กรี๊ดคนนี้ "Take Me Out" สปอตไลต์ของคน "โสด"

หมดเวลาเหนียมแล้วยุคนี้ ถ้าชอบก็เปิดไฟ ถ้าไม่ชอบก็ปิดไฟไปเลย นี่คือการโชว์เลือก “ชายในฝัน” ของสาวๆ ในยุคไม่ใช่แค่สวยเลือกได้ แต่อย่าหยุดสวย และเป็นโสดกันจำนวนมาก จนทำให้รายการ Take Me Out ได้เวลามาออนแอร์ในไทยที่ช่อง 3

กระแส Branded Content และความฮิตของรายการที่ซื้อลิขสิทธิ์จากต่างประเทศมาผลิตและออกอากาศ (International Format TV) ยังแรงต่อเนื่อง ต่อจาก Thailand’s Got Talent ซึ่งโอกาสของ Take Me Out Thailand มาจากองค์ประกอบครบถ้วนตั้งแต่การเข้าถึงตัวตนผู้ชมไปจนถึงตัวผลิตภัณฑ์ และเวลาที่เหมาะสม ผลก็คือพลิกเวลาเหงาช่วงบ่ายสอง วันเสาร์ของช่อง 3 ให้ทำเงินมากขึ้น เพราะสปอนเซอร์เข้าเต็มที่นับตั้งแต่ออนแอร์วันที่ 2 กรกฎาคม 2554

ตัวตนผู้บริโภคคือการเล่นกับ “ความโสด” ที่ปัจจุบันส่วนใหญ่แต่งงานช้าและอยู่คนเดียว สัมผัสถึงใจของกลุ่มเป้าหมาย เพราะคือเรื่องจริงที่เกิดขึ้น ทำให้ “พิรัฐ เย็นสุดใจ” กรรมการผู้จัดการ บริษัทครีเอทิส มีเดีย จำกัด กับทายาทรุ่นที่ 2 ในเครือทีวีธันเดอร์ ผู้ผลิตรายการทีวีมานานกว่า 20 ปี มองเห็นโอกาสและเดินหน้าครั้งแรกกับ International Format TV ด้วย Take Me Out Thailand และก่อนที่เคาะลงทุน 50-60 ล้านบาทได้วิจัยผู้บริโภคเพื่อถามว่าหากมีรายการนี้จะดูหรือไม่ ปรากฏ 89% ตอบว่าดู

สำหรับตัวผลิตภัณฑ์การันตีความสนุกโดยบริษัทฟรีแมนเทิล มีเดีย อังกฤษ เจ้าของลิขสิทธิ์เดียวกับรายการ Thailand’s Got Talent ที่เน้นเลือกผู้ร่วมโชว์ที่มีเสน่ห์และกล้าแสดงออก เพื่อความสนุก และเมื่อคุยกันเรื่องทัศนคติการเลือกคู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่หนุ่มสาวสนใจ จึงตรงกับเรื่องจริงในชีวิตของแต่ละคน

การมาในเวลาที่เหมาะสมคือปัจจัยสำคัญ คือผู้ชมคุ้นเคยกับรายการต่างประเทศมาแล้วจากการรับชมผ่านทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี จึงพร้อมมาบนฟรีทีวี ซึ่งบิ๊กบอสของช่อง 3 “ประวิทย์ มาลีนนท์” ก็เห็นกระแสนี้ และออกโรงเคลียร์ผังให้ Take Me Out Thailand ออนแอร์นานถึง 6 เดือน

ทั้งหมดนี้ทำให้ดึงสปอนเซอร์ได้แล้ว 4 รายคือ ฟอร์ด ธนาคารทหารไทย อะมิโน พลัส และน้ำดื่มช้าง ที่ทำให้ครีเอทิส มีเดียบอกว่า แค่นี้ก็คุ้มทุนแล้ว โดยมีกรุ๊ปเอ็ม อีเอสพี เจ้าเดียวกับ Thailand’s Got Talent ประสานการดีล

“อดิศัย สิริสิงห” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัทฟอร์ด เซลส์ แอนด์ เซอริวิส (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า รายการนี้ฟอร์ดเน้นสร้างแบรนด์ “เฟียสต้า” เพราะต้องการเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ นอกจากทีวีซีแล้วยังสามารถ Product Placement ในรายการ ซึ่งหวังผลสร้าง Brand Engagement เพราะสามารถเข้าถึงไลฟ์สไตล์กลุ่มเป้าหมายมากกว่า

ผลตอบรับจากสปอนเซอร์ ทำให้ครีเอทิสต์มีเดียไม่ลังเลลงทุนต่อโดยภายในปีนี้จะซื้อลิขสิทธิ์มาออนแอร์อีกอย่างน้อย 1 รายการ เพื่อทำรายได้ให้ทีวีธันเดอร์รวม 2 รายการไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท จากเป้าหมายรายได้รวมปีนี้ 450 ล้านบาท

เรียกได้หากจับเทรนด์ได้ถูก รู้ใจกลุ่มเป้าหมาย งานนี้ผู้ชมก็พร้อมจะเปิดไฟเลือกได้ไม่ยาก

    Key Success : Take Me Out

  1. ความเป็นโสด การทัศนคติในการเลือกคู่ เป็นเรื่องจริงที่พูดคุยกันอยู่แล้วในสังคม
  2. เป็นรายการเพิ่งเกิดใหม่ไม่นาน (เริ่มมกราคม 2553 ในอังกฤษ) จึงสดใหม่
  3. การคัดเลือกผู้ร่วมรายการทั้งชายและหญิงที่เน้น มีเสน่ห์ อารมณ์ดี กล้าแสดงออก ทำให้ดูสนุก

ที่มา : บริษัทฟรีแมนเทิลมีเดีย จำกัด

Key Success : Take Me Out
ชื่อรายการ “เทค มี เอาท์ ไทยแลนด์ : ถูกชะตา ท้าหัวใจ”
ออนแอร์ : เสาร์ 14.00-14.45 น.ระยะเวลา 6 เดือน
รูปแบบ : ผู้หญิง 30 คนเลือกผู้ชายที่มาเป็นแขกรับเชิญ ด้วยสัญลักษณ์เปิดไฟถ้าชอบหรือดับไฟถ้าไม่ชอบ
กลุ่มเป้าหมาย : หนุ่มสาวโสด 20-40 ปี
ช่องทางสื่อสารของสปอนเซอร์ : ทีวีซี Tie-in

Infographic
15,000,000 คน คือจำนวนคนโสดในไทย และจะเพิ่มขึ้นอีกปีละ 10%
ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปี 2553