กว่าครึ่งของ Gen Z มองวิธีชำระเงินแบบ BNPL ในแง่ลบ วินัยการเงินลดลงจากการยืมเงินอนาคต

BNPL
การศึกษากระแส Buy Now Pay Later (BNPL) ในหมู่ผู้บริโภคอเมริกัน พบว่า 52% ของคน Gen Z มองวิธีชำระเงินแบบนี้ในแง่ลบ เพราะทำให้วินัยการเงินเสีย แต่ยังถือเป็นวัยที่เปิดรับมากที่สุดเทียบกับวัยอื่น ฟากเอเชีย กระแสการ “ซื้อก่อนผ่อนทีหลัง” ลุยตลาดได้ชัดเจนขึ้นเมื่อปี 2021 โดยมีคนรุ่นใหม่เป็นเป้าหมายหลัก และดูจะเปิดใจรับมากกว่า

ผลวิจัยจากบริษัท Student Beans บริษัทเทคด้านการตลาด ศึกษาการใช้วิธีชำระเงินแบบ Buy Now Pay Later (BNPL) ซึ่งกำลังเป็นกระแสฮิตในช่วงที่ผ่านมา พบว่าคน Gen Z ประมาณ 1 ใน 3 ชื่นชอบวิธีชำระเงินแบบนี้ แต่ก็มีมากกว่าครึ่งที่มองว่าเป็นวิธีชำระเงินที่ทำให้วินัยการเงินเสียไป

BNPL หมายถึงการจ่ายแบบ “ซื้อก่อนผ่อนทีหลัง” คล้ายกับการผ่อนผ่านบัตรเครดิต แต่ส่วนใหญ่แพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่ไม่ใช่ธนาคารและเข้ามาให้บริการ จะตัดวงรอบการผ่อนไม่เกิน 6 เดือน ดอกเบี้ย 0% และจับมือกับร้านค้าแบรนด์ระดับกลางๆ การชำระต่อบิลไม่สูงมาก ต่างจากการผ่อนกับบัตรเครดิตที่มักจะมีตัวเลือกให้ผ่อนเมื่อเป็นการซื้อของชิ้นใหญ่ราคาสูง แต่สิ่งที่เหมือนกันคือการมีค่าธรรมเนียมปรับหากชำระคืนไม่ตรงเวลา

แน่นอนว่าหลักการทางจิตวิทยาของบริการนี้จะคล้ายกับผ่อนผ่านบัตรเครดิตเช่นกัน เพราะทำให้การซื้อถูกแบ่งออกเป็นเงินก้อนเล็กๆ จากการซื้อน้ำหอมที่ต้องจ่ายครั้งเดียว 3,000 บาท กลายเป็นจ่ายเพียงเดือนละ 1,000 บาทติดต่อกัน 3 เดือน เป็นต้น

Contactless and cashless payment through qr code and mobile banking

การวิจัยครั้งนี้ศึกษาในวัยรุ่นอเมริกัน Gen Z ซึ่งพบว่า วัยรุ่น 34% มองว่า BNPL เป็นบริการที่ดีเยี่ยม แต่กลับกัน มีถึง 52% ที่ยังไม่แน่ใจ เพราะเห็นว่าเป็นการส่งเสริมให้วินัยการเงินเสียไป

“แม้ว่าบริการซื้อก่อนผ่อนทีหลังจะล่อตาล่อใจ คุณก็ต้องมั่นใจว่าคุณมีทุนพอที่จะจ่ายเงินคืนจากที่ยืมล่วงหน้ามา” Student Beans ให้คำแนะนำ “ควรจะวางแผนจ่ายล่วงหน้าด้วยการทำตารางงบประมาณการเงินส่วนตัว ใช้เครื่องมือคำนวณให้ชัดเจนว่าการเงินต่อเดือนของคุณเป็นอย่างไร และอะไรที่เหมาะสมกับงบที่ตนเองมี”

 

ยิ่งสูงวัยกว่า ยิ่งกังวลกับ BNPL

แม้ตัวเลข 52% ของ Gen Z ดูเหมือนว่ามาก แต่ก็ยังน้อยกว่ากลุ่มที่สูงวัยกว่า เช่น กลุ่มพ่อแม่ของ Gen Z (มักจะเป็นคนวัย Gen X) มีถึง 60% ที่มองว่าการซื้อก่อนผ่อนทีหลังเป็นความเสี่ยง และจะทำให้คนวัยหนุ่มสาวซื้อของมากกว่าที่ตัวเองจะจ่ายไหว ยิ่งขึ้นไปถึงระดับปู่ย่าตายาย (มักจะเป็นคนวัยเบบี้บูม) มีถึง 67% ที่มองว่าการผ่อนแบบนี้เป็นความเสี่ยงทางการเงิน

