ผลสำรวจพบว่า สัดส่วนผู้ครอบครอง ‘คริปโตเคอร์เรนซี’ เกือบครึ่งหนึ่งในสหรัฐฯ ลาตินอเมริกาเเละเอเชียเเปซิฟิก เพิ่งจะเข้าซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้ ‘เป็นครั้งเเรก’ ในช่วงปี 2021 ที่ผ่านมา
Gemini บริษัทแลกเปลี่ยนคริปโตฯ ในสหรัฐอเมริกา ทำการสำรวจผู้คนเกือบ 30,000 คนใน 20 ประเทศ ระหว่างเดือนพ.ย. 2021 ถึงเดือนก.พ. 2022
พบว่า ในช่วงปี 2021 ซึ่งถือเป็นปีทองของสินทรัพย์ดิจิทัล หลังมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด เเละเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ‘ภาวะเงินเฟ้อ’ ทำให้หลายประเทศที่ค่าเงินอ่อนค่า หันมายอมรับสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทนี้มากขึ้น
เจ้าของคริปโตฯ กว่า 79% ยอมรับว่า พวกเขาเพิ่งจะเข้ามาในตลาดนี้เมื่อปีที่แล้ว เเละเลือกซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อศักยภาพในการลงทุนระยะยาว
โดยประชาชนใน บราซิลและอินโดนีเซีย มีอัตราถือครองคริปโตฯ มากที่สุด คิดเป็นกว่า 41% ของผู้ตอบแบบสำรวจในแต่ละประเทศ ตามมาด้วยสหรัฐฯ ที่ 20% และสหราชอาณาจักรที่ 18%
ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้ถือครองคริปโตฯ และอยู่ในประเทศที่ค่าเงินอ่อนมาก เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ก็มีเเนวโน้มที่จะวางเเผนซื้อสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อมากกว่าคนในประเทศที่ไม่มีปัญหาเรื่องค่าเงินถึง 5 เท่า
ยกตัวอย่างเช่น ‘อินโดนีเซีย’ ที่เงินรูเปียห์อ่อนค่าลงกว่า 50% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างปี 2011-2020
ส่วนเงินรูปีของอินเดียก็อ่อนค่าลง 17.5% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้คนในอินโดนีเซียเเละอินเดียมีความต้องการอยากจะซื้อคริปโตฯ เป็นครั้งแรกถึง 64% เทียบกับคนในสหรัฐฯ และยุโรปที่คิดเช่นนี้เพียง 16% และ 15% ตามลำดับ
จากผลสำรวจ มีชาวยุโรปเพียง 17% เท่านั้นที่ระบุว่าพวกเขาเข้าซื้อเจ้าของสินทรัพย์ดิจิทัลครั้งเเรกในปี 2021 และมีเพียง 7% ของผู้ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของคริปโตฯ ในปัจจุบันที่กล่าวว่าพวกเขาต้องการลองซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลบ้าง
อย่างไรก็ตาม ปีนี้ยังคงต้องจับตาดูว่าตลาดจะขยายตัวเเละจะมีผลตอบเเทนที่ดึงดูดนักลงทุนหน้าใหม่ให้เข้ามาในตลาดนี้ได้เเค่ไหน
ทั้งนี้ ‘Bitcoin’ (บิตคอยน์) สกุลเงินดิจิทัลที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เคยทำสถิติสูงสุดมีมูลค่ามากกว่าเหรียญละ 68,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.28 ล้านบาท) ได้ในเดือนพ.ย. 2021 ดันมูลค่าตลาดรวมเเตะถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ตามข้อมูลของ CoinGecko) ก่อนที่จะปรับตัวลงมาอยู่ในกรอบเฉลี่ยเหรียญละ 34,000-46,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.14-1.54 ล้านบาท) ในตอนนี้
- ผู้บริโภค-ภาคธุรกิจ ใช้ ‘Bitcoin’ เพื่อชำระเงินลดลง หันมาใช้ ‘เหรียญทางเลือก’ เพิ่มขึ้น
- รู้จัก ‘Taproot’ การอัปเดตใหญ่ ‘Bitcoin’ ในรอบ 4 ปี มันดียังไง?
ที่มา : Reuters