สงครามรัสเซีย-ยูเครน: กลุ่มประเทศ “เอเชียแปซิฟิก” ใครได้-ใครเสียประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

รัสเซีย ยูเครน เศรษฐกิจ
แม้กลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิกจะอยู่ไกลห่างจาก “สงครามรัสเซีย-ยูเครน” ทำให้ไม่ได้รับผลทางตรงจากการสู้รบ แต่ในเชิงเศรษฐกิจ ราคาสินค้าที่พุ่งขึ้น การเป็นประเทศผู้ส่งออกอาวุธของรัสเซีย และนักท่องเที่ยวรัสเซีย ปัจจัยเหล่านี้ย่อมมีผลทั้งทางบวกและลบต่อกลุ่มประเทศ “เอเชียแปซิฟิก”

Economic Intelligence Unit (EIU) เปิดเผยรายงานผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นต่อประเทศใน “เอเชียแปซิฟิก” จากการทำสงครามรัสเซีย-ยูเครน มีทั้งผู้ที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์จากการรบและการคว่ำบาตร

โดยพื้นฐานแล้ว ทั้งรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตและส่งอออกสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะ “ปุ๋ย” “ธัญพืช/ข้าวสาลี” “น้ำมัน/ก๊าซธรรมชาติ/ถ่านหิน” และ “แร่ธาตุ เช่น นิกเกิล”

ขณะที่เฉพาะประเทศรัสเซีย เป็นประเทศผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่ของโลก และด้วยจำนวนประชากรทำให้ปกติแล้วจะมีนักท่องเที่ยวรัสเซียเดินทางไปยังเอเชียแปซิฟิกจำนวนมาก

ข้าวสาลี
ทั้งรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีและธัญพืชรายใหญ่

ผลที่เกิดขึ้นทันทีหลังสงครามปะทุคือราคาสินค้าโภคภัณฑ์ดังกล่าวพุ่งสูงขึ้น ซึ่งทำให้บางประเทศในเอเชียที่นำเข้าสินค้าเหล่านั้นทั้งทางตรงและทางอ้อมต้องรับภาระต้นทุน โดยกลุ่มประเทศที่รับภาระราคาปุ๋ย ได้แก่ ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ ส่วนประเทศเอเชียตะวันออกที่เป็นแหล่งผลิตชิป ก็จะต้องรับภาระต้นทุนแร่ธาตุที่ใช้ผลิต

ขณะที่บางประเทศซึ่งเป็นผู้ส่งออกสินค้าประเภทเดียวกับรัสเซีย-ยูเครนจะได้อานิสงส์จากราคาที่ดีขึ้น และยอดส่งออกที่ดีจากการหาซัพพลายทดแทนจากประเทศอื่น เนื่องจากการคว่ำบาตรรัสเซีย

ด้านประเทศที่พึ่งพิงอาวุธจากรัสเซียอาจจะขาดแคลนซัพพลาย หากเลือกร่วมคว่ำบาตรรัสเซียด้วย และประเทศที่พึ่งพิงนักท่องเที่ยวรัสเซียก็จะได้รับผลกระทบเพราะค่าเงินรูเบิลตกต่ำทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางลำบากขึ้น

 

ราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่ง ใครได้-ใครเสีย

อัปเดตราคาล่าสุดของสินค้าโภคภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ราคาข้าวสาลี (ตลาดฟิวเจอร์ส) พุ่งขึ้น 65% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (ตลาดฟิวเจอร์ส) พุ่งขึ้น 40% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน รวมถึงราคานิกเกิลที่ทะยานอย่างรุนแรงเพราะรัสเซียคือผู้ผลิตนิกเกิลที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก

“ประเทศที่ได้ประโยชน์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูง”
  • ผู้ส่งออกถ่านหิน: ออสเตรเลีย, อินโดนีเซีย, มองโกเลีย
  • ผู้ส่งออกน้ำมันดิบ: มาเลเซีย, บรูไน
  • ผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติ: ออสเตรเลีย, มาเลเซีย, ปาปัวนิวกินี
  • ผู้ส่งออกนิกเกิล: อินโดนีเซีย, นิวคาลิโดเนีย
  • ผู้ส่งออกข้าวสาลี: ออสเตรเลีย, อินเดีย
บางประเทศในเอเชียแปซิฟิกกลับได้รับประโยชน์จากสงคราม เพราะเป็นผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทเดียวกับรัสเซีย-ยูเครน เช่น น้ำมันดิบ (Photo : Shutterstock)
“ประเทศที่เสียประโยชน์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูง” (*เปอร์เซ็นต์ที่ปรากฏคือสัดส่วนการนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากประเทศรัสเซียหรือยูเครน)
  • ปุ๋ย: อินโดนีเซีย (มากกว่า 15%), เวียดนาม (มากกว่า 10%), ไทย (มากกว่า 10%), มาเลเซีย (ประมาณ 10%), อินเดีย (มากกว่า 6%), บังกลาเทศ (ประมาณ 5%), เมียนมา (ประมาณ 3%), ศรีลังกา (ประมาณ 2%)
  • ธัญพืชจากรัสเซีย: ปากีสถาน (ประมาณ 40%), ศรีลังกา (มากกว่า 30%), บังกลาเทศ (มากกว่า 20%), เวียดนาม (เกือบ 10%), ไทย (ประมาณ 5%), ฟิลิปปินส์ (ประมาณ 5%), อินโดนีเซีย (น้อยกว่า 5%), เมียนมา (น้อยกว่า 5%), มาเลเซีย (น้อยกว่า 5%)
  • ธัญพืชจากยูเครน: ปากีสถาน (ประมาณ 40%), อินโดนีเซีย (มากกว่า 20%), บังกลาเทศ (เกือบ 20%), ไทย (มากกว่า 10%), เมียนมา (มากกว่า 10%), ศรีลังกา (เกือบ 10%), เวียดนาม (น้อยกว่า 5%), ฟิลิปปินส์ (ประมาณ 5%), มาเลเซีย (ประมาณ 5%)
ราคา “ปุ๋ย” ที่แพงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อหลายประเทศในเอเชียแปซิฟิก มีผลต่อเนื่องต่อราคาพืชผลการเกษตร

 

หากคว่ำบาตรอาวุธรัสเซีย กระทบใคร?

EIU ระบุว่า รัสเซียเป็นผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก และเป็นผู้ส่งออกหลักให้กับจีน อินเดีย และเวียดนามในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา

“การคว่ำบาตรทั่วโลกต่อบริษัทขายอาวุธของรัสเซีย จะทำให้ประเทศเอเชียไม่สามารถเข้าถึงอาวุธเหล่านี้ได้” รายงานฉบับดังกล่าวระบุ อย่างไรก็ตาม ประเทศผู้ผลิตอาวุธอื่นๆ ก็จะได้ประโยชน์ รวมถึงผู้ผลิตภายในประเทศนั้นๆ เองด้วย

“ประเทศที่พึ่งพิงอาวุธรัสเซียมากที่สุด” (ช่วงปี 2000-2020 เปอร์เซ็นต์แสดงสัดส่วนที่นำเข้าจากรัสเซีย)

มองโกเลีย (ประมาณ 100%), เวียดนาม (มากกว่า 80%), จีน (เกือบ 80%), อินเดีย (มากกว่า 60%), ลาว (มากกว่า 40%), เมียนมา (ประมาณ 40%), มาเลเซีย (มากกว่า 20%), อินโดนีเซีย (มากกว่า 10%), บังกลาเทศ (มากกว่า 10%), เนปาล (มากกว่า 10%), ปากีสถาน (น้อยกว่า 10%)

 

เมื่อนักท่องเที่ยวรัสเซียขาดแคลน

แม้ว่าน่านฟ้าเอเชียยังเปิดให้สายการบินรัสเซียบินผ่านได้ตามปกติ แต่นักท่องเที่ยวรัสเซียอาจจะบินออกนอกประเทศน้อยลง

“ความต้องการของคนรัสเซียที่จะเดินทางน่าจะได้รับผลกระทบจากการดิสรัปต์เศรษฐกิจ ค่าเงินรูเบิลตกต่ำ และการถอนตัวของระบบชำระเงินสากลจากรัสเซีย” EIU ระบุ

รัสเซีย เศรษฐกิจ เอเชีย
(Photo: Shutterstock)

รัสเซียถูกตัดออกจากระบบ SWIFT ระบบการเงินที่เชื่อมโยง 200 ประเทศทั่วโลกไปแล้ว ขณะที่ค่าเงินรูเบิลต่ำลงเกือบ 30% เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่สงครามปะทุขึ้น แม้ว่าเงินรูเบิลจะดีดกลับขึ้นมาแล้ว แต่ก็ยังต่ำกว่าราคาเมื่อต้นปีนี้ถึง 10%

ประเทศในเอเชียแปซิฟิกที่จะได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนนักท่องเที่ยวรัสเซียมากที่สุดคือ “ไทย” เมื่อปี 2019 ประเทศไทยต้อนรับคนรัสเซียถึง 1.4 ล้านคน แต่นั่นก็คิดเป็นเพียง 4% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่มาเยือนไทยในปี 2019

สำหรับอันดับ 2 ในเอเชียที่คนรัสเซียไปเยือนมากที่สุดคือ เวียดนาม รองมาอันดับ 3 คือ อินโดนีเซีย อันดับ 4 ศรีลังกา และอันดับ 5 มัลดีฟส์

ในภาพรวม การขาดแคลนนักท่องเที่ยวรัสเซียอาจจะส่งผลไม่มากต่อเอเชียแปซิฟิก แต่ก็เป็นโอกาสที่น่าเสียดายของภูมิภาคนี้ เพราะนักท่องเที่ยวจีนยังออกนอกประเทศได้ยากตามนโยบายรัฐบาล ทำให้ภาคท่องเที่ยวในเอเชียแปซิฟิกต้องการดึงดูดนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ เข้ามาแทน และคงคาดหวังกับชาวรัสเซียได้ยากยิ่งขึ้น

Source