Cheers x Yuzu House คอลแลป “เบียร์” รสผลไม้-แอลกอฮอล์ต่ำ สร้างตัวเลือกใหม่ให้คนไม่ดื่มหนัก

“ภัททภาณี เอกะหิตานนท์” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ทีเอพี เทรดดิ้ง จำกัด
  • Cheers Selection (เชียร์ ซีเล็คชั่น) เบียร์สัญชาติไทยในมือ “ทีเอพี” คอลแลปกับ “Yuzu House” เปิดผลิตภัณฑ์ใหม่ “เบียร์มิกซ์” Cheers Selection Japanese Yuzu
  • สร้างตัวเลือกใหม่ในตลาดเบียร์ลาเกอร์ นำเสนอเบียร์แอลกอฮอล์ต่ำ 3% ตอบสนองเทรนด์คนรุ่นใหม่ไม่ชอบดื่มหนัก
  • เปิดขายเพียง 4 เดือนและขายในวงจำกัด เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ตามฤดูกาล (seasonal product) เน้นกระตุ้นความต้องการซื้อระยะสั้น วางเป้าผลิต 6-7 แสนกระป๋อง

“ภัททภาณี เอกะหิตานนท์” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ทีเอพี เทรดดิ้ง จำกัด เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัท “Cheers Selection Japanese Yuzu” เป็นผลิตภัณฑ์ตัวที่ 4 ในพอร์ตโฟลิโอ และเป็นสินค้าที่คอลแลปกับแบรนด์ไทย “Yuzu House by Honey Moni”  ผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากส้มยูซุของญี่ปุ่นเป็นรายแรกในไทย

สินค้าจะออกในแพ็กเกจจิ้งสลิมแคนขนาด 320 มิลลิลิตร ราคาประมาณ 44 บาทต่อกระป๋อง

Cheers เบียร์

ก่อนหน้านี้ Cheers Selection มีผลิตภัณฑ์ 3 รายการหลักในพอร์ต คือ วีตเบียร์ Cheers Selection Siam Weizen, เบียร์ดำ Cheers Selection Riceberry และ เบียร์มิกซ์เสาวรส Cheers Selection Siam Weizen Passion Fruit

ส่วนผลิตภัณฑ์ใหม่ Cheers Selection Japanese Yuzu เป็นการสานต่อตลาดกลุ่ม “เบียร์มิกซ์” ที่ทีเอพีเป็น “เจ้าแรก” ที่เปิดตลาด โดยเลือกรสส้มยูซุเพื่อสร้างความแปลกใหม่ และเป็นผลไม้ที่คนไทยคุ้นเคยจากเครื่องดื่มประเภทอื่นอยู่แล้ว

คนรุ่นใหม่ไม่ชอบ “ดื่มหนัก”

ภัททภาณีเปิดอินไซต์ผู้บริโภคยุคนี้ที่มีต่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่วัย 20-35 ปี มักจะต้องการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำ ไม่ขม ปริมาณดื่มไม่มาก เพราะคนรุ่นใหม่ไม่ได้นิยม “ดื่มหนัก” เหมือนคนรุ่นก่อน ชอบที่จะมีเครื่องดื่มเบา ๆ ไว้เข้าสังคม หรือเป็นเครื่องดื่มสร้างความสดชื่นในบางวันเท่านั้น

หากมองเฉพาะกลุ่ม “เบียร์” ในตลาดที่ส่วนใหญ่เป็นเบียร์ประเภท “ลาเกอร์” ที่มีความขมและแอลกอฮอล์สูง 5% ขึ้นไป ผู้บริโภคจึงเริ่มต้องการตัวเลือกใหม่ที่ตรงใจมากกว่า

สะท้อนได้จากผลิตภัณฑ์ของ Cheers Selection เอง สินค้าวีตเบียร์และเบียร์ดำที่เป็นสินค้าหลัก ทำยอดขายได้รายการละ 5 แสนกระป๋องต่อปี (*ไม่รวมเบียร์สดที่ขายผ่านช่องทาง On Premise) ขณะที่เบียร์มิกซ์เสาวรส ที่เป็นสินค้าน้องใหม่ ทำยอดขายได้ 1.4 ล้านกระป๋องภายในเวลา 1 ปีกว่า

จึงไม่แปลกที่ทีเอพีจะต่อยอดสินค้าในตระกูลเบียร์มิกซ์ต่อ แข่งขันกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทอื่น เช่น วิสกี้มิกซ์ โซจูมิกซ์ ที่มีการออกสินค้ารสชาติผลไม้-แอลกอฮอล์ต่ำมาจับตลาดลูกค้ากลุ่มนี้เช่นกัน

ออกสินค้า “ตามฤดูกาล” เน้นปั้นยอดระยะสั้น

เบียร์ Cheers Selection Japanese Yuzu จะออกจำหน่ายในระยะเวลาจำกัดเพียง 4 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 – เดือนกุมภาพันธ์ 2567

ช่องทางจำหน่ายยังขายในพื้นที่จำกัดด้วย โดยจะขายผ่าน “Yuzu House” 3 สาขา คือ ไอคอนสยาม, สุทธิสาร และ ดองกิ มอลล์ ทองหล่อ และวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ต “ดอง ดอง ดองกิ” ทุกสาขาทั้ง 8 สาขา (*รวมสาขาที่กำลังจะเปิดใหม่ที่ เดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ บางกะปิ)

Cheers เบียร์ภัททภาณีระบุว่าที่ขายในระยะเวลาจำกัด เพราะเป็นสินค้าตามฤดูกาล (seasonal product) ที่ต้องการสร้างความตื่นเต้น ให้ผู้บริโภครีบซื้อเพื่อลองชิม อาศัยความรู้สึกแปลกใหม่ในการขาย โดยใน 4 เดือนนี้ทีเอพีตั้งเป้าผลิตจำหน่ายไว้ 6-7 แสนกระป๋อง

“กลยุทธ์ seasonal product ของเรา เรามองว่าจะวางขายในกรอบ 3-6 เดือน ระยะเวลาต้องไม่ยาวไปเพราะต้องให้ความรู้สึกว่ามีจำกัด แต่ก็ต้องมีเวลาวางจำหน่ายพอสมควรเพื่อทำการตลาดให้ไปถึงลูกค้าก่อน” ภัททภาณีกล่าว “ส่วนใน 1 ปีเราจะออกกี่ตัวต้องรอติดตาม แต่ช่วงครึ่งปีแรกปี 2567 เราจะมีตัวใหม่อีกแน่นอน”

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นสินค้าตามฤดูกาล แต่ถ้ายอดขายดีมาก ก็อาจจะมีการผลิตจำหน่ายต่อได้เช่นกัน เหมือนกับเบียร์มิกซ์เสาวรสที่ขยายเวลาจำหน่ายมาเกิน 1 ปีแล้ว

สำหรับตลาดเบียร์ปี 2566 ภัททภาณีให้ข้อมูลว่า ช่วง 9 เดือนแรกมีการเติบโต 6.6% แต่คาดว่าไตรมาส 4 นี้การเติบโตจะไม่สูงมากเพราะไตรมาส 4 ปี 2565 เป็นปีที่กลุ่มเบียร์โตพุ่งไปแล้วจากการเปิดเมือง ทำให้ตลอดปี 2566 เชื่อว่าตลาดเบียร์จะโตประมาณ 5% จากปีก่อน