อีก 3 ปี IHG จะมีจำนวนโรงแรมในไทยเพิ่มเป็นเท่าตัว ‘เงินเฟ้อ’ เป็นโจทย์หลักในการฟื้นธุรกิจ

IHG
  • อัปเดตธุรกิจ IHG ปี 2565 สถานการณ์โดยรวมทั่วโลกดีขึ้นมาตั้งแต่ไตรมาสแรก ส่วนในไทยเห็นสัญญาณบวกหลังปลดล็อกไม่ต้องกรอก Thailand Pass เข้าประเทศ
  • นักท่องเที่ยวหลักขณะนี้คือ กลุ่มอินเดีย สิงคโปร์ ยุโรปตะวันตก และอเมริกัน ส่วนครึ่งปีหลังเชื่อว่าจะมีดีมานด์เพิ่มจากกลุ่มเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น
  • IHG ยังคงลงทุนอย่างต่อเนื่องในไทย ปัจจุบันมี 30 แห่งที่บริหาร และจะเพิ่มอีก 35 แห่งภายใน 2-3 ปี ล่าสุดมีการเปิดแบรนด์ใหม่แห่งแรกที่ประเทศไทยคือ “สินธร มิดทาวน์ กรุงเทพฯ วีนแยทท์ คอลเล็คชั่น”
  • “เงินเฟ้อ” จะเป็นปัจจัยสำคัญของปีนี้ ทำให้ต้องบริหารต้นทุนอย่างละเอียด ส่วนผลกระทบต่อนักท่องเที่ยว เชื่อว่าจะยังมีการเดินทาง แต่ด้วยค่าตั๋วเครื่องบินสูง ลูกค้าจะเน้นลองสเตย์ พักขั้นต่ำ 3-4 คืน

“ราจิต สุขุมารัน” กรรมการบริหาร ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเกาหลี IHG อัปเดตธุรกิจของบริษัท ภาพรวมในระดับโลกช่วงไตรมาส 1/2565 รายได้เฉลี่ยต่อห้องที่มี (RevPAR) เพิ่มขึ้น 61% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และคิดเป็นสัดส่วน 82% ของปี 2562 (ก่อนเกิดโควิด-19) นับได้ว่าธุรกิจโรงแรมทั่วโลกมีสัญญาณที่ดีมาตั้งแต่ต้นปี

ส่วนประเทศไทยนั้นไม่สามารถเปิดเผยตัวเลขของ IHG ที่ชัดเจน แต่กล่าวได้ว่าเทรนด์ของประเทศไทยจะฟื้นตามเทรนด์โลก (ไทยเปิดประเทศช้ากว่าฝั่งตะวันตก ทำให้ฟื้นช้ากว่า) โดยตัวเลขรวมทั้งอุตสาหกรรมโรงแรมของไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 มีอัตราการเข้าพัก (Occupancy Rate) ที่ 46% แล้ว และเชื่อว่าหลังการปลดล็อกชาวต่างชาติไม