ททท. วางเป้า 2565 “ต่างชาติ” เข้าไทย 7 ล้านคน โรงแรมเครือ AWC คาดอัตราเข้าพักแตะ 50%

มีเลีย เชียงใหม่ AWC
โรงแรมมีเลีย เชียงใหม่
อัปเดตสถานการณ์ “ท่องเที่ยว” ประเทศไทย อนาคตดูจะสดใสขึ้นแม้ยังห่างไกลกับช่วงก่อนเกิด COVID-19 โดย ททท. วางเป้าปี 2565 ดึงนักท่องเที่ยว “ต่างชาติ” เข้าไทย 7 ล้านคน ธุรกิจท่องเที่ยวยังต้องพึ่งชาวไทยเป็นหลัก ด้านเครือโรงแรม AWC คาดอัตราเข้าพักปีนี้จะอยู่ระหว่าง 30-50% พร้อมเปิดโรงแรมแห่งล่าสุด “มีเลีย เชียงใหม่” รับลูกค้าคนรุ่นใหม่และธุรกิจ MICE

ปี 2565 เป็นปีแห่งความหวังของธุรกิจท่องเที่ยวไทย หลังจากเริ่มทยอยคลายล็อกเปิดประเทศมาตั้งแต่ปลายปีก่อน โดยเมื่อช่วงต้นปี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์แบบกว้างๆ ว่านักท่องเที่ยว “ต่างชาติ” จะเข้าไทยประมาณ 5-15 ล้านคน ก่อนที่จะเกิดปัจจัยลบเพิ่มขึ้นอย่างสงครามรัสเซีย-ยูเครน

“สมฤดี จิตรจง” รองผู้ว่าการด้านการบริหาร ททท. เปิดเผยว่าปี 2565 ททท.วางเป้าดึงเม็ดเงินการท่องเที่ยวทั้งหมด 1.07 ล้านล้านบาท และนักท่องเที่ยวรวม 17.5 ล้านคน โดยในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40% คือ 7 ล้านคน เห็นได้ว่าปีนี้ภาคท่องเที่ยวไทยจะยังต้องพึ่งพิงชาวไทยเที่ยวในประเทศเสียส่วนใหญ่

ปัจจัยลบอย่างหนึ่งที่ส่งผลกระทบโดยตรงคือ “สงครามรัสเซียยูเครน” เนื่องจากปกตินักท่องเที่ยวรัสเซียอยู่ในกลุ่ม Top 5 ของไทย และสงครามยังมีผลต่อราคาน้ำมันที่กระทบโดยอ้อมต่อนักท่องเที่ยวยุโรปด้วย

รัสเซีย
(Photo: Shutterstock)

“กลุ่มนักท่องเที่ยวรัสเซียนั้นตอนแรกเหมือนจะไม่มีปัญหา แต่ตอนนี้เริ่มมีแล้ว เพราะมีการปิดช่องทางชำระเงินสากล และสายการบินที่บินตรงกรุงเทพฯ-มอสโกตอนนี้เหลือแค่การบินไทย” สมฤดีกล่าว “อีกส่วนหนึ่งที่กระทบคือราคาน้ำมันสูง ทำให้ตั๋วเครื่องบินแพง จนนักท่องเที่ยวตลาดยุโรปจะเบนเข็มไปที่ที่ใกล้กว่า เช่น ตุรกี แต่เราก็มีตลาดอื่นทดแทน เช่น อินเดีย ตะวันออกกลาง มีความต้องการเข้าไทยมาก และเป็นกลุ่มที่พร้อมด้านการเงิน”

 

