The Buzz Movies

เมื่อความต้องการในกลุ่มลูกค้าประเภทหลักเริ่มอิ่มตัว ทั้งในตลาดก็ยังแข่งขันกันสูงการมองหาตลาดกลุ่มใหม่ซึ่งเป็น New Generation จึงอาจเป็นหนทางที่ช่วยให้รอดจากวิกฤตดังกล่าว ทั้งยังมีโอกาสช่วยในการเพิ่มยอดขายในอนาคตอันใกล้

The Unexpected เป็นนักศึกษาคณะพาณิชยศาสตร์เเละการบัญชี เอกการตลาด จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกกลุ่มที่สามารถฝ่าด่านเป็นผู้ชนะในการแข่งขันในเวทีนี้ แม้พวกเขาจะบ่นว่าประกวดครั้งนี้จะค่อนข้างสุดหินสำหรับพวกเขา เพราะงานนี้จะต้องทั้งการวางแผนการตลาดและยังต้องนำแผนที่เสนอนี้ไปปฏิบัติการจริงด้วย!

หลังจากการทำ Focus Group โดยสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมาย 50 คน เพื่อมาช่วยในการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคอย่างละเอียด และนำเครื่องมืออย่าง SWOT Analysis มาช่วยวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนของตัวสินค้า จนพบว่าภาพยนตร์เรื่อง Toy Story 3 มีอุปสรรคที่เกิดขึ้น นั่นคือการรับรู้ของผู้บริโภคนั้นมีความคลาดเคลื่อนกับความเป็นจริงของตัวโพรดักต์หรือสินค้า

เนื่องจากผู้บริโภคทั้ง 3 กลุ่มได้แก่ กลุ่มเฉยๆ กลุ่มที่ไม่คิดจะดู และกลุ่มที่ตั้งใจไปดูอยู่แล้ว ต่างมีความรู้สึกเดียวกันว่า Toy Story 3 เป็นภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นที่มีเนื้อเรื่องซ้ำเหมือนกับภาคเก่า คาดเดาได้ง่าย ไม่มีสาระ มีรูปแบบ ไม่น่าติดตามเหมือนภาพยนตร์แอนิชั่นโดยทั่วไปที่เหมาะสำหรับกลุ่มคนดูที่เป็นเด็กหรือครอบครัวมากกว่า

ขณะที่ในความเป็นจริงภาพยนตร์เรื่องนี้จะมีลักษณะที่ตรงกันข้าม ทั้งยังมีเนื้อเรื่องที่ตื่นเต้น ชวนลุ้น และเหนือความคาดหมายอยู่หลายจุด

ดังนั้น เพื่อเปลี่ยนแปลงการรับรู้ของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายให้รู้สึกว่า Toy Story 3 เป็นภาพยนตร์ที่ตื่นเต้น เหนือความคาดหมาย จึงนำมาสู่แนวคิดหลักของการทำแผนการตลาดแบบบูรณาการสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ ในแคมเปญที่ชื่อเดียวกับชื่อทีมว่า The Unexpected

จุดมุ่งหมายของ The Unexpected คือ ต้องการให้ภาพลักษณ์ของ Toy Story 3 คือความแปลก แหวกแนว ลุ้นระทึก และที่สำคัญ ไม่สามารถคาดเดาได้ แบบที่เรียกว่า The Unexpected

การดำเนินงานมีการวางแผนไว้ทั้งหมด 3 เฟสด้วยกัน ได้แก่ Expect The Unexpected คือช่วงแรกของการสร้างการรับรู้ เพื่อให้เกิดความสงสัย ก่อนที่จะนำไปสู่ระยะความสนใจ ในการสื่อสารเฟสต่อไป โดยมีการนำ Buzz Marketing เข้ามาใช้เพื่อสร้างกระแสและเรียกร้องความสนใจให้เกิดขึ้น การสื่อสารเฟสที่ 2 ได้แก่ The Unexpected Happening เป็นช่วงเวลาของการตอกย้ำการรับรู้และกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายเกิดความสนใจมากยิ่งขึ้น และ Loving The Unexpected ในการสื่อสารเฟสที่ 3 จะเกิดขึ้นเมื่อกลุ่มเป้าหมายมีความชมชอบความเป็น Unexpected ของ Toy Story 3 แล้ว จึงนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดนั่นคือการตัดสินใจไปชมภาพยนตร์เรื่องนี้

จากการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค ยังมีข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจอย่างมาก คือ เนื่องจากกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นมีบุคลิกและความสนใจที่หลากหลายและแตกต่างกันมาก และทางมหาวิทยาลัยได้มีการออกแบบแผนผังอาคารเรียนของคณะต่างๆ ที่มีศาสตร์การเรียนเดียวกันไว้ในบริเวณใกล้กัน อีกทั้งยังมีลักษณะเป็นสังคมปิด เนื่องจากนิสิตส่วนใหญ่มักจะมีพฤติกรรมใช้เวลาว่างอยู่ที่คณะหรือโซนของตัวเอง ทำให้การสื่อสารไม่สามารถใช้เมสเสจหรือแรงจูงใจด้วยวิธีการเดียวกันได้