วัยรุ่น Gen Z อเมริกัน นิยมซื้อเสื้อผ้าเพื่อใส่ถ่ายคอนเทนต์ลง Instagram/TikTok

อย่างไรก็ตาม มีคนทุกวัยที่เข้ามาใช้บริการแต่นำไปซื้อสินค้าต่างกัน Gen Z นิยมใช้เพื่อซื้อเสื้อผ้า ขณะที่ Gen X และเบบี้บูมจะใช้ซื้อสินค้าไอทีซึ่งมีราคาสูง

“โดยเฉลี่ยแล้ววัยรุ่นอเมริกันจะใช้เงินเดือนละประมาณ 103.16 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3,400 บาท) ที่ดึงออกจากงบซื้ออาหาร มาซื้อเสื้อผ้าแทน จุดประสงค์เพื่อใส่ถ่ายรูปลง Instagram และ TikTok เท่านั้น” ผลการสำรวจระบุ

 

BNPL เริ่มบุกตลาดเอเชีย

สำหรับในเอเชีย เริ่มเห็นแอปฯ สำหรับชำระเงินแบบ BNPL บุกตลาดชัดเจนขึ้นเมื่อปี 2021 มีประเทศที่เป็นตลาดหลัก เช่น จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, สิงคโปร์, มาเลเซีย, ไทย, อินโดนีเซีย

โดยเฉพาะในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Buy Now Pay Later เห็นโอกาสการบุกตลาดสูงมาก เนื่องจากประชากรจำนวนมากเข้าไม่ถึงเครดิตธนาคาร ทำให้ไม่มีบัตรเครดิต ขณะที่แพลตฟอร์มเหล่านี้สมัครง่ายกว่าบัตรเครดิตธนาคารมาก

ปัจจุบันผู้เล่นหลักที่เห็นการบุกชัดเจน เช่น Razer, Grab, Shopee กลุ่มนี้เป็นการเพิ่มฟังก์ชันใหม่ภายในแอปฯ หลักของตนเอง และมีกลุ่มที่เป็นแอปฯ ซื้อก่อนผ่อนทีหลังโดยเฉพาะ เช่น Atome, Pine Labs, Pace, EmpatKali เป็นต้น

BNPLสิ่งที่เหมือนกับกับฝั่งตะวันตกคือผู้ใช้เป้าหมายส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่นที่ถนัดการใช้เทคโนโลยี ข้อมูลจาก Pace ซึ่งให้บริการในสิงคโปร์, มาเลเซีย และฮ่องกง ระบุว่า ผู้ใช้แอปฯ ของบริษัท 72% เป็นคน Gen Y และ Gen Z

Pace ยังบอกด้วยว่า ถ้าเจาะลึกเฉพาะคน Gen Z มีถึง 55% ที่เป็น “แฟนตัวยง” ของการชำระเงินด้วย BNPL โดยคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ไม่มีบัตรเครดิต และเชื่อว่าการใช้ BNPL คือการบริหารกระแสเงินสด รวมถึงมองบวกว่าบริการแบบนี้จะไม่ทำให้พวกเขาเป็นหนี้ เพราะเป็นการจ่ายเงินก้อนเล็กๆ เท่านั้น เห็นได้ว่าโอกาสฝั่งเอเชียดูจะมากกว่าฝั่งสหรัฐฯ เพราะมุมมองผู้ใช้เปิดกว้างกว่า

สอดคล้องกับข้อมูลจาก Atome ที่บุกตลาดไทยเมื่อเดือนกันยายนปีก่อน พบว่ามีคนไทยเพียง 7-8 ล้านคนที่ถือบัตรเครดิต และเป้าหมายหลักคือกลุ่มคนวัย 18-30 ปี เป็นคนทำงานอิสระจำนวนมาก ทำให้เข้าไม่ถึงบัตรเครดิตอยู่แล้ว จึงมีโอกาสสูงที่จะเจาะตลาด

ต้องติดตามต่อว่าการทำตลาดในเอเชียจะเติบโตได้มากแค่ไหนจากนี้ และจะมีผู้เล่นรายใหม่ๆ เข้าไทยอีกหรือไม่

Source: foxbusiness, 2c2p, CNAluxury