CRG ลุยปั้นร้านอาหาร Virtual Brand ขายเฉพาะเดลิเวอรี่ ไม่มีหน้าร้าน

เทรนด์ของ Virtual เริ่มไปในทุกอุตสาหกรรมแล้วจริงๆ ไม่ว่าจะค้าปลีก แฟชั่น เทคโนโลยี ล่าสุดกับธุรกิจร้านอาหาร เมื่อ CRG เริ่มบุกทำ Virtual Brand ร้านอาหารแบบไม่มีหน้าร้าน เน้นขายแต่เดลิเวอรี่ ได้รับปัจจัยหนุนจาก ช่วง COVID-19 ลดความเสี่ยงในการลงทุนหน้าร้าน

ไม่ต้องมีหน้าร้าน ขายแต่เดลิเวอรี่

ธุรกิจร้านอาหารได้รับปลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์ช่วง COVID-19 ทำให้หลายแห่งต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรับกับความไม่แน่นอน ความเสี่ยงทั้งหลาย บางรายต้องกลับมาเน้นเดลิเวอรี่มากขึ้น เปิดโมเดลใหม่ เพื่อลดการพึ่งพิงศูนย์การค้า สามารถเปิดทำการได้แม้เจอล็อกดาวน์

อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่น่าสนใจก็คือ การทำ Virtual Brand หรือการปั้นร้านอาหารแบรนด์ใหม่ โดยที่ไม่ต้องมีหน้าร้าน ไม่มีสาขา เน้นขายแต่เดลิเวอรี่อย่างเดียว ไม่มีการขายลูกค้าที่นั่งทานในร้าน แต่ก่อนการจะเปิดแบรนด์ใหม่สักแบรนด์ ต้องหาทั้งทำเลทอง พื้นที่ที่เหมาะสม งบลงทุน พร้อมกับการตลาดในการโปรโมต

โจว ข้าวต้มแห้ง

ในปัจจุบันเน้นสื่อสารแค่ช่องทางออนไลน์ จัดโปรโมชันร่วมกับฟู้ด เดลิเวอรี่ต่างๆ สามารถลดงบลงทุนไปได้เยอะ อีกทั้งลดความเสี่ยงในการลงทุนทำร้านใหม่อีกด้วย

CRG ได้ปั้น Virtual Brand ทั้งหมด 4 แบรนด์ ได้แก่ บุกชน ข้าวมันไก่, โจว ข้าวต้มแห้ง, คลั่งกะเพรา และคาโคมิ เป็นแบรนด์ลูกของโอโตยะ โดยมีทั้งโมเดลที่พัฒนาร่วมกับ Grab และ พัฒนาขึ้นมาเอง

คลั่งกะเพรา

ฉัตรชัย อุณหโภคา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายกลยุทธองค์กร บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) เล่าว่า

“การทำ Virtual Brand คอนเซ็ปต์คือ ไม่มีหน้าร้าน ขายเฉพาะเดลิเวอรี่โดยเฉพาะ เรามีแนวคิดเกิดจาก CRG มีจุดขาย มีครัวกว่าพันจุด มีคลาวด์ คิทเช่น หรือครัวกลางอีก 11 แห่ง มีระบบอินฟราสตรักเจอร์ภายในร้านรองรับ จึงพัฒนาร้านที่สามารถใช้ครัวของในเครือได้”

ก่อนหน้านี้ CRG ได้พัฒนาร้านอาหารโมเดลใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นครัวกลาง การผนึกกำลังกันของแบรนด์ในเครือ การปรับไซส์เล็กลงเพื่อเข้าไปกับพื้นที่ใหม่ๆ ปั๊มน้ำมัน

รวมไปถึงโมเดลร้านแบบใหม่ Shop in Shop การรวมแบรนด์ในเครือมาอยู่ในร้านเดียว โดยเฉพาะแบรนด์ “มิสเตอร์ โดนัท” ที่มีการปรับตัวหลายด้าน เช่น ผนึกเครื่องดื่มอาริกาโตะ การเปิดร้าน Stand Alone ขยายสาขาเจาะสถานีบริการน้ำมัน รวมไปถึงร้านรูปแบบใหม่ ได้แก่ คอนเทนเนอร์ สโตร์ (Container store)

ปัจจุบัน CRG มีร้านอาหารในเครือรวมทั้งหมด 17 แบรนด์ ได้แก่ มิสเตอร์ โดนัท, เคเอฟซี, อานตี้ แอนส์, เปปเปอร์ ลันช์, ชาบูตง ราเมน, โคล สโตน ครีมเมอรี่, ไทยเทอเรส, โยชิโนยะ, โอโตยะ, เทนยะ, คัตสึยะ, อร่อยดี, เกาลูน, สลัดแฟคทอรี่, บราวน์ , อาริกาโตะ และส้มตำนัว  มีสาขาให้บริการจำนวน 1,380 สาขา ทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ ธ.ค. 2564)

ในปี 2565 มีการลงทุนขยายสาขาอีกมากกว่า 200 สาขา หรือจุดขาย โดยโฟกัสทำเลในห้างค้าปลีก ศูนย์การค้า และทำเลนอกห้าง ร้าน Stand Alone ในปั๊มน้ำมัน คาดการณ์รายได้ปี 2565 ไว้กว่า 12,100 ล้านบาท เติบโตเกือบ 30% จากปี 2564 มีรายได้ 9,370 ล้านบาท