งานนี้ The Unexpected จึงต้องใช้วิธีการสื่อสาร โดยได้แบ่งกลุ่มของกลุ่มเป้าหมายออกเป็น 3 กลุ่มตามศาสตร์ที่เรียน โดยถ้าเป็นนักศึกษากลุ่มสังคมศาสตร์จะสื่อสารด้วยเรื่องอารมณ์ ความรู้สึกหรือกระแส ด้านกลุ่มวิทยาศาสตร์ จะต้องใช้ความเป็นเหตุเป็นผลและตัวเลขที่ชี้วัดได้มานำเสนอ ส่วนกลุ่มศิลปศาสตร์ต้องสื่อสารไปในเรื่องภาพกราฟิก และเทคนิคต่างๆ ในการถ่ายทำ

ทางทีมมีเวลาในการทำแผนการตลาดนี้ ทั้งหมดประมาณ 2 เดือน ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนหน้าที่ภาพยนตร์ Toy Story 3 จะเข้าฉาย นอกจากการแบ่ง Behavioral Segmentation ออกเป็นกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเฉยๆ กลุ่มที่ไม่คิดจะดู และกลุ่มที่ตั้งใจไปดูอยู่แล้ว The Unexpected ยังได้เลือกใช้เครื่องมือการตลาดต่างๆ เข้ามาทำงานร่วมกันแบบมีบูรณาการ

ส่วนการทำ Guerilla Marketing นำตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ที่มีการแต่งตามธีมของงานไปตั้งวางไว้ในบริเวณชุมชนของมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างความแปลกใจให้กับคนที่ผ่านไปมา และการจัด Mysterious Road Show คาราวานรถสกรีนข้อความ Expect the Unexpected ทั่วมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิด Talk of the town ในมหาวิทยาลัย (Viral Marketing) โดยตู้ดังกล่าวจะถูกเฉลยในการดำเนินงานในเฟสที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงของการจัดอีเวนต์ ซึ่งถือเป็นไฮไลต์ของกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัย นัยหนึ่งเพื่อเป็นการ Launch แคมเปญ The Unexpected

หลังจากจบอีเวนต์ The Unexpected ยังคงมีการดำเนินแผนต่อในเฟสที่ 3 ด้วยการนำ Social Media อย่าง Facebook มาเป็นเครื่องมือในการย้ำเตือนและกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกชอบมากขึ้น ก่อนจะนำไปสู่การตัดสินใจไปชม ทีมพยายามนำแอพพลิเคชั่นที่มีใน Facebook มาสร้างกิมมิกเพื่อสร้างความรู้สึกมีส่วนร่วม ขณะเดียวกันก็มีการใช้ตัวละครใน Toy Story 3 มาสร้างความสนใจพร้อมด้วย Key Message ที่แตกต่างตามศาสตร์ทั้ง 3 ที่มีความสนใจแตกต่างกัน

การดำเนินงานสิ้นสุดที่การสร้างกลยุทธ์กระตุ้นการซื้อ ณ จุดขาย คือ โรงภาพยนตร์ด้วยการจัดกิจกรรมกระตุ้นในแนว Guerilla Marketing และการจัดโปรโมชั่นการลดราคาตั๋วมาช่วยเพื่อให้นิสิตที่ยังลังเลหรือยังไม่แน่ใจว่าจะไปดูดีหรือไม่เกิดการตัดสินใจไปดูได้ง่ายขึ้น

เคล็ดลับความสำเร็จ
– เลือกโลเกชั่นที่เหมาะสมกับกิจกรรม
– พรีเซนต์อย่างมั่นใจและเป็นตัวของตัวเอง
– การมีเครือข่ายและพันธมิตรที่ดีที่ให้ความช่วยเหลือในกิจกรรม
– Consumer Insight เป็นข้อมูลสำคัญในการวางแผน

10 สมาชิกทีม The Unexpected
ปรียาภรณ์ เจริญลาภ คณะพาณิชยศาสตร์เเละการบัญชี เอกการตลาด
จริยา นาทพัฒนพงศ์ คณะพาณิชยศาสตร์เเละการบัญชี เอกการตลาด
ธัญญริญญ์ นวพรธุวพัฒน์ คณะพาณิชยศาสตร์เเละการบัญชี เอกการตลาด
ดาราวรรณ เทพสถิตย์ศิลป์ คณะพาณิชยศาสตร์เเละการบัญชี เอกการตลาด
ณิชา โลจนะโกสินทร์ คณะพาณิชยศาสตร์เเละการบัญชี เอกการตลาด
ศุภชัย วัฒนวิเทศกุล คณะพาณิชยศาสตร์เเละการบัญชี เอกการเงิน
ปราโมทย์ ปิติอนุสรณ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์
มานิตา นาคสุริยันต์ คณะศิลปกรรมศาสตร์
มณฑิชา ศรียศชาติ คณะศิลปกรรมศาสตร์
นัทธมน ชัยอนุรักษ์ คณะนิเทศศาสตร์