การมีสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับพนักงานจำนวนมาก แต่บางประเทศในเอเชียการทำงานยาว 6 วัน/สัปดาห์ยังคงเป็นเรื่องปกติ! ในขณะที่เทรนด์โลกเริ่มมีการทดลองทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ หลังจากเจอกับการระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้พนักงานทั่วโลกได้ Work From Home อย่างไรก็ตาม ลองไปดูกันว่าแต่ละประเทศในภูมิภาคเอชียคิดเห็นอย่างไรกับการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์กันบ้าง
เจมส์ รูท หุ้นส่วนและประธานร่วมของ Bain Futures นักคิดของบริษัทที่ปรึกษา Bain & Company กล่าวว่า ที่ในภูมิภาคเอเชียมีการทำงานถึง 6 วัน/สัปดาห์เป็นเพราะหลายคนมีค่านิยมว่า การทำงานหนักจะทำให้ประสบความสำเร็จ โดยมีหลายประเทศที่มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน เช่น เกาหลีใต้ จีน และญี่ปุ่น เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม พนักงานหลายคนเริ่มมองหา Work Life Balance ทำให้บริษัทต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงเอเชียกำลังมองหาวิธีที่ทำให้พนักงานมีสมดุลมากขึ้น อาทิ สามารถทำงานครึ่งวันทุกวันศุกร์, ทางเลือกในการทำงานจากที่บ้าน, การลาคลอด, ให้ทุนสนับสนุนสำหรับการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ แต่ปัจจุบันมีเทรนด์แรงที่คนใกำลังให้ความสนใจก็คือ การทำงาน 4 วัน/สัปดาห์
“เป้าหมายคือ การให้เวลาแก่พนักงานให้มีวันหยุดยาว แต่ยังคงประสิทธิภาพการทำงาน แน่นอนว่าค่าตอบแทนต้องไม่ลดตามจำนวนวันทำงาน ซึ่งจะทำให้ win-win สำหรับพนักงานและบริษัท”
เริ่มมีบางบริษัทปรับใช้
ญี่ปุ่น ขึ้นชื่อว่ามีวัฒนธรรมการทำงานที่ โหดเหี้ยม ด้วยชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน แถมคาดหวังให้พนักงานให้ความสำคัญกับ อาชีพของตนเหนือสิ่งอื่นใดในชีวิต จนเกิดเป็นคำศัพท์ใหม่ว่า Karoshi ที่แปลว่า ความตายจากการทำงานหนักเกินไป
แต่เพราะ COVID-19 ทำให้สภาพแวดล้อมการทำงานที่เข้มงวดสูงของประเทศกลับมาเป็นจุดสนใจอีกครั้ง หลังจากที่ธุรกิจญี่ปุ่นเปลี่ยนให้มีชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น และสามารถ Work From Home ได้ ซึ่งนั่นทำให้พวกเขาเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลต่อความสุขของพนักงานอย่างไร
ย้อนไปในปี 2019 Microsoft Japan ได้ทดสอบการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ แม้ว่าชั่วโมงทำงานโดยรวมจะลดลง แต่ค่าจ้างพนักงานยังคงเท่าเดิมโดยพบว่า ประสิทธิภาพของพนักงานเพิ่มขึ้นเกือบ 40% และช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา Panasonic ได้ทดลองให้พนักงานทดลองทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ เพื่อส่งเสริมสมดุลชีวิตการทำงานและชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับพนักงาน อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงนี้จะยังไม่เกิดขึ้น 100% จนกว่าจะถึงเดือนเมษายน 2566
“สวัสดิภาพของพนักงานของเรามีความสำคัญเป็นอันดับแรก และเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องสื่อสารและส่งเสริมความเข้าใจในจุดประสงค์นี้” Airi Minobe โฆษกของ Panasonic กล่าว
พนักงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สนใจปรับใช้
จากการสำรวจที่ตีพิมพ์ในเดือนกุมภาพันธ์โดยบริษัทวิจัย Milieu ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบว่า พนักงานจากสิงคโปร์ เวียดนาม ไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียต่างก็ กระตือรือร้นที่จะทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ โดยชาว สิงคโปร์ มากกว่า 76% แสดงความสนใจอย่างมากในงานที่มีวันหยุดสามวัน
พนักงานหลายคนในสิงคโปร์ไม่ต้องการชีวิตที่พวกเขาอาศัยอยู่เพื่อทำงาน แต่พวกเขาต้องการ “มีชีวิตและทำงานเพื่อรักษาชีวิตไว้” Jaya Dass กรรมการผู้จัดการ บริษัทจัดหางาน Randstad Singapore กล่าว ดังนั้น การมีความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงาน เงินเดือน และผลประโยชน์ถือเป็นแง่มุมที่มีค่าที่สุดของงานสำหรับพนักงาน
Dass กล่าวว่า พนักงานชาวสิงคโปร์ไม่พร้อมที่จะสละชีวิตส่วนตัวเพื่อประกอบอาชีพอีกต่อไป แต่เนื่องจากค่าครองชีพที่สูง หลายคนจึงไม่เห็นด้วยที่จะลดชั่วโมงการทำงานลง หากเงินเดือนจะลดลงตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่คนงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทุกคนที่มีความกระตือรือร้นในการทำงานสัปดาห์ที่สั้นลง อย่างใน มาเลเซีย มีเพียง 48% เท่านั้นที่สนใจแนวคิดนี้อย่างมาก และอีก 41% รู้สึกไม่สบายใจเกี่ยวกับแนวคิดนี้ จากการสำรวจของ Milieu
Dass ระบุว่า ไม่ใช่แค่มาเลเซีย แต่ เมียนมา และ กัมพูชา ก็ไม่ได้สนใจที่จะทำงานแค่ 4 วัน/สัปดาห์ เพราะความต้องการความสมดุลระหว่างชีวิตและงานในประเทศเหล่านี้มีน้อย เพราะในระบบเศรษฐกิจเหล่านี้ ชั่วโมงการทำงานที่นานขึ้นมักจะแปลเป็นเงินมากขึ้น
“ในประเทศกำลังพัฒนา พนักงานมักต้องการทำงานให้หนักที่สุดเท่าที่จะทำได้ และมีคติประจำใจคือ ถ้าฉันต้องตายจากการทำงาน ฉันจะทำ นั่นหมายความว่าฉันสามารถทำเงินได้ ฉันสามารถซื้อทรัพย์สินของฉัน ฉันสามารถทำให้ครอบครัวของฉันมีชีวิตที่ดีขึ้นได้”
เอเชียล้าหลังตะวันตก
อย่างไรก็ตาม หากเทียบภูมิภาคเอเชียกับฝั่งตะวันตกถือว่ายังตามหลังอยู่ เพราะ รัฐบาลไอซ์แลนด์และสเปน ได้ทดลองลดชั่วโมงการทำงานตั้งแต่ปี 2019 และ 2021 ตามลำดับ เบลเยียม เป็นประเทศล่าสุดที่ประกาศว่าเร็ว ๆ นี้คนงานจะได้รับสิทธิ์ทำงาน 4 วัน/สัปดาห์
โครงการของเบลเยียมซึ่งกำลังเริ่มทดลองกำหนดให้พนักงานต้องทำงาน 4 วัน ในจำนวนชั่วโมงที่เท่ากับการทำงานใน 5 วัน และคนงานยังได้รับอนุญาตให้ เพิกเฉยต่อการทำงานนอกเวลา โดยไม่ต้องเผชิญกับผลที่ตามมาจากเจ้านายของพวกเขา
สหราชอาณาจักร ในเดือนมกราคมประกาศเปิดตัวการทดลองใช้สัปดาห์ทำงาน 4 วันเป็นเวลา 6 เดือน โดยจะเริ่มในเดือนมิถุนายน ความคิดริเริ่มนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้พนักงานของบริษัทต่าง ๆ ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโปรแกรมสามารถทำงานได้ 32 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยที่เงินเดือนและผลประโยชน์ไม่เปลี่ยนแปลง