รอปลดล็อกยกเลิกการตรวจ COVID-19

อีกประเด็นที่ยังเป็นข้อติดขัดทำให้ประเทศไทยยังแข่งขันยากในตลาดโลก คือ ขั้นตอนการตรวจหาเชื้อโรค COVID-19 ก่อนเข้าประเทศ ในขณะที่บางประเทศปลดล็อกไปแล้ว เช่น มัลดีฟส์ , ดูไบ (UAE) โดยวันที่ 1 เมษายน 2565 ไทยเริ่มผ่อนคลายมากขึ้นโดยยกเลิกการตรวจ RT-PCR จากประเทศต้นทาง แต่ยังต้องตรวจเมื่อเดินทางมาถึง ซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคที่ทำให้ต่างชาติยังไม่ต้องการเดินทางมาประเทศไทย เพราะยังต้องเสียเวลาการรอคอยผลตรวจในโรงแรมที่พัก รวมถึงมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม

(ซ้าย) “วัลลภา ไตรโสรัส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC (ขวา) “สมฤดี จิตรจง” รองผู้ว่าการด้านการบริหาร ททท.

“วัลลภา ไตรโสรัส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC กล่าวเสริมว่า ประเทศไทยเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ของนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่แล้ว เพียงแต่ยังต้องรอมาตรการที่พร้อมต้อนรับ

“นักท่องเที่ยวต่างชาติรอเข้ามาอีกเยอะ เพียงแต่ว่านักท่องเที่ยวก็ต้องการประสบการณ์โดยรวมที่ดีที่สุดจากประเทศที่เขาเลือกไป เวลาทุกนาทีที่เข้ามาท่องเที่ยว เขาต้องการให้เป็นเวลาที่มีคุณค่า ถ้าหากเราพร้อมเมื่อไหร่จะมีดีมานด์ขนาดใหญ่รออยู่แน่นอน” วัลลภากล่าว

ทั้งนี้ สมฤดีระบุว่า ททท. ได้ยื่นข้อเสนอให้ ศบค. ยกเลิกทั้งระบบ Thailand Pass, Test & Go และ Sandbox ผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศสามารถเข้าประเทศได้ในแบบเดียวกับช่วงก่อนปี 2563 โดยเสนอให้ยกเลิกตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 หาก ศบค. ตอบรับข้อเสนอนี้ก็จะทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยช่วงครึ่งปีหลังฟื้นตัวอย่างชัดเจน

 

AWC คาดอัตราเข้าพักขึ้นไปแตะ 50%

ด้านการดำเนินการของเครือโรงแรม AWC ซึ่งมีพอร์ตโรงแรม 19 แห่ง รวมห้องพัก 5,201 ห้อง ใน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ กระบี่ ภูเก็ต เกาะสมุย หัวหิน เชียงใหม่ มองเช่นกันว่าปีนี้จะเป็นปีที่กระเตื้องขึ้นของบริษัท

วัลลภาฉายภาพย้อนหลังว่า ตั้งแต่ไตรมาส 4/64 เครือโรงแรม AWC มีอัตราเข้าพักที่ดีขึ้น โดยขึ้นไปพีคที่เดือนธันวาคม 2564 มีอัตราเข้าพัก 38% ก่อนจะกระทบจากไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน ทำให้เดือนมกราคม 2565 ลดลงมาบ้างที่ 30% แต่จากนั้นปรับเป็นขาขึ้นมาตลอด

โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาคีส์ ควีนส์ปาร์ค หนึ่งในพอร์ตโรงแรมของ AWC

คาดการณ์ว่าตลอดปี 2565 อัตราเข้าพักจะอยู่ระหว่าง 30-50% แต่เชื่อว่าปี 2566 น่าจะเป็นปีที่เห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจนกว่าของธุรกิจโรงแรม ทั้งนี้ อัตราเข้าพักของโรงแรมเครือ AWC เมื่อเดือนมกราคม 2563 ก่อนเกิดโรคระบาด เคยสูงถึง 78%

ด้านการเติบโตของนักท่องเที่ยวต่างชาติในเครือ AWC วัดจากช่วงไตรมาส 4/64 ตลาดคีย์หลักอย่าง “ภูเก็ต” มีต่างชาติเข้าพักเพิ่ม 8 เท่า โดยเพิ่มสัดส่วนจาก 8% ในปีก่อนหน้าเป็น 66% ด้านตลาด “กรุงเทพฯ” ก็ปรับเพิ่ม 1.8 เท่า เช่นเดียวกับ “เชียงใหม่” มีต่างชาติพักเพิ่ม 1.8 เท่า สะท้อนให้เห็นว่าการเปิดประเทศสามารถดึงชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวได้

 

“มีเลีย เชียงใหม่” เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่-ธุรกิจ MICE

วัลลภากล่าวต่อถึงโรงแรมล่าสุดในเครือ AWC ที่เปิดบริการได้แก่ “มีเลีย เชียงใหม่” เริ่มแกรนด์โอเพนนิ่งวันที่ 10 เมษายน 2565 โดยเป็นการรีโนเวตจากโรงแรมเดิม มีห้องพักทั้งหมด 260 ห้อง ใช้เชนโรงแรมมีเลียจากสเปนเป็นผู้บริการ เนื่องจากเชนนี้มีความเชี่ยวชาญด้าน Leisure และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ใช้วัตถุดิบอาหารจากท้องถิ่นจากฟาร์มออร์แกนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นโครงการหลวงหรือ Ori9in Farm

มีเลีย เชียงใหม่ AWC
โรงแรมมีเลีย เชียงใหม่

โรงแรมนี้เป็นโรงแรม 1 ใน 3 แห่งที่ AWC มีในเชียงใหม่ โดยมีเลีย เชียงใหม่จะเน้นนักท่องเที่ยวกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบความเรียบง่าย แต่ยังแฝงด้วยความสนุกจากรูฟท็อปบาร์ที่สูงที่สุดของเมือง รวมถึงตอบโจทย์กลุ่มธุรกิจ MICE จากห้องประชุมที่สามารถปรับเป็นแบบกึ่งกลางแจ้งได้

มีเลีย เชียงใหม่
พบกับรูฟท็อปบาร์ที่สูงที่สุดของเมืองเชียงใหม่ได้ที่ มีเลีย เชียงใหม่

อีก 2 แห่งในเชียงใหม่ ได้แก่ เลอ เมอริเดียน เชียงใหม่ จะมีการปรับเปลี่ยนแบรนด์เป็นแมริออทในช่วงปลายปีนี้ เพื่อเจาะตลาดกลุ่มลูกค้าองค์กร ส่วนอีกแห่งหนึ่งคือ อินเตอร์คอนติเนนตัล เชียงใหม่ แม่ปิง ซึ่งอยู่ระหว่างรีโนเวตจากโรงแรมแห่งเดิม แบรนด์นี้เป็นแบรนด์ดั้งเดิมที่สื่อถึงมาตรฐานและความละเอียดในงานบริการ จะดึงดูดทั้งกลุ่มท่องเที่ยวและลูกค้าองค์กรได้

สมฤดีกล่าวถึงจังหวัดเชียงใหม่ว่า ปีนี้ ททท. คาดว่าเชียงใหม่จะดึงเม็ดเงินธุรกิจท่องเที่ยวได้ราว 5.5 หมื่นล้านบาท คิดเป็นครึ่งหนึ่งของที่ทำได้ในปี 2562

โดยขณะนี้ ททท. กำลังมุ่งต่อยอดชื่อเสียงของเชียงใหม่ในกลุ่ม “ดิจิทัล โนแมด” ซึ่งยกให้เชียงใหม่เป็นจุดหมายอันดับ 25 ของโลกที่ดิจิทัล โนแมดชื่นชอบ และมองว่าจะเลือกดึงดิจิทัล โนแมดจากสหรัฐฯ เข้ามาเป็นหลัก เนื่องจากเป็นตลาดใหญ่มีกำลังซื้อ นอกจากนี้ การเจาะกลุ่มโนแมดยังทำให้ได้นักท่องเที่ยวกลุ่มลองสเตย์เพิ่มขึ้นด้วย