คุยกับ ‘Atome’ ถึงบริการ “ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง” เทรนด์แรงในไทยที่มีโอกาสโตถึง 16 เท่า

ในยุคนี้ถ้าจะต้องซื้อสินค้าที่มีราคาสูงสักชิ้นการ ‘ผ่อนจ่าย’ นับเป็นอะไรที่ช่วยได้มากเพราะเราไม่ต้องจ่ายเงินก้อน สามารถแบ่งจ่ายได้ตามกำลัง จนนำไปสู่เทรนด์ “ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง” หรือ “Buy Now Pay Later” (BNPL) ที่กำลังเติบโตมากในไทย

รู้จัก BNPL

สำหรับคนไทยที่มีบัตรเครดิตก็น่าจะชินกับการผ่อนจ่ายสินค้าผ่านบัตรฯ อยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่ก็จะต้องเป็นของที่มีราคาสูงสักนิดโดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น แต่ด้วยการมาของบริการ Buy Now Pay Later (BNPL) ที่ช่วยให้ผ่อนชำระสินค้าที่มีมูลค่าน้อยลงมา

โดยบริการ Buy Now Pay Later นี้ จะสามารถแบ่งผู้เล่นได้เป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่

  • Pure Pay หรือ แพลตฟอร์ม Buy Now Pay Later โดยเฉพาะ ปัจจุบันในไทยมีผู้ให้บริการประมาณ 2-3 ราย
  • Close ecosystem ฟีเจอร์ที่ถูกพัฒนาเพื่อใช้ในอีโคซิสเต็มส์ของตัวเอง เช่น SPayLater ของ Shopee
  • Bank หรือ บริการ BNPL จากธนาคารเอง

ปัจจุบัน ประเทศไทยถือเป็นผู้นำในด้านของดิจิทัล เพย์เมนต์โลก โดยในปี 2021 มีปริมาณการทําธุรกรรมการชําระเงินแบบเรียลไทม์ (Real-time payment transactions) ประมาณ 9.7 พันล้านครั้ง มากที่สุดเป็น อันดับ 3 ของโลกรองจากประเทศอินเดียและจีน และคาดว่าการใช้จ่ายทางดิจิทัลจะเติบโตขึ้นถึง 12% ภายในปี 2025 จากการส่งเสริมนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย

ขณะที่บริการ BNPL ถือเป็นหนึ่งในการชําระเงินที่เติบโตไวที่สุดของโลก โดยทั่วโลกมีการเติบโตเฉลี่ยกว่า 50% ต่อปี และสำหรับประเทศไทยคาดว่าจะเติบโตถึง 16 เท่า จาก 893 ล้าน เป็น 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่ปี 2021-2028

ลูกค้าผ่อนได้ ร้านก็ขายได้มากขึ้น

หนึ่งในผู้เล่น Pure Pay ในตลาดไทยที่เพิ่งทำตลาดได้ประมาณ 1 ปีก็คือ Atome (อะโทมี่) หนึ่งในธุรกิจของ Advance Intelligence Group หรือ AI Group สตาร์ทอัพด้านฟินเทคระดับยูนิคอร์นรายแรกของสิงคโปร์ ปัจจุบันให้บริการใน 8 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม ฮ่องกง จีน และไทย มีผู้ใช้รวม 30 ล้านคน มียอดการใช้จ่ายรวม 3 พันล้านเหรียญ โดย Atome ได้เข้ามาทำตลาดในไทยตั้งแต่ปลายปี 2021

“แม้บริการ BNPL จะมีมานาน แต่เราเพิ่งเข้ามาไทยเพราะเรามองว่าไทม์มิ่งสำคัญมาก ปีที่ผ่านมาทุกคนพยายามจะเพิ่มยอดขาย และช่องทางการชำระเงินเป็นสิ่งสำคัญที่จะกระตุ้นการจับจ่าย โดยเฉพาะการซื้อก่อนจ่ายทีหลังที่ช่วยแบ่งเบาภาระลูกค้า ช่วยให้เขาตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น” ภูมิพงษ์ ตันเจริญผล ผู้จัดการทั่วไป Atome ประจำประเทศไทย กล่าว

ภูมิพงษ์ ตันเจริญผล ผู้จัดการทั่วไป Atome ประจำประเทศไทย

หลังจากให้บริการได้ 1 ปีเต็ม Atome พบว่า บริการ BNPL เพิ่มมูลค่าการซื้อเฉลี่ยต่อครั้ง (increase basket size) ถึง 35% ปัจจุบันแพลตฟอร์มมียอดใช้จ่ายเฉลี่ยที่ 2,500 บาท/ครั้ง และการใช้บริการจะเน้นไปที่สินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยหมวดหมู่สินค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ได้แก่ สินค้าแฟชั่น,บิวตี้, ท่องเที่ยว, สินค้าไลฟ์สไตล์ และสินค้าตกแต่งบ้าน

“บริการ BNPL จะต่างจากการผ่อนของบัตรเครดิตที่เป็นสินค้าใหญ่ ๆ แต่จะเป็นสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เมื่อเขาสามารถแบ่งจ่ายได้ เขาก็สามารถจะซื้อสินค้าที่มีราคาสูงขึ้นได้ เพราะเขารู้ว่าเขามีกำลังจ่ายนะ แต่เป็นในอนาคต ดังนั้น บริการของเราจะเน้นตอบโจทย์สินค้าประจำวัน และการใช้จ่ายระยะสั้น”

วางเป้าผู้ใช้โต 3 เท่า พร้อมขยายพาร์ตเนอร์กลุ่มคลินิก

ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา Atome มียอดใช้จ่ายรวม 1,500 ล้านบาท มีผู้ใช้งานรวม 750,000 คน ปัจจุบันแอคทีฟประมาณ 400,000 คน โดยผู้ใช้ 78% เป็นผู้หญิง กลุ่มอายุ 26-35 ปี มีสัดส่วนใหญ่ที่สุด (45%) ตามด้วยกลุ่ม 36-55 ปี (31%) โดยในปี 2023 บริษัทตั้งเป้าเพิ่มลูกค้าให้ได้ 2-3 เท่า โดยจะเน้นไปที่กลุ่ม First Jobber ที่เริ่มทำงานมีรายได้ ที่ผ่านมา แพลตฟอร์มได้เปิดตัว Atome+ Point รอยัลตี้โปรแกรมสำหรับใช้แลกส่วนลดหรือสินค้าต่าง ๆ จากพาร์ทเนอร์ เพื่อกระตุ้นการใช้งาน

ส่วนพาร์ตเนอร์ร้านค้าคาดว่าจะเติบโตจาก 1,300 ราย เป็น 2,000 ราย โดยในช่วงไตรมาส 2 จะมีพาร์ตเนอร์ใหม่ เช่น King Power, AI-Futtaim Group, Major Cineplex และ Super Sports นอกจากนี้ แพลตฟอร์มจะเพิ่มพาร์ตเนอร์เพย์เมนต์เกตเวย์อีก 3-4 ราย เพื่อเพิ่มความสะดวกของการใช้บริการ

“ปีนี้จะเป็นปีที่เราเน้นเพิ่มผู้ใช้งาน ส่วนร้านค้าพันธมิตรจะเริ่มโฟกัสไปที่แบรนด์ย่อย ๆ มากขึ้น จากตอนแรกที่เน้นไปที่แบรนด์ใหญ่เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ โดยในปีนี้เราเห็นโอกาสในกลุ่มของคลินิกความงาม, คลินิกทันตกรรม และเฮลท์แคร์”

ทิ้งห่างคู่แข่ง 5 เท่า

ในส่วนของการแข่งขัน ภูมิพงษ์ กล่าวว่า ยังไม่ดุเดือด หากนับเฉพาะผู้เล่น Pure Pay แพลตฟอร์ม Atome ทิ้งห่างคู่แข่งถึง 5 เท่า เนื่องจากจุดเด่นของ Atome คือ ใช้งานได้แบบ Omnichannel สามารถจ่ายแบบ Offline หรือช้อป Online ผ่านแพลตฟอร์มได้เลย โดยลูกค้าสามารถผ่อนจ่ายได้ 3 เดือน โดยไม่มีดอกเบี้ย ซึ่งแพลตฟอร์มจะเป็นผู้ชำระค่าสินค้าให้ก่อน

อย่างไรก็ตาม หากไม่ชำระตามกำหนด บัญชีจะถูกล็อกจนกว่าจะจ่ายครบ พร้อมคิดดอกเบี้ยที่ 0.25% ทั้งนี้ ระบบในปัจจุบันจะตัดผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตเท่านั้น ยังไม่สามารถผูกกับบัญชีธนาคารได้

“คู่แข่งรายอื่นก็ไม่ได้รุกตลาดหนักมาก ในขณะที่ผู้ให้บริการอย่าง Shopee เราเชื่อว่าเขาคงจะไม่เอาฟีเจอร์ออกมานอกอีโคซิสเต็มส์ ส่วนบริการ BNPL ของแบงก์ก็คิดดอกเบี้ยในการการผ่อน แต่เราไม่คิด เพราะเราค่าธรรมเนียมจากร้านค้า ซึ่งเรามองว่าแบงก์คงไม่โฟกัสที่ BNPL เพราะเขาเป็นองค์กรใหญ่ มีบริการหลักให้โฟกัสมากกว่า

BNPL ไม่เกี่ยวกับหนี้ครัวเรือน

แน่นอนว่าบริการ BNPL ได้ถูกมองว่ามีส่วนทำให้เกิด หนี้เสีย หรือทำให้เกิดพฤติกรรมการ ใช้จ่ายเกินตัว แต่ ภูมิพงษ์ มองว่าไม่เกี่ยว เพราะสินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันมูลค่าไม่สูงมาก โดยลูกค้าส่วนใหญ่จะคำนวณแล้วว่ามีกำลังพอจ่ายได้ใน 3 เดือน ที่น่าเป็นห่วงคือ หนี้นอกระบบ มากกว่า

“เรามองว่าการผ่อนจ่ายสินค้ากับการกู้เงินมาซื้อของมันต่างกัน และแพลตฟอร์มเราก็แสดงให้เขาเห็นเลยว่าต้องผ่อนเท่าไหร่ ไหวไหมหากจะซื้อ ซึ่งเราก็มีความกังวลเรื่องหนี้เสียเหมือนกัน ดังนั้น แพลตฟอร์มเราก็จะมีระบบคอยดูธุรกรรมที่ผิดปกติ หรือห้ามซื้อสินค้าที่แปลเป็นเงินสดง่าย เช่น ทองคำ ซึ่งปัจจุบันอัตราหนี้เสียเราต่ำมากไม่ถึง 1%”

มุ่งสู่ไฟแนนเชียลซูเปอร์แอป!

ภูมิพงษ์ ทิ้งท้ายว่า บริการ BNPL เป็นแค่จุดเริ่มต้นของ Atome โดยบริษัทยังมีบริการทางการเงินอื่น ๆ ที่อาจจะทำตลาดในอนาคต อาทิ Atome Card หรือบริการบัตรเครดิตที่ให้บริการแล้วในฟิลิปปินส์ และ อินโดนีเซีย โดยเป้าหมายระยะยาวของ Atome ต้องการเป็น ไฟแนนเชียลซูเปอร์แอป ในไทย

“ไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่บริษัทแม่ให้ความสำคัญ เพราะโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อม ทั้งการใช้งานมือถือ อินเทอร์เน็ต การเติบโตของอีคอมเมิร์ซ และความพร้อมของรีเทล และในปี 2023 ถือเป็นปีที่กำลังเปลี่ยนผ่าน หลายองค์กรกำลังกลับมาฟื้นตัวเพราะผู้บริโภคกลับมาจับจ่าย แต่ตอนนี้ร้านไม่ใช่แค่ต้องการเพิ่มยอดขาย เขาต้องการหาลูกค้าที่เด็กลง เขาไม่ได้ต้องการแค่เครื่องมือจ่ายเงิน แต่ต้องการเครื่องมือที่พาลูกค้ามาหาเขา ดังนั้น เรามีโอกาสเติบโตไปพร้อมกับธุรกิจเหล่านี้