คนไทย “สุขลดลง” จากปัญหาค่าครองชีพ เครียดข่าวอาชญากรรม-เศรษฐกิจมากขึ้น

ค่าครองชีพ
(Photo: Pixabay)
  • “โฮคูโฮโด” สำรวจคนไทยทุกๆ 2 เดือน รอบล่าสุดประจำเดือนเมษายน 2565 พบคนไทย “สุขลดลง” เทียบกับรอบก่อน เพราะกังวลเรื่องไวรัสผสมกับปัญหาค่าครองชีพ
  • คนไทยสนใจข่าวโอมิครอนน้อยลงแม้จะยังเป็นข่าวอันดับ 1 ข่าวแตงโมตกน้ำและสงครามรัสเซีย-ยูเครนมาแรง ข่าวอาชญากรรม การเมือง เศรษฐกิจเข้ามาอยู่ในความสนใจสูงขึ้น
  • การจับจ่ายเน้นด้านอาหาร ของใช้จำเป็น เครื่องใช้ไฟฟ้า ลดการซื้อเสื้อผ้า เครื่องสำอาง การท่องเที่ยว

สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) จัดสำรวจ “ผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคม” (Sei-katsu-sha) ทุกๆ 2 เดือน โดยในประเทศไทยรอบล่าสุดสำรวจเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2565 กลุ่มตัวอย่างเป็นคนไทยวัย 20-59 ปีจาก 6 ภูมิภาค จำนวน 1,200 คน

ผลสำรวจรอบนี้จัดทำเป็นรายงานประจำเดือนเมษายน 2565 ในด้าน “ความสุข” ของคนไทยอยู่ที่ 63 คะแนน ลดลง -2 คะแนน เทียบกับรายงานรอบเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เนื่องจากโรค COVID-19 ยังระบาดอยู่ และมีปัจจัยความกังวลด้านเศรษฐกิจฝืดเคืองเข้ามาเสริม

เมื่อสำรวจประเด็นข่าวที่คนไทยให้ความสนใจมากที่สุด 10 อันดับ จะเห็นได้ว่าคนไทยสนใจเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และอาชญากรรมสูง ส่วนไวรัสโอมิครอนแม้จะยังอยู่อันดับ 1 แต่ได้รับความสนใจลดลงมาก ดังนี้

  1. COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ โอมิครอน 47% (-6%)
  2. แตงโมตกน้ำ (12%) (new)
  3. สงครามรัสเซีย-ยูเครน (9%) (new)
  4. การเมือง (9%) (+2%)
  5. เศรษฐกิจ (4%) (+2%)
  6. ค้ามนุษย์ (3%) (new)
  7. หลานฆ่ายายยัดถัง (2%) (new)
  8. ราคาน้ำมัน (2%) (new)
  9. คริปโตเคอร์เรนซี/บิตคอยน์ (2%) (คงเดิม)
  10. ฟุตบอล (2%) (-1%)

คนไทยรัดเข็มขัด ใช้แต่ที่จำเป็นก่อน

“จริงๆ แล้วคนไทยนั้นชอบช้อป แต่เนื่องด้วยสถานการณ์ต่างๆ ตอนนี้ ทำให้สินค้าหลายๆ อย่างมีราคาสูงขึ้น ทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค ทำให้คนไทยระมัดระวังเรื่องของการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น และซื้อของที่ไม่จำเป็นลดลง” ชุติมา วิริยะมหากุล ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) กล่าว

นั่นทำให้ผลสำรวจความต้องการซื้อสินค้าของคนไทย กลุ่มที่เพิ่มมากขึ้นคือ “อาหาร” มาเป็นอันดับ 1 สัดส่วน 25% และเติบโต 5% “ของใช้ในชีวิตประจำวัน” อันดับ 2 สัดส่วน 15% เติบโต 2% “ตู้เย็น/เครื่องใช้ไฟฟ้า” อันดับ 5 สัดส่วน 5% เติบโต 1% และ “รถยนต์” อันดับ 9 สัดส่วน 4% เติบโต 2%

ส่วนสินค้าที่คนไทยลดความต้องการลงคือ “เสื้อผ้า” “ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม” “การท่องเที่ยว” และ “คอมพิวเตอร์/แท็บเล็ต”

ในมุมนักการตลาด เมื่อพบว่าคนไทยมีความสุขลดลง และเคร่งเครียดจากข่าวอาชญากรรม เศรษฐกิจ คนไทยมองหาความมั่งคั่งมากกว่างานที่มั่นคง ต้องการรายได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้เป็นช่วง “สงกรานต์” ที่คนไทยยังให้ความสำคัญกับครอบครัวและยังมองหาของขวัญให้ญาติผู้ใหญ่อยู่ แม้จะรัดเข็มขัดมากก็ตาม

พรนภัส สุลัยมณี” นักวางแผนกลยุทธ์ ฮาคูโฮโด เฟิร์ส (ประเทศไทย) จึงให้คำแนะนำแบรนด์ในการทำการตลาดที่ช่วยคลายเครียดและเน้นไปที่ครอบครัวเป็นหลัก ดังนี้

  1. แบรนด์ควรชวนคลายเครียดด้วยกิจกรรมใหม่ๆ เน้นเสริมความสัมพันธ์กับครอบครัวแต่ยังปลอดภัยจาก COVID-19 เพราะเทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงเวลาของครอบครัว ที่แบรนด์สามารถเข้าไปเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ เปลี่ยนบรรยากาศการเฉลิมฉลองกับครอบครัว สนับสนุนการอุปโภคและบริโภคสินค้าภายในบ้านที่ดีต่อสุขภาพและจิตใจเป็นหลัก เพื่อชดเชยข้อจำกัดด้านการเดินทางท่องเที่ยว หรือ กลับบ้านไปหาครอบครัวในช่วงโอมิครอนนี้
  2. เสนอโปรโมชันช่วงซัมเมอร์ที่แปลกใหม่ พร้อมสนับสนุนการส่งความรักความห่วงใยถึงกัน เพื่อต้อนรับช่วงเวลาที่สำคัญของครอบครัว อย่างการส่งมอบความรักความห่วงใยให้กับครอบครัวหรือคนที่เรารักแม้อยู่ห่างไกลกัน

 

อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม