โซเชียลมีเดีย TikTok เป็นแอปฯ ที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก โดยใช้เวลาเพียง 5 ปีในการดึงดูดผู้ใช้แตะ 1,000 ล้านคน และไม่ได้มีฐานผู้ใช้เฉพาะใน “จีน” แต่สามารถบุกไปเอาชนะได้ถึงถิ่นโลกตะวันตก อย่างไรก็ตาม ปัญหา “การเมืองระหว่างประเทศ” อาจจะเป็นอุปสรรคสำคัญสกัดดาวรุ่งแอปฯ นี้จนสูญเสียผู้ใช้หรือชะลอการเติบโต
ย้อนไปเมื่อเดือนกันยายน 2016 แอปพลิเคชันชื่อ “A.me” ถือกำเนิดขึ้นในจีนหลังจากการพัฒนาไม่ถึง 200 วัน และหลังจากเปิดตัวเพียง 3 เดือน แอปฯ มีการรีแบรนด์เปลี่ยนชื่อเป็น “Douyin” ใช้เวลาเพียงปีเดียวในการกวาดผู้ใช้ 100 ล้านคนในจีน มีคนเข้าชมวันละมากกว่า 1,000 ล้านครั้ง
หลังจากนั้นบริษัท ByteDance ตัดสินใจออกแอปฯ ในเวอร์ชันสากลเมื่อปี 2017 ภายใต้อีกชื่อหนึ่งคือ “TikTok” ใช้เวลาเพียง 5 ปีในการไล่ตามโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ของโลกจนทัน ในแง่ของความนิยมและผลกระทบต่อสังคม
แอปฯ จีนที่เอาชนะตลาดโลกได้
ความโดดเด่นของ TikTok มาจากการเป็นโซเชียลมีเดียแบบคลิปวิดีโอสั้น เริ่มต้นความนิยมมาจากคลิปลิปซิงก์และการเต้น ก่อนจะขยายความยาวของวิดีโอให้สามารถลงได้ยาวขึ้นในปัจจุบัน
แม้จะเกิดมาทีหลัง YouTube ถึง 12 ปี แต่ TikTok ก็ไล่กวดได้ทันแล้วในโลกตะวันตก โดยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2021 แอปฯ TikTok มีเวลาการเข้าชมต่อเดือนต่อคน (Monthly Screen Time) มากกว่า YouTube ไปแล้วในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร (ข้อมูลจาก App Annie)
- ในสหรัฐฯ TikTok มีการเข้าชม 24 ชั่วโมงต่อเดือนต่อคน ขณะที่ YouTube มีการเข้าชม 22.6 ชั่วโมงต่อเดือนต่อคน
- ในสหราชอาณาจักร TikTok มีการเข้าชม 26 ชั่วโมงต่อเดือนต่อคน ขณะที่ YouTube มีการเข้าชม 16 ชั่วโมงต่อเดือนต่อคน
ปกติแอปฯ จากจีนมักจะไม่ประสบความสำเร็จในตลาดโลก ก่อนหน้า TikTok มีเพียงบางแอปฯ ที่ทำได้ เช่น WeChat จาก Tencent หรือแอปฯ ร้องลิปซิงก์ชื่อ Musical.ly ของ ByteDance ซึ่งได้ผู้ใช้ไป 80 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐฯ (และถูกนำมาเป็นฟีเจอร์สำคัญใน TikTok)
ขณะที่แอปฯ TikTok กลายเป็นตำนานการเติบโตบทใหม่ของจีนในระดับโลก โดยในปี 2019-2020-2021 แอปฯ นี้ขึ้นแท่นมียอดดาวน์โหลดสูงที่สุดในโลก (ข้อมูลจาก Apptopia)
ตกเป็นเป้าการโจมตี
TikTok ก็เหมือนกับโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย นั่นคือมีเรื่องราวตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของตนเอง
เริ่มจากวันที่ 29 มิถุนายน 2020 รัฐบาลอินเดียสั่งแบนแอปฯ ที่เกี่ยวข้องกับประเทศจีน 58 รายการ เช่น WeChat, PUBG, UC Browser และรวมถึง TikTok ด้วย โดยทางกระทรวงอิเล็กทรอนิกส์และไอทีของอินเดียรายงานว่าที่ต้องแบนแอปฯ จีนเหล่านี้เพราะ “เป็นผลเสียหายต่ออธิปไตยและความมั่นคงของอินเดีย การป้องกันประเทศอินเดีย ความปลอดภัยของรัฐและการจัดการสาธารณะ”
