด ประเทศ สิงคโปร์ ซึ่งมีสำนักงานในไทยที่ดูแลลิขสิทธิ์การ์ตูนดังจากวอร์เนอร์ บรอสอยู่แล้ว เพื่อบริหารลิขสิทธิ์เกี่ยวกับเจ้านกยั๊วะ ยกเว้น Angry Bids Plus คือตุ๊กตาและสิ่งละอันพันละน้อยสำหรับโทรศัพท์มือถือ

คำแถลงของแปซิฟิคไลเซ่นส์ สตูดิโอที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา โดย Neal Rudge บอกว่า แปซิฟิคจะร่วมกับ Rovio ในการดูแลลิขสิทธิ์ในส่วนของสินค้าเพื่อผู้บริโภค ด้วยความมั่นใจและความตื่นเต้นในการตกลงครั้งนี้ เพราะเห็นว่า Angry Birds เป็นปรากฏการณ์ทั่วโลก และจะเปลี่ยนวิธีการของผู้คนในบริโภคสื่อ

แน่นอนว่าในเมืองไทยคือกระแสหลักที่นกตัวนี้จะทำเงิน ซึ่งผู้แทนของแปซิฟิคไลเซ่นส์ สตูดิโอในไทย นอกจากกำลังไล่ตรวจลิขสิทธิ์แล้ว กำลังรองรับความต้องการจากลูกค้าในไทย ที่แปซิฟิคไลเซ่นส์สตูดิโอดูแลในส่วนของโปรโมชั่น พรีเมี่ยม และโปรดักส์ไลเซ่นส์ เช่น การนำคาแร็กเตอร์ไปอยู่บนสินค้าต่างๆ ซึ่ง ณ ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินมูลค่า แต่ที่แน่ๆ คือเม็ดเงินใหม่กำลังจะเกิดจากขึ้นอย่างแน่นอน