ทำอย่างไรเมื่อผู้บริโภคไม่เชื่อใจแบรนด์ในเรื่องของ Sustainability

บทความโดย Kantar

ประเด็นเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อม มีความสัมพันธ์กับผู้บริโภคและแบรนด์อย่างมากในปัจจุบัน ด้วยความรวดเร็วของการสื่อสาร และการเกิดขึ้นของ Social Community ทำให้เกิดพลังแห่งการเคลื่อนไหว เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ เพื่อให้โลกนี้ดียิ่งขึ้น

เรื่องของ Sustainability คือ New Normal สำหรับสังคมยุคใหม่ 65% ของผู้คนในโลกมองว่า เขาสามารถสร้างความแตกต่างในโลกใบนี้ผ่านการกระทำ และการตัดสินใจของเขา และ 50% พร้อมที่จะให้เวลาและเงินทุน เพื่อสนับสนุนแบรนด์ที่ทำความดี (Kantar Global Sustainability, Sector Report 2021) ขณะที่ผู้บริโภคมีความตื่นตัว ความคาดหวังต่อแบรนด์ก็สูงขึ้นด้วย 63% ของผู้บริโภคในโลกบอกว่า Sustainability เป็นความรับผิดชอบของแบรนด์มากกว่าผู้บริโภค

เราเห็นได้ชัดเจนว่า แบรนด์ต่างๆ มีการนำเอาประเด็นของสังคม และสิ่งแวดล้อม มาเป็นส่วนหลักของการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น Unilever, Nestle, Nike, L’Oréal, ปตท, เจริญโภคภัณฑ์ เป็นต้น ผ่านทางกิจกรรม Campaign ต่างๆ รวมถึงการออกผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม ความทุ่มเทของแบรนด์ในการทำความดีเพื่อสังคม อาจจะยังไม่สามารถทำให้ผู้บริโภคประทับใจ หรือมีความรู้สึกร่วมอย่างเต็มที่ เพราะยังลังเลสงสัยในเจตนารมณ์ และความจริงใจของแบรนด์ การศึกษาของคันทาร์ระบุว่า 69% ของผู้บริโภคในโลก เชื่อว่าแบรนด์ทำความดีเพื่อผลประโยชน์ของแบรนด์เท่านั้น

แบรนด์ต่างๆ มีการสื่อสารเรื่องของ Sustainability มากขึ้น เพื่อ engage กับผู้บริโภค ตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา โฆษณาในโลกมีการพูดถึงเรื่องของสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นถึง 3 เท่า และในปี 2021 มีโฆษณาที่พูดถึงเรื่องนี้เพิ่มขึ้นถึง 6% ปัญหา คือมีโฆษณาเยอะขึ้น แต่คนเชื่อในแบรนด์น้อยลงว่ามีความตั้งใจจริงที่จะทำความดีแล้ว เราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร

คำตอบคือ ต้องเริ่มจากการตั้งคำถามว่า เราสื่อสารกับผู้บริโภคได้ดีพอหรือยัง หากเจตนาดีและสื่อสารไม่ตรงจุด เราจะไม่สามารถขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ และ engage กับผู้บริโภคได้

สิ่งสำคัญมากๆ คือ เราต้องเข้าใจจริตของผู้บริโภค ว่าอะไรที่ส่งผลต่ออารมณ์ และความรู้สึกของเขา และต้องสื่อสารที่ทำให้เกิดความรู้สึกในแง่บวก คือสร้างแรงบันดาลใจกระตุ้นให้ผู้คนรู้สึกมั่นใจ ตื่นเต้นที่จะร่วมกับแบรนด์ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ

Photo : Shuterstock

คันทาร์ได้ลองทดสอบโฆษณาที่มีในตลาด และดูว่าให้ความรู้สึกเป็นบวกหรือลบสำหรับผู้บริโภค โดยใช้การวิเคราะห์ปฏิกิริยาของสมอง (Neuroscience) เพื่อสะท้อนอารมณ์ ความรู้สึกของผู้คนเมื่อดูโฆษณา เราพบว่าโฆษณาที่ประสบความสำเร็จ คือโฆษณาที่ทำให้คนรู้สึกมั่นใจ มีแรงบันดาลใจ ถึงแม้ว่าจะเป็นประเด็นปัญหาที่หนักหน่วงก็ตาม ในขณะที่โฆษณาที่ทำให้รู้สึกกังวล รู้สึกผิดนั้น ทำให้คนไม่รู้สึก engage กับแบรนด์

หากแบรนด์ต้องการสร้างแรงบันดาลใจ และสื่อสารเรื่องของ Sustainability ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แบรนด์ต้องให้ความสำคัญกับ Emotional Connection ในการสื่อสาร เพราะเรื่องของสังคม และสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของ “ใจ” นอกเหนือจากการกระทำ