รำคาญใช่ไหม? Chrome จะบล็อกคำขอส่ง “แจ้งเตือน” จากเว็บไซต์ที่เราไม่สนใจอัตโนมัติ

Google Chrome
(Photo: Shutterstock)
Google อัปเดตฟีเจอร์ด้านความปลอดภัยใหม่ใน Chrome ใช้เทคโนโลยี “แมชชีน เลิร์นนิ่ง” บล็อกคำขอส่ง “แจ้งเตือน” (notifications) จากเว็บไซต์ที่ผู้ใช้ไม่สนใจ เพื่อลดความรำคาญ และลดโอกาสฟิชชิ่ง/ส่งมัลแวร์จากมิจฉาชีพ

เวอร์ชันใหม่ของ Chrome จะมีการนำเทคโนโลยี “แมชชีน เลิร์นนิ่ง” เข้ามาใช้งาน และเป้าหมายแรกคือการบล็อกคำขอส่ง “แจ้งเตือน” (notifications) จากเว็บไซต์ต่างๆ เพราะดูจะเกิดโทษมากกว่าประโยชน์ของผู้ใช้งาน

ถึงแม้ว่าเว็บไซต์บางส่วนโดยเฉพาะเว็บไซต์ข่าว จะมีการส่งแจ้งเตือนที่มีประโยชน์เพื่ออัปเดตข่าวที่น่าสนใจ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วมักเป็นแจ้งเตือนที่น่ารำคาญ และผู้ใช้มักจะหงุดหงิดใจตั้งแต่มี pop-up ขึ้นมาเพื่อขอส่งแจ้งเตือนแล้วด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ ยังมีมิจฉาชีพบางส่วนที่อาศัยแจ้งเตือนเหล่านี้เป็นตัวส่งมัลแวร์ให้ดาวน์โหลด หรือส่งหน้าไซต์สำหรับฟิชชิ่งข้อมูล หากผู้ใช้เผลอกดเข้าไปก็อาจมีอันตรายได้

“ในทางหนึ่ง การแจ้งเตือนจากเว็บไซต์สามารถช่วยอัปเดตข่าวสารที่คุณสนใจได้ แต่ในอีกทางหนึ่ง การขออนุญาตแจ้งเตือนเหล่านี้เป็นการสร้างความรำคาญ” บล็อกโพสต์ชี้แจงจาก Google ระบุ

แมชชีน เลิร์นนิ่งของบริษัทจะมาช่วยกลั่นกรองว่าการแจ้งเตือนจากเว็บไซต์ประเภทไหนที่ผู้ใช้รายนั้นน่าจะไม่สนใจ และจะบล็อกให้อัตโนมัติ ทั้งหมดนี้จะเป็นการเก็บข้อมูลที่ตัวเครื่องของผู้ใช้ ทำให้ไม่มีการส่งดาต้าไปเก็บที่เซิร์ฟเวอร์ของ Google

Google Chrome
แมชชีน เลิร์นนิ่งช่วยให้ Google Chrome บล็อกแจ้งเตือนที่น่าจะเป็นอันตรายได้มากขึ้น 2.5 เท่า

ไม่เพียงแต่แจ้งเตือนที่น่ารำคาญ ก่อนหน้านี้ไม่นาน Google ก็ใช้แมชชีน เลิร์นนิ่งในฟีเจอร์ ‘Safe Browsing’ มาแล้ว โดยเทคโนโลยีนี้ทำให้ Chrome สามารถตรวจจับเว็บไซต์ที่เป็นอันตรายและการฟิชชิ่งได้มากขึ้น 2.5 เท่า และจะมีการ ‘alert’ หรือบล็อกให้ผู้ใช้ทราบ

Google ยังจะใช้แมชชีน เลิร์นนิ่งช่วยให้ผู้ใช้ใช้งาน Chrome ได้สะดวกขึ้น ตัวอย่างเช่น การปรับแต่ง toolbar ด้านบนให้มีปุ่มที่คุณต้องใช้ในแต่ละช่วงเวลาของวัน หากช่วงเช้าแมชชีนพบว่าคุณมักจะแชร์ลิงก์ต่างๆ บ่อยครั้ง toolbar ก็จะปรากฏปุ่มแชร์ให้กดได้สะดวก พอตกบ่ายเมื่อแมชชีนเรียนรู้พฤติกรรมว่าคุณมักจะใช้ฟังก์ชันคำสั่งเสียง ก็จะมีปุ่มคำสั่งเสียงขึ้นมาอัตโนมัติ

ตัวอย่างการเพิ่มปุ่มอัตโนมัติตามพฤติกรรมผู้ใช้งาน

“เป้าหมายของเราคือการสร้างเบราว์เซอร์ที่ช่วยเหลือผู้ใช้ได้ดีอย่างต่อเนื่องและจริงใจ และเราตื่นเต้นมากกับความเป็นไปได้ที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีแมชชีน เลิร์นนิ่ง” Google อธิบาย

Source