‘ช้าง’ ทุ่มพันล้านเร่งปูพรม “ช้าง โคลด์ บรูว์” จับกระแสคนรุ่นใหม่สายชิล พร้อมบุกตลาดแมสพรีเมียม!

หลังจากที่การระบาดของ COVID-19 หายไปตลาด ‘เบียร์’ 260,000 ล้านบาท ก็เริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง และผู้เล่นรายสำคัญของไทยอย่าง กลุ่มไทยเบฟเวอเรจ หรือ กลุ่มเบียร์ช้าง ที่เคลมตัวเองว่าเป็น Godfather ของงาน Music Festival ที่เห็นเทรนด์แรงอย่าง สายนั่งชิล ก็ขอดัน ช้าง โคลด์ บรูว์ มัดใจคนรุ่นใหม่สายนั่งชิลเพื่อไม่ให้ตกขบวน

นักดื่มสายชิลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ตลาดเบียร์ ที่มีมูลค่าตลาดกว่า 200,000 ล้านบาท หากนับเฉพาะตลาด แมสพรีเมียม จะมีมูลค่าประมาณ 25,000 ล้านบาท หรือราว 25% และอีก 2% เป็น พรีเมียม โดยในปีที่ผ่านมา ตลาดแมสพรีเมียมมีการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 10% โดยปัจจัยที่ดันให้ตลาดแมสพรีเมียมเติบโตก็คือ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปหลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย จากสายปาร์ตี้หนัก ๆ (Hight Energy) กลับ ดื่มแบบชิล ๆ มากขึ้น (Low Energy)

“ช้าง ในฐานะของ Godfather งาน Music Festival เราเห็นเทรนด์ของคอนเสิร์ตกลางแจ้งมากขึ้น เน้นแบบสบาย ๆ ผู้บริโภคเองก็เลือกจะกินดื่มกับเพื่อนสบาย ๆ มากกว่าไปปาร์ตี้ ทุกอย่างมันชี้ไปที่เทรนด์นั่งชิล ซึ่งเรามั่นใจว่ากระแสนี้จะเป็นกระแสระยะยาว” เลสเตอร์ ตัน ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดสายธุรกิจเบียร์ประเทศไทย บริษัท ช้างอินเตอร์​เนชั่นแนล จำกัด ในเครือไทยเบฟ กล่าว

ปูพรมช้างโคลด์ บรูว์

ย้อนไปปี 2562 บริษัทได้เปิดตัว ช้าง โคลด์ บรูว์ ที่เป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปีของผลิตภัณฑ์ช้าง โดยวางตัวไว้จับตลาดแมสพรีเมียม โดยที่ผ่านมาบริษัทก็มีการใช้กลยุทธ์การตลาดอย่าง บรรจุภัณฑ์ เพื่อสร้างความตื่นเต้นให้กับตลาดไม่ว่าจะเป็น กล่องยาวใส่เบียร์ได้ 25 กระป๋อง หรือ ถังเบียร์ 5 ลิตร จนเกิดเป็นกระแสไวรัล นำไปสู่การรับรู้และการลอง ขณะที่จากการสำรวจพบว่าลูกค้า 74% มีความต้องการที่จะกลับมาซื้อซ้ำ

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาบริษัทได้จำกัดช่องทางการจำหน่าย ช้าง โคลด์ บรูว์ โดยจะมีจำหน่ายเพียงแค่ในกรุงเทพฯ และแถบภาคเหนือ อีกทั้งยังมีช่องทางการจัดจำหน่ายเพียง On Trade และ Modern Trade เท่านั้น ดังนั้น ในปีนี้ บริษัทจะโฟกัสไปที่ การขยายช่องทางการจำหน่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ผ่านช่องทางทั้ง On Trade, Modern Trade และ Traditional Trade โดยใช้งบ 1,000 ล้านบาท

