กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เผยถึงการหารือกับรัฐบาลศรีลังกา เกี่ยวกับโครงการเงินกู้พิเศษเพื่อบรรเทาวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ว่า ยังอยู่ใน ‘ระยะเริ่มต้น’ เเละข้อตกลงใดๆก็ตาม จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าภาระหนี้ของประเทศต้องนำสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
ศรีลังกา กำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดในรอบ 74 ปี นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ เมื่อปี 2491
เมื่อสัปดาห์ที่เเล้ว ศรีลังกา เพิ่งประกาศระงับการชำระคืนหนี้ต่างประเทศชั่วคราว เพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระครั้งใหญ่ โดยเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่จำกัดนั้น จะต้องเก็บไว้ใช้สำหรับการนำเข้าสินค้าที่จำเป็น อย่างเช่น พลังงานเชื้อเพลิง อาหารเเละยารักษาโรค
Masahiro Nozaki หัวหน้าคณะผู้แทน IMF ศรีลังกาส่งแถลงการณ์ทางอีเมลถึงสำนักข่าว Reuters ระบุว่า เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา Kristalina Georgieva ผู้อำนวยการ IMF ได้พูดคุยกับตัวเเทนรัฐบาลศรีลังกาถึงทางเลือกในการให้กู้ยืมและแผนนโยบาย
“โดยโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก IMF เพื่อช่วยเหลือศรีลังกานั้น จะถูกออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาดุลการชำระเงินแบบเฉียบพลัน และช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศกลับมาการเติบโตอย่างยั่งยืนอย่างเร็วที่สุด”
IMF มีความกังวลอย่างมาก เกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจและความยากลำบากของประชาชนในศรีลังกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเปราะบางและกลุ่มคนยากจน
อย่างไรก็ตาม หนี้สาธารณะของศรีลังกานั้นไม่ยั่งยืน และประเทศจำเป็นต้องดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อฟื้นฟูความยั่งยืนของหนี้ ก่อนที่จะได้รับการกู้ยืมใดๆ จาก IMF รวมถึงกองทุน Rapid Financing Instrument (RFI)
นอกจากนี้ การฟื้นฟูเศรษฐกิจอาจต้องทำการปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะใหม่ทั้งหมด ซึ่งในกรณีของศรีลังกาอาจต้องขอความร่วมมือจาก ‘จีน’ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุด
ที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศใช้เงินกู้ RFI แบบมีเงื่อนไขต่ำ เพื่อช่วยเหลือประเทศต่างๆ ในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และได้ให้เงินกู้ดังกล่าวเพื่อบรรเทาปัญหาการชำระหนี้ หลังเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความขัดแย้ง และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกต่ำ
โดยการออกแบบเงินกู้ IMF ของศรีลังกา ซึ่งรวมถึงเป้าหมายของโครงการและเงื่อนไขต่างๆ จะต้องได้รับการตกลงผ่านการอภิปรายอย่างกว้างขวางระหว่างรัฐบาลและ IMF
สำหรับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของศรีลังกา ณ สิ้นเดือนมีนาคม อยู่ที่ 1,930 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่า ‘น้อยมาก’ และมีกำหนดต้องชำระหนี้ต่างประเทศที่ครบกำหนดในปีนี้ที่ราว 4,000 ล้านดอลลาร์ รวมถึงพันธบัตรรัฐบาลมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ ที่จะครบกำหนดในเดือนกรกฏาคมนี้
- ‘ศรีลังกา’ ระงับชำระหนี้ต่างประเทศชั่วคราว เก็บเงินทุนสำรองนำเข้าพลังงาน-สินค้าจำเป็น
- ‘หนี้รัฐบาล’ ทั่วโลกพุ่งไม่หยุด โควิด-เงินเฟ้อ-สงคราม กดดันหลายประเทศต้องกู้เพิ่ม
ที่มา : Reuters