ในขณะที่ถูกแบนนั้น TikTok มีผู้ใช้ในอินเดีย 190 ล้านคน เป็นประเทศอันดับสองรองจากจีนที่มีผู้ใช้มากที่สุด
การแบนมีผลอย่างถาวรตั้งแต่เดือนมกราคม 2021 และทำให้ TikTok ต้องเลย์ออฟพนักงานในอินเดียทั้งหมด 2,000 คน
ในปี 2020 เช่นกัน สหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณแบน TikTok ผ่านคำร้องขอของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีในขณะนั้น ทางบริษัท ByteDance จึงเริ่มวางแผนจะขายหุ้นบางส่วนของบริษัทฝั่งสหรัฐฯ ให้กับผู้ถือหุ้นอเมริกัน เพื่อป้องกันการถูกแบน
ในเดือนมิถุนายน 2021 เหมือนว่าสถานการณ์ของ TikTok จะดีขึ้น เมื่อ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนใหม่เซ็นคำสั่งพิเศษให้ปลดแบนออกไปก่อน แต่สั่งใหม่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ไปสืบสวนว่าแอปฯ มีความเสี่ยงจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติสหรัฐฯ หรือไม่
การสืบสวนกินเวลาหนึ่งปี จนถึงเมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2022 หรือเมื่อสัปดาห์ก่อน มีการเปิดเผยจดหมายจาก เบรนดัน คาร์ หัวหน้าคณะกรรมการกลางด้านการสื่อสารสหรัฐฯ (FCC) ส่งถึง Apple และ Google ในเนื้อหามีการกล่าวถึง TikTok ว่าเป็น “เครื่องมือสอดส่องสมัยใหม่ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนตัวและดาต้าที่อ่อนไหวไปจำนวนมาก” ทำให้เขา ร้องขอให้ทั้งสองบริษัท “ถอดถอน” แอปฯ TikTok ออกไปจากร้านค้าของทั้งคู่
ถ้าถูกถอดจากสหรัฐฯ จะกระทบ TikTok แค่ไหน
TikTok ทำสถิติเป็นแอปฯ โซเชียลที่มีผู้ใช้แตะ 1,000 ล้านคนได้ในเวลาเพียง 5.1 ปี เมื่อเทียบกับ Instagram ซึ่งใช้เวลา 7.7 ปี หรือ YouTube ที่ใช้เวลา 8.1 ปี ถือว่าแอปฯ นี้เติบโตได้เร็วมาก
ข้อมูลจาก Company Data ช่วงไตรมาส 4 ปี 2021 ระบุว่า ผู้ใช้งานเป็นประจำต่อเดือน (Monthly Active Users) ของ TikTok ยังตามหลังห่างจากแอปฯ รุ่นพี่อยู่ ดังนี้
- Facebook 2,900 ล้านคนต่อเดือน
- YouTube 2,500 ล้านคนต่อเดือน
- Instagram 2,100 ล้านคนต่อเดือน
- TikTok 1,200 ล้านคนต่อเดือน
แต่อย่าลืมว่า TikTok เป็นน้องใหม่ที่กำลังมาแรงมากๆ และบริษัทคาดว่าจะมีผู้ใช้ประจำพุ่งขึ้นเป็น 1,800 ล้านคนต่อเดือนภายในสิ้นปี 2022
ถ้าหาก TikTok ถูกแบนจากสหรัฐฯ บริษัทจะสูญเสียแค่ไหน? ข้อมูลจาก SensorTower ระบุว่า แอปฯ มีการดาวน์โหลดในสหรัฐฯ ไปแล้ว 321.6 ล้านครั้ง และทำเงินจากการใช้จ่ายในแอปฯ ไป 694.3 ล้านเหรียญ (ประมาณ 24,800 ล้านบาท) นั่นแปลว่า Apple และ Google จะได้ค่าธรรมเนียมไปด้วยราว 208.3 ล้านเหรียญ (ประมาณ 7,400 ล้านบาท) การถอนแอปฯ นี้จึงไม่ได้กระทบแต่บริษัทจีนฝั่งเดียว
ต้องรอดูว่า “การเมืองระหว่างประเทศ” จะกระทบ TikTok เข้าอย่างจังอีกครั้งหรือไม่ หลังจากเคยกระทบมาแล้วในตลาดอินเดีย และแอปฯ ที่เปิดตัวอย่างสวยงามในเวลาเพียง 5 ปี จะมี 5 ปีต่อไปเป็นอย่างไร หากถูกค่ายตะวันตกแบนการใช้งาน