“เดี๋ยวป๊าซื้อโน้ตบุ๊กให้” แต่อาม่าตอบทันทีว่า “เดี๋ยวนี้เค้าใช้ไอ-แพกแล้ว (ในสำเนียงซาวด์แทร็ค)” เป็นจุดขายใหม่ในทีวีซีที่ยิงมาตั้งแต่ต้นปีของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในยุคที่ “ไอแพด” เป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ความแรงของไอแพดทำให้ชื่อของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยครั้งนี้ดังกว่าที่อื่นในช่วงเปิดเทอมใหม่นี้
เวลาผ่านไปก็ต้องพูดจุดขายให้ตรงกับยุคสมัย เหมือนอย่างช่วงหนึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ครอบครัวนักธุรกิจ โดยเฉพาะเชื้อสายจีนเลือก และการมีคอนเนกชั่นกับภาคธุรกิจการสื่อสารว่า “จบแล้วมีงานทำแน่นอน” จึงโดน 5 ปีหลังได้เสริมให้เห็นภาพการเป็นสถาบันการศึกษาทันสมัย เรียนสอนแบบไฮบริดคือนำระบบไอทีมาใช้ วางระบบ Wi-Fi แจกโน้ตบุ๊ก และเน็ตบุ๊ก เพราะใครๆ ก็ใช้กัน แต่นี่ก็ไม่แรงพออีกต่อไปเพราะทุกสถาบันมีเหมือนกัน
มายุคนี้เมื่อไอแพด 2 กลายเป็น Gadget ที่ใครๆ ก็อยากได้ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจึงเลิกซื้อโน้ตบุ๊กและหันมาจัดไอแพด 2 ให้นักศึกษาในปี 2554 โดยรวมค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียนเทอมแรกประมาณ 40,000-50,000 บาท (ส่วนแต่ละเทอมอยู่ที่ 27,000-35,000 บาท) ล็อตแรกในเทอมนี้มีนักศึกษาปริญญาตรี 5,000 คน และปริญญาโทอีก 1,000 คน ซึ่งหากนับจำนวนนักศึกษาใหม่แล้วถือว่าเพิ่มขึ้นกว่าช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา
ทั้งหมด 6,000 เครื่องถือเป็นจำนวนมากขณะที่ในตลาดลูกค้าทั่วไปของหมดและต้องรอ 1-2 สัปดาห์ จนกลายเป็นประโยคพูดคุยกันในกลุ่มคนที่อยากได้ไอแพด 2ว่า “สงสัยต้องไปลงทะเบียนเรียนที่หอการค้าฯ แล้วล่ะมั้ง”
ที่มาของการได้ไอแพด 2 ก่อนใครนั้น “อาจารย์ปรเมศ ส่งแสงเติม” รองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกว่า เขาเริ่มเจรจากับแอปเปิล ประเทศไทยตั้งแต่ไอแพด 1 เปิดตัว พร้อมพัฒนาระบบ และแอพพลิเคชั่น เมื่อไอแพด 2 เปิดตัวจึงอยู่ในลำดับความสำคัญแรกๆ ของแอปเปิล ที่มีของต้องส่งมายังมหาวิทยาลัยก่อน ทำให้ได้พีอาร์ภาพเป็นข่าวไปตั้งแต่ต้นปี ที่ส่งมอบให้นักศึกษา 9 คนแรกก่อนไอแพด 2 เปิดตัวในไทยอย่างเป็นทางการ
มหาวิทยาลัยเตรียมรุ่น 16 GB Wi-Fi ไว้ หากนักศึกษาอยากได้ 32 หรือ 64GB ก็จ่ายเงินเพิ่ม และรอซึ่งมีนักศึกษาประมาณ 700 คนรอเครื่อง 64GB โดยมหาวิทยาลัยใช้งบประมาณ 70-80 ล้านบาท ซื้อเครื่องในระดับราคาเดียวกับในท้องตลาด ซึ่งต้นทุนครั้งนี้ถือว่าถูกกว่าการซื้อโน้ตบุ๊กเสียอีก
ส่วนสิ่งที่ได้พิเศษจากแอปเปิลคือการส่งของก่อน และการเปิดแอคเคานต์ให้นักศึกษาดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นจาก App Store โดยเฉพาะแอพฯ ที่ช่วยการเรียนที่เบื้องต้นมี 30-40 แอพฯ หากคิดเป็นมูลค่าแอพฯ ตลอด 4 ปีแล้วเท่ากับ 20,000-30,000 บาทต่อนักศึกษา 1 คน โดยมหาวิทยาลัยได้วางระบบให้นักศึกษาเชื่อมต่อผ่านระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง และร่วมกับไอบีเอ็มและซิทริกซ์ พัฒนาระบบ Citric receiver for iPad ให้ไอแพดเป็นเหมือนรีโมตเดสก์ท็อป เพื่อใช้โปรแกรมอื่นๆ ได้
นอกจากไอแพด 2 และไอโฟนที่มหาวิทยาลัยใช้เป็นสื่อการเรียนสำหรับนักศึกษาแล้ว ต่อไปนักศึกษาสามารถใช้บนระบบแอนดรอยด์ แบล็คเบอร์รี่ วินโดวส์โฟน เพราะระบบของมหาวิทยาลัยเน้นการให้นักศึกษาสามารถเรียนได้ผ่านทุกแพลตฟอร์มในอนาคต
แม้วิธีการทำตลาดของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย หลายคนอาจมองว่าใช้สีสันนำความแข็งแกร่งทางวิชาการไปแล้ว แต่ในยุคที่การศึกษาคือหนึ่งในธุรกิจที่แข่งขันกันสูง ก็ไม่ต่างอะไรจากสินค้าอื่นๆ ที่ต้องดึงความสนใจกลุ่มเป้าหมายให้ได้ก่อน ที่เหลือก็มาพิสูจน์สินค้ากันว่าดีหรือไม่ แน่นอนว่ายุคนี้ดีหรือไม่ดี ไม่นานนักก็รู้กันทั่ว
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ | เน้นTagline “มหาวิทยาลัยสร้างสรรค์” |
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย | เรียนจบแล้วมีอนาคต เพราะมีเทคโนโลยีช่วยและชูแคมเปญแจกไอแพด2 |
มหาวิทยาลัยรังสิต | “ร่วมสร้างสังคมแห่งการให้และการแบ่งปัน” |