ยอดจอง “โรงแรม” ไทยกลับสู่ระดับ 75% เทียบก่อน COVID-19 ต่างชาติกลับมาเกินครึ่ง

ยอดจองโรงแรม ต่างชาติ
SiteMinder แพลตฟอร์มบริหารจัดการการจองและการตลาดโรงแรม เปิดสถิติพบว่ายอดจองห้องพัก “โรงแรม” ในไทยช่วงเดือนเมษายน 2565 กลับสู่ระดับ 75% เทียบกับช่วงก่อนเกิด COVID-19 โดย 51% เป็นการจองจากต่างชาติ แนะโรงแรมไทยปรับตัวรับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่จองตรงกับโรงแรมมากขึ้น จองนาทีสุดท้ายสูงขึ้น และพร้อมปรับรับกลุ่ม Work & Holiday

บริษัท SiteMinder แพลตฟอร์มบริหารจัดการระบบการจองและการตลาดโรงแรมจากออสเตรเลีย โดยมีลูกค้ากว่า 33,000 โรงแรมใน 150 ประเทศทั่วโลก และมีสำนักงานในกรุงเทพฯ พร้อมแพลตฟอร์มที่เป็นภาษาไทย เปิดเผยข้อมูลจากการติดตามของบริษัท พบว่า อุตสาหกรรมโรงแรมไทยกำลังฟื้นตัวขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 โดยมีสะดุดไปบ้างในช่วงปีใหม่ แต่กลับมาเติบโตขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ช่วงตรุษจีน 2565 เป็นต้นมา

ข้อมูล ณ วันที่ 17 เมษายน 2565 การจองห้องพักของโรงแรมในไทยแตะ 75% เทียบกับช่วงก่อนเกิดโรคระบาด COVID-19 (เป็นยอดจองห้องพักที่จะมีการทยอยเข้าพักในอนาคต ยังไม่ใช่อัตราการเข้าพักปัจจุบัน) และพบว่าตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 เป็นต้นมา ยอดจองห้องพักเริ่มมียอดจองจากต่างประเทศมากกว่าในประเทศแล้ว โดยคิดเป็นอัตราส่วน 51%

เทรนด์การจองห้องพักในไทยปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยโลกแล้วในขณะนี้

“แบรด ไฮนส์” รองประธานฝ่ายการตลาดภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท SiteMinder กล่าวว่า สถิตินี้สะท้อนให้เห็นว่าโรงแรมไทยกำลังฟื้นตัว และนักท่องเที่ยวต่างชาติกำลังกลับมา โดยเทียบกับช่วงก่อน COVID-19 อัตราการจองห้องพักในไทยจะมีสัดส่วนจากชาวต่างชาติราว 80%

อย่างไรก็ตาม ในช่วงฟื้นตัวจาก COVID-19 นี้ชาวไทยยังคงมีดีมานด์การท่องเที่ยวในประเทศสูง เพราะมองว่าปลอดภัยกว่าและสะดวกกว่า ทำให้สัดส่วนจากนักท่องเที่ยวในประเทศจะยังสูงกว่าในอดีต

 

นักท่องเที่ยว “เปลี่ยน” พฤติกรรมบางอย่าง

แบรดยังกล่าวถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนและมีความต้องการแบบใหม่ๆ ซึ่งโรงแรมจะต้องปรับตัวให้ทันด้วย ดังนี้

  • นักท่องเที่ยวในประเทศทำการจองแบบ ‘นาทีสุดท้าย’ สูงขึ้น – เนื่องจากลูกค้าไม่ต้องกลัวโรงแรมเต็มเพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติยังทยอยกลับเข้ามา ทำให้ไม่รีบจอง ส่วนนี้แนะนำให้โรงแรมระมัดระวังการรีบทำโปรโมชันหรือลดราคาเร็วเกินไป เพราะเกรงว่าอัตราเข้าพักจะต่ำ
  • การจองที่พักหันมา ‘จองตรง’ กับโรงแรมมากขึ้น เป็นช่องทางอันดับ 3 ที่นักท่องเที่ยวเลือกใช้ – ทำให้โรงแรมจะต้องปรับเว็บไซต์ให้การจองตรงทำได้ง่าย สะดวก หรือกรณีชาวไทยจะนิยมจองผ่านโซเชียลมีเดีย โรงแรมควรมีระบบที่ช่วยรองรับการแชทจองห้องพักได้เร็ว
  • Online Travel Agency (OTA) มีหลายแบรนด์มากขึ้น เจาะแต่ละตลาดที่ต่างกัน โรงแรมควรกระจายช่องทางขายให้ครอบคลุม OTA หลายแบรนด์ และมีการบริหารหลังบ้านที่เรียลไทม์เพื่อไม่ให้เกิดการ overbooking
(Photo : Shutterstock)
  • นักท่องเที่ยวต้องการความยืดหยุ่นในการจองห้องพัก – เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้มาตรการการเดินทางอาจปรับเปลี่ยนได้เสมอ หรือนักท่องเที่ยวอาจมีปัญหาสุขภาพจนเดินทางไม่ได้ ลูกค้าจึงมักมองหาโรงแรมที่ยืดหยุ่นในการเลื่อนวันเข้าพักหรือยกเลิกคืนเงินได้
  • เทรนด์ Work & Holiday มีสูงขึ้น – จากการ Work from Home สู่การ Work from Anywhere ทำให้กระแสการทำงานระหว่างไปเที่ยวมาแรง โรงแรมจึงควรปรับสิ่งอำนวยความสะดวกให้เหมาะกับการทำงาน ติดตั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โต๊ะเก้าอี้ที่เหมาะกับการทำงาน และทำการตลาดถึงลูกค้ากลุ่มนี้

สำหรับบริษัท SiteMinder นั้นเป็นซอฟต์แวร์บริหารจัดการการขายและการตลาด ทำให้เชื่อมต่อการจองจากทุกช่องทางขายมาไว้ในแดชบอร์ดเดียวกัน สามารถจัดการได้ง่ายขึ้น และมีระบบตรวจสอบราคาคู่แข่งในตลาดได้เรียลไทม์ พร้อมเครื่องมือทำการตลาด ปรับราคาให้เหมาะสมในการแข่งขัน พร้อมสามารถทำรายงานได้อัตโนมัติเพื่อดูศักยภาพการขายและโปรไฟล์ลูกค้า

ตัวอย่างหน้าแดชบอร์ดของ SiteMinder

เฉพาะในไทยนั้นแบรดไม่สามารถเปิดเผยได้ว่า SiteMinder มีลูกค้ามากน้อยเพียงใด แต่เป้าหมายหลักของบริษัทจะเป็นกลุ่มเชนโรงแรมขนาดเล็กหรือแบรนด์ท้องถิ่น โดยจะเป็นโรงแรมขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่ก็ได้ เนื่องจากโรงแรมกลุ่มนี้ต้องการซอฟต์แวร์ช่วยบริหารให้มีประสิทธิภาพ จะต่างจากเชนโรงแรมระดับโลกที่มีระบบของตัวเองที่ถูกกำหนดมาจากบริษัทแม่

แบรดยอมรับว่าในช่วง COVID-19 เป็นช่วงที่ตลาดเล็กลงเนื่องจากโรงแรมปิดตัวไปจำนวนมาก แต่หลังจากการท่องเที่ยวกลับมาฟื้น หลายโรงแรมกลับมาเปิดใหม่อีกครั้ง และเชื่อว่าตลาดปีนี้จะกลับมาเป็นขาขึ้น