IMF ชี้ การเข้ามาของ AI กระทบตำแหน่งงานมากถึงเกือบ 40% ทั่วโลก ประเทศพัฒนาแล้วได้รับผลกระทบมากสุด

ภาพจาก Shutterstock
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ออกผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการนำ AI มาใช้ โดยพบว่าการเข้ามาของเทคโนโลยีดังกล่าวกระทบตำแหน่งงานมากถึงเกือบ 40% ทั่วโลก โดยประเทศพัฒนาแล้วได้รับผลกระทบมากสุด และผลกระทบดังกล่าวยังอาจสร้างช่องว่างในเรื่องรายได้อีกด้วย

IMF ได้ออกผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการเข้ามาของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยมองว่าผลกระทบนั้นมีต่อตำแหน่งงานมากถึง 40% ทั่วโลก ซึ่งกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และยังมีผลต่อช่องว่างรายได้ที่อาจเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

ผลการศึกษาของ IMF ชี้ว่า AI มีผลกระทบเกือบ 40% ของการจ้างงานทั่วโลก แต่ในผลการศึกษายังมองว่า AI ยังกระทบต่องานที่ต้องใช้ทักษะสูง ซึ่งจะมีผลทำให้ประเทศที่พัฒนาแล้วเผชิญกับความเสี่ยงมากขึ้นถึง 60% จาก AI แต่ก็ยังมอง่ว่าประเทศเหล่านี้มีโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จาก AI มากกว่า

ขณะที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนานั้นการเข้ามาของ AI มีผลกระทบต่อตำแหน่งงานตั้งแต่ 26-40% ซึ่ง IMF มองว่าในระยะยาวนั้นอาจสร้างช่องว่างความไม่เท่าเทียมกันระหว่างประเทศให้แย่ลงไปอีก ถ้าหากไม่มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหรือแม้แต่การพัฒนาทักษะของประชาชน

รายงานฉบับดังกล่าว IMF ยังได้จัดทำดัชนีประเมินความพร้อมของ 125 ประเทศ โดยผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าประเทศที่ร่ำรวย หรือกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมถึงประเทศตลาดเกิดใหม่บางประเทศ มีแนวโน้มที่จะมีความพร้อมสำหรับการนำ AI มาใช้มากกว่าประเทศที่มีรายได้น้อยกว่า

ดัชนีดังกล่าวที่ IMF จัดทำขึ้นมา ชี้ว่า ประเทศสิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และเดนมาร์กมีคะแนนสูงสุดในดัชนีดังกล่าว แสดงให้เห็นความพร้อมในการนำ AI มาใช้ ขณะที่ประเทศไทยนั้นมีความพร้อมในอันดับที่ 15 ซึ่งดีกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

ไม่ใช่แค่การเข้ามาของ AI จะมีผลกระทบต่อระดับประเทศเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบต่อแรงงานที่มีอายุแตกต่างกันด้วย โดยผลการศึกษาของ IMF ชี้ว่า AI สามารถช่วยให้แรงงานที่มีอายุน้อยนั้นเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตได้เร็วขึ้น ตรงข้ามกับในขณะที่แรงงานที่มีอายุมากกว่าอาจประสบปัญหาในการปรับตัว

ในด้านของรายได้นั้นผลการศึกษายังชี้ว่าแรงงานที่มี AI ช่วยเสริมการทำงานที่มีรายได้สูงนั้นอาจทำให้ช่องว่างกับแรงงานที่ไม่มี AI ช่วยเสริมการทำงานแตกต่างกัน ซึ่งอาจสร้างความไม่เท่าเทียมเพิ่มมากขึ้น IMF ชี้ว่ารัฐบาลหรือผู้กำหนดนโยบายจะต้องออกมาตรการจัดการในเชิงรุก เพื่อที่ปัญหาดังกล่าวจะไม่สร้างแรงกดดันในสังคม เช่น การฝึกอบรมให้ความรู้ หรือแม้แต่สวัสดิการด้านสังคม เป็นต้น