โลกยุคใหม่เริ่มทดลอง “ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์” โดยยังให้เงินเดือนปกติ เพราะพบว่าประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น พนักงานมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และทำให้บริษัทที่มีนโยบายนี้สามารถดึงดูดทาเลนต์เข้าสู่องค์กรได้มากกว่า
การทดลองในหลายประเทศหรือหลายบริษัทเห็นผลเชิงบวกจากการ “ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์” ยกตัวอย่างเช่น ปีก่อนนี้ นักวิจัยใน “ไอซ์แลนด์” พบว่าการทำงาน 4 วันช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและประสิทธิภาพการทำงานได้จริง
ผลการทดลองเหล่านี้ทำให้บางประเทศหยิบไปใช้เป็นนโยบายของรัฐ เช่น “สก็อตแลนด์” ที่มีแคมเปญใช้งบลงทุน 10 ล้านปอนด์อุดหนุนให้บริษัทต่างๆ ทดลองการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์มาตั้งแต่ปีก่อน ส่วน “ไอร์แลนด์” เริ่มทดลองการทำงาน 4 วันเป็นเวลา 6 เดือนในปีนี้ ขณะที่ “สเปน” ก็เริ่มทดลองการทำงาน 32 ชั่วโมงต่อสัปดาห์แล้ว โดยกรณีของสเปนมุ่งหมายเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวจากโควิด-19
ในระดับองค์กรเอกชนทั่วโลกนั้น ความสนใจในการให้สิทธิประโยชน์พนักงานทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์เริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากผลทดลองของ Microsoft ประจำประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2019 พบว่า การทดลองนี้ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น 40% ทำให้องค์กรอื่นสนใจทดลองบ้าง
ยกตัวอย่างเช่นบริษัท Canon ประจำประเทศอังกฤษ ก็เริ่มมีการทดลองทำงาน 4 วันแล้ว ส่วนบริษัทอย่าง Kickstarter และ Bolt ในสหรัฐฯ ก็เริ่มแล้วเช่นกัน รวมถึงบริษัท Unilever สาขานิวซีแลนด์ก็ประกาศทดลองทำงาน 4 วัน หยุด 3 วัน
ในบริษัทที่การทำงาน 4 วันไม่ใช่แค่การทดลอง แต่นำมาใช้ถาวรแล้ว เช่น ธนาคาร Atom ในอังกฤษ ที่มีพนักงานอยู่ 430 คน ธนาคารพบว่า ทันทีที่บริษัทประกาศต่อสาธารณะว่าบริษัททำงานแค่ 4 วัน รวม 34 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยให้หยุดเพิ่มในวันจันทร์หรือวันศุกร์ ใบสมัครเข้าร่วมงานก็พุ่งขึ้นทันที 500%
พนักงานเครียดน้อยลง มีเวลากับครอบครัวมากขึ้น
จากการสำรวจของ Henley Business School ทำการสำรวจพนักงาน 2,000 คน และผู้นำ 500 คนในบริษัทต่างๆ ของอังกฤษ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2021 พบว่า 78% ของนายจ้างตอบว่าลูกจ้างของพวกเขารู้สึก “เครียดน้อยลง” ในที่ทำงาน เมื่อทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์
70% ของพนักงานมองว่าการทำงานที่สั้นลงในแต่ละสัปดาห์ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น และมี 2 ใน 3 ที่เห็นว่าสุขภาพจิตของตนดีขึ้นเมื่อการทำงานยืดหยุ่นมากขึ้นแบบนี้ รวมถึงมี 69% ที่เชื่อว่าชีวิตครอบครัวของตนจะดีขึ้นเมื่อทำงานน้อยลง
เหตุที่การทำงานน้อยวันลงไปเกี่ยวกับชีวิตครอบครัว เพราะผู้ตอบแบบสอบถาม 66% คิดว่าจะใช้วันหยุดที่เพิ่มขึ้นอยู่กับครอบครัว และคำตอบนี้เป็นคำตอบหลักของคนทุกวัยเลยทีเดียว ทำให้เห็นการจัดลำดับความสำคัญใหม่ของคนเราหลังจากเผชิญวิกฤตโควิด-19
รองลงมามี 54% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่คิดว่าจะใช้เวลาวันหยุดไปช้อปปิ้ง ซึ่งน่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้ด้วย นอกจากนี้มีคนประมาณ 25% ที่คิดว่าจะใช้เวลาวันหยุดไปทำงานการกุศลหรืออาสาสมัคร
บางส่วนของพนักงานอาจมองว่าการได้วันหยุดเพิ่ม ไม่ได้มีไว้สำหรับทำกิจกรรมอื่น แต่อาจจะนำไปใช้ทำงานเสริม เพราะ 37% ของพนักงานเห็นว่าการได้ทำงานหลายๆ งาน มีนายจ้างหลายคน เป็นวิถีชีวิตการทำงานที่ “เป็นที่น่าปรารถนา”
งานวิจัยยังพบว่า 68% ของฝั่งนายจ้างรู้สึกว่าการทำงานที่ยืดหยุ่นช่วยดึงดูดทาเลนต์เข้ามาสมัครงาน ซึ่งการทำงาน 4 วันเป็นหนึ่งในคุณสมบัติสำคัญ ร่วมกับคุณสมบัติอื่นๆ เช่น วันปลอดการประชุม
โดยสรุปแล้ว โลกยุคใหม่ทำให้วิถีการทำงานเปลี่ยน มุมคิดของพนักงานเปลี่ยนไป และนายจ้างควรจะลองพิจารณาการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์มาเป็นตัวช่วยในการดึงดูดทาเลนต์ให้อยากทำงานกับองค์กรมากขึ้น