“กระแสดื่มแบบชิว ๆ เป็นกระแสแรงมาก ดังนั้น นี่เป็นจุดสำคัญที่จะผลักดันช้าง โคลด์ บรูว์ ซึ่งเราเชื่อว่าด้วยชื่อแบรนด์สินค้าที่แข็งแรง สินค้าที่มีนวัตกรรม ช่องทางจำหน่ายที่ทั่วถึง และกิจกรรมตลอดทั้งปี จะสร้างการเติบโตให้ได้ 2 เท่า เพิ่มสัดส่วนจากไม่ถึง 10% เป็น 15% ของพอร์ตเบียร์ช้าง”

ช้าง โคลด์ บรูว์ ไม่มีทางแทนที่ ช้าง คลาสสิก

แม้ว่ากระแสนั่งชิลในกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะ First Jobber จะมาแรง และด้วยราคาของช้าง โคลด์ บรูว์ ที่ต่างจากช้างคลาสสิคเพียง 5-10 บาทเท่านั้น แต่ เลสเตอร์ ตัน ก็มองว่าช้าง โคลด์ บรูว์ จะไม่มีทางไปแทนที่ ช้าง คลาสสิก ได้ เพราะจับกลุ่มคนละเซกเมนต์ชัดเจน โดยช้าง คลาสสิกจะเหมาะกับสายปาร์ตี้หนัก ๆ

อย่างไรก็ตาม การที่มีสินค้า 2 ตัวในมาสเตอร์แบรนด์เดียวกัน ก็มีโจทย์ใหญ่โดยเฉพาะเรื่อง ความสับสน โดยต้อง สร้างความแตกต่างอย่างชัดเจน ของสินค้าทั้งคู่ ซึ่งปัจจุบันตัวแพ็กเกจจิ้งของ ช้าง โคลด์ บรูว์ จะมีสีทองที่ฉลากและฝา เพื่อให้ลูกค้าแยกได้ชัดเจน

ตลาดเบียร์ปีนี้โตแน่

สำหรับตลาดเบียร์ไทยในปี 2566 ค่อนข้างมั่นใจว่าจะเติบโต เพราะตลาดเปิด มีนักท่องเที่ยว และจะเห็นว่าผู้บริโภคออกจากบ้านไปกินดื่มมากขึ้น ร้านค้าที่เคยปิดไปในช่วงโควิดก็กลับมาเปิดมากกว่าเดิม และช่วงสงกรานต์เชื่อว่าจะยิ่งเห็นการเติบโต

“เราเห็นว่าตลาดเบียร์เติบโตขึ้นทุกเดือน และเราเชื่อว่าสงกรานต์จะยิ่งสร้างการเติบโตให้ได้มากขึ้น”

ทั้งนี้ จากข้อมูลของ Euromonitor ระบุว่า ตลาดเบียร์ไทยในปัจจุบันมี บจก.บุญรอดบริวเวอรี่ เป็นเบอร์ 1 ของตลาด มีส่วนแบ่งตลาด 57.9% ตามด้วย บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ 34.3% และ บจก.ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ 4.7%

จะเห็นว่าหลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ตลาดเบียร์ก็คึกคักมาก อย่างช้างก็เร่งเครื่องเต็มสูบ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัว ช้าง อันพาสเจอไรซ์ เบียร์ในเซ็กเมนต์พรีเมียม จนล่าสุดก็คือหยิบช้าง โคลด์ บรูว์ปูพรมขายทั่วประเทศ แต่ที่น่าสนใจคือช่วง Q4/66 นี้ ที่ตลาดจะได้เจอกับ น้องใหม่จากค่ายคาราบาวแดง ซึ่งเลสเตอร์ ตัน ก็แง้มว่า ช้างเองก็มีแผน ออกบรรจุภัณฑ์ใหม่ ในช่วงนั้นพอดี เรียกได้ว่า เตรียมรับน้องเลยทีเดียว!