“ถ้าไม่ขายตอนนี้ ก็อาจพลาดโอกาสสำคัญ” นั่นคือเหตุผลที่ทำให้“ทอม ศรีวรกุล” ประกาศขายหุ้น ที่เขาถืออยู่ใน Ensogo.com เว็บไซต์ Social Commerce ให้กับ Livingsocial.com สหรัฐอเมริกา คู่แข่งสำคัญของ Grouponหลังจากที่เขาใคร่ครวญอยู่นานถึง 6 เดือนว่าจะขายดีหรือไม่
“ทอม”ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัทเอ็นโซโก้ จำกัด บอกว่าเขาเพิ่งตั้งเอ็นโซโก้ได้เพียงประมาณ 1 ปี จากการตั้งบริษัทในฮ่องกงชื่อ”เอ็นโซโก้ โฮลดิ้งส์” และเข้ามาถือหุ้นเอ็นโซโก้ในไทย 49% ซึ่งลีฟวิ่งโซเชี่ยลเข้ามาถือในส่วนของ 49% ทั้งหมด
การขายหุ้นครั้งนี้ถือเป็นการขายกิจการที่เร็วมากชนิดทำลายสถิติสำหรับ”ทอม” เลยทีเดียว เขาบอกว่าหากไม่ขายตอนนี้ อาจทำให้เอ็นโซโก้สู้กับคู่แข่งไม่ได้ แม้ปัจจุบันเอ็นโซโก้จะมีธุรกิจในไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ และกำลังเติบโต แต่อนาคตไม่แน่นอน เพราะจะมีบริษัทต่างชาติเข้ามาซื้อกิจการลักษณะนี้อีกมาก เมื่อมีลีฟวิ่งโซเชี่ยลมาถือหุ้นจะทำให้เอ็นโซโก้มีเงินทุน เทคโนโลยี และการขยายเครือข่ายดีลคูปองในต่างประเทศ
เทคโนโลยีใหม่ที่จะเปิดให้บริการภายใน 3 เดือนนับจากนี้คือการซื้อขายคูปองผ่านสมาร์ทโฟน เช่น หากคุณเดินไปในย่านสีลม และมีแอพพลิเคชั่นเอ็นโซโก้อยู่ ก็จะมีข้อมูลแจ้งให้คุณทราบทันทีว่าในบริเวณนั้นมีคูปองลดราคาที่น่าสนใจสำหรับคุณอะไรบ้าง
นอกจากนี้ยังได้เงินทุนเพื่อทำตลาดอีกประมาณ 105 ล้านบาท เพื่อซื้อสื่อโปรโมทให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย Mass ทั้งผ่านทีวีซี สื่อนอกบ้าน สื่อรถไฟฟ้า จากเดิมที่ปีที่ผ่านมาใช้งบเพียง 20 ล้านบาท
ส่วนการขายดีลคูปองจากต่างประเทศนั้นทำให้เอ็นโซโก้มีเครือข่ายกว้างขึ้นเพราะลีฟวิ่งโซเชี่ยลกำลังขยายธุรกิจไปทั่วโลก ที่มีอยู่แล้วใน 21 ประเทศ ซึ่งหมายถึงลูกค้าคนไทยก็สามารถซื้อคูปองลดราคาที่ตัวเองสนใจได้จากทั่วโลกผ่านเอ็นโซโก้
ปัจจุบันคูปองส่วนลดสินค้าที่ได้รับความสนใจจากลูกค้าในอันดับต้น ๆ คือ ร้านอาหาร ความงาม เครื่องสำอาง ทอ่งเที่ยว และกิจกรรม ต่อไปจะเพิ่มคูปองสินค้าสำหรับกลุ่มครอบครัว
ปี 2553 Ensogo.com มีสมาชิก 400,000 คน(ในเอเชียมี 800,000 คน) ปีที่แล้วมอบส่วนลดให้ลูกค้าไปทั้งหมด 750 ล้านบาท มีพันธมิตรสินค้า 800 แบรนด์ ใช้งบซื่อสื่อเพื่อโปรโมท 20 ล้านบาท มีการบริจาคเงินเพื่อสังคม 6 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3% ของรายได้
ปี 2554 ตั้งเป้าสมาชิก 1 ล้านคน มีพันธมิตรสินค้า 2,500 แบรนด์ งบโปรโมท 105 ล้านบาท และบริจาคเงินเพื่อสังคม 17 ล้านบาท
ธุรกิจนี้กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ก็มีคู่แข่งจำนวนมาก โดยเฉพาะจากต่างประเทศ ที่มีเงินทุนและเครือข่ายกว้าง ได้เปรียบกว่ารายเล็ก การขายกิจการจึงเริ่มเกิดขึ้น อย่างก่อนหน้านี้ tarad.com เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ ของ “ป้อม ภาวุธ พงษ์วิทยภาณุ” ที่ก่อตั้งมาได้ประมาณ 2 ปี ก็ขายให้กับ Rakuten จากญี่ปุ่นด้วยมูลค่า 112 ล้านบาท