ภาวะ “โลกเดือด” สร้างโอกาสในวิกฤตให้กับผู้ผลิต “ไวน์” ในสวีเดน รัสเซีย และอังกฤษ

ไวน์
(Photo: Grape Things / Pexels.com)
2023 คือปีแห่งความท้าทายทางธรรมชาติ ภาวะ “โลกเดือด” ทำให้อากาศป่วน แต่ในวิกฤตยังมีโอกาสของกลุ่มผู้ผลิต “ไวน์” ในเขตหนาวอย่างสวีเดน รัสเซีย และอังกฤษ ซึ่งพบว่าฤดูเพาะปลูกในประเทศยาวขึ้นจากอากาศที่อุ่นผิดปกติ

ในปีแห่งภาวะโลกเดือด นักทำ “ไวน์” ในสวีเดนซึ่งปกติไม่ใช่แหล่งไวน์ที่มีชื่อเสียงแถวหน้าของโลก แต่ปีนี้จะเป็นปีที่พวกเขาคว้าโอกาส

“ผมเห็นการเติบโตของสิ่งต่างๆ ที่ไม่อาจฝันถึงได้เมื่อ 30-40 ปีก่อน” Göran Amnegård นักทำไวน์ที่เริ่มต้นธุรกิจในสวีเดนเมื่อ 20 ปีก่อน กล่าวกับสำนักข่าว AP

ขณะที่แหล่งผลิตไวน์แถวหน้าของโลก เช่น ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี ต่างได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ทำให้ขาดแคลนน้ำและอุณหภูมิในฤดูหนาวร้อนผิดปกติ แต่กลับกัน ในสวีเดนที่ปกติอากาศหนาวจัด ปีนี้อากาศจึงอุ่นขึ้นเหมาะแก่การผลิตไวน์คุณภาพดี

AP รายงานว่า อากาศที่อุ่นขึ้นในสวีเดนทำให้ฤดูเพาะปลูกยาวขึ้นอีกประมาณ 20 วัน ทำให้ปกติที่เพาะปลูกได้ 4 เดือนครึ่งถึง 5 เดือนต่อปี กลายเป็น 6 เดือนถึง 6 เดือนครึ่งต่อปี

จากปี 1961 มาจนถึงปี 2016 อากาศในสวีเดนมีอุณหภูมิสูงขึ้น 1 องศาเซลเซียส และคาดการณ์กันว่าภายในศตวรรษนี้ อากาศจะอุ่นขึ้นอีก 2-7 องศาเซลเซียส

ไม่ใช่แค่สวีเดนที่รับอานิสงส์จากภาวะโลกร้อน ตั้งแต่ปี 2016 ก็เคยมีรายงานแล้วว่า ทั้งรัสเซียและอังกฤษต่างมีแหล่งผลิตไวน์ที่คุณภาพดีขึ้นเพราะอากาศอุ่น

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมไวน์สวีเดนก็ยังโตช้า โดยในปี 2021 ไวน์สวีเดนมีการส่งออกมูลค่ารวม 26.3 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น แต่ในปีเดียวกันประเทศผู้ผลิตไวน์ดั้งเดิมอย่างฝรั่งเศสและอิตาลีสามารถส่งออกไวน์ด้วยมูลค่าสูงถึง 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 7,700 ล้านเหรียญสหรัฐตามลำดับ

ส่วนหนึ่งที่ยังมีการส่งออกน้อย เพราะอุตสาหกรรมไวน์สวีเดนเติบโตช้า ซัพพลายการผลิตมีการเติบโตเพียง 10% ต่อปี

อย่างไรก็ตาม ภาวะโลกร้อนอาจจะดีกับผู้ผลิต “ไวน์” แต่ไม่ได้ดีกับภาพรวมของประเทศแถบสแกนดิเนเวียเท่าไหร่นัก เมื่อต้นเดือนนี้เอง นอร์เวย์และสวีเดนประกาศแจ้งเตือนภัยพิบัติเพราะมีฝนตกหนักจนทำให้รถไฟตกราง มีผลกระทบต่อผู้โดยสารมากกว่า 100 คน และอุทกภัยยังมีผลต่อเส้นทางสัญจรบนถนนทั่วประเทศทั้งสอง

โลกร้อนไม่ได้ทำให้แหล่งผลิตไวน์เท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงไป ความร้อนยังทำให้น้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลาย และขั้วโลกเหนือนั้นอุดมไปด้วยน้ำมัน แร่ และปลา ทำให้หลายประเทศจับจ้องที่จะเข้าครองพื้นที่ โดยเฉพาะรัสเซียที่เริ่มเข้าไปยึดครองแล้วตั้งแต่ปี 2022

Source