สายตาของนายห้างเทียม โชควัฒนา ที่มองดูเพ็ญนภา ธนสารศิลป์ เมื่อปี 2524 คงมองเห็นความสามารถของเธออย่างชัดเจน เพราะบุคคลที่นายห้างเทียมเลือก พิสูจน์ให้เห็นในเวลาต่อมาแล้วว่าสามารถทำงานได้อย่างดี และประสบความสำเร็จ
เพ็ญนภา เข้ามาทำ Brand มาม่าตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งความสำเร็จของมาม่านอกจากองค์ประกอบโดยรวมของเครือสหพัฒน์แล้ว การวางกลยุทธ์ของมาม่าที่เพ็ญนภากำหนดไว้ ก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน
เมื่อมาม่าก้าวขึ้นมาเป็นหมายเลข 1 ของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ด้วยการออกรสชาติใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง แม้ว่ารสที่ขายดีที่สุดคือรสหมูสับ และต้มยำก็ตาม การออกรสชาติใหม่ๆ เป็นเหมือนการกระตุ้นผู้บริโภคให้เกิดการซื้อถี่ขึ้น เพราะต้องการลองรสใหม่ จนเมื่อถึงช่วงหนึ่งก็ค่อยๆ ถอดออกจากตลาด
หากมองในแง่ของการตลาดด้านของสหพัฒน์ รสชาติใหม่ๆ สามารถคิดแคมเปญ หรือโปรโมชั่นได้ง่าย แต่หากมองในแง่การผลิตจากโรงงาน คือไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์จะมีปัญหาหากเพิ่มรสชาติใหม่ๆ ก็ต้องปรับไลน์การผลิต ทั้งวัตถุดิบ เครื่องปรุงต่างๆ แพ็กเกจจิ้ง ที่ต้องเพิ่มเข้ามา นั่นคือรายละเอียดที่ต้องคำนวณเรื่องต้นทุน
ในขณะที่รสชาติใหม่ออกมา ปรับกระบวนการผลิต และวัตถุดิบแล้ว แต่ราคาขายยังอยู่ที่ซองละ 5-6 บาท ในแง่ของความคุ้มค่าแล้วมีน้อยมาก เพราะราคาขายเท่านี้ต้องทดแทนด้วยยอดขายที่มากมาย
รสชาติใหม่ๆ ที่ออกมา ไม่ได้หมายความว่าจะมียอดขายถล่มทลายเหมือนรสชาติยอดนิยม
สิ่งที่มาม่าเลือกทำในช่วง 5 ปีหลังคือการไปทำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปพรีเมียมแทน ตั้งแต่ มาม่า โอเรียนทัล คิตเชน ที่อิงกระแส K-pop เต็มตัว การทำตลาดบนคือ ได้กำไรต่อซองที่สูงขึ้น และเป็นตลาดใหม่ที่คู่แข่งมีแค่แบรนด์นำเข้า ซึ่งยังไม่แข็งแรงเท่าไหร่ ในขณะเดียวกัน คู่แข่งอย่างไวไว และยำยำ ก็ไม่ได้เข้ามาเล่นตลาดบะหมี่พรีเมียมเช่นกัน
ในอดีตที่ไม่มีคู่แข่งที่แข็งแรง การทำงานร่วมกันระหว่างฝ่ายผลิตและฝ่ายการตลาดก็ยังไม่มีปัญหาเท่าไหร่ เพราะแรงกดดันมีน้อย แต่เมื่อมาม่าเริ่มสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับคู่แข่ง ทั้ง 2 ฝ่ายก็เริ่มมองไม่ตรงกัน
เครือสหพัฒน์ ก็กำหนดเป้าหมายทิศทางของสินค้าตามแนวทางที่ทำมา และให้ฝ่ายผลิตทำตามออเดอร์ที่ได้รับไป โดยไม่ต้องรับรู้เรื่องการตลาดทั้งหมด ซึ่งพิพัฒ พะเนียงเวทย์ ผู้บริหารของไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์เองก็เคยบอกในงานแถลงข่าวหลายครั้งว่า เขาบอกได้ก็มีแค่ว่า ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น หรือลดลงเท่าไร่ จะต้องขึ้นราคาหรือไม่ ส่วนข้อมูลอื่นๆ ไม่ทราบ
การปรับเปลี่ยนโครงสร้างครั้งใหญ่ในรอบ 30 ปี ของมาม่า เป็นทางเลือกเดียวที่ต้องทำ และต้องทำโดยเร็ว แม้ว่าการเปลี่ยนครั้งนี้ทุกฝ่ายจะต้องเผชิญกับความเจ็บปวดก็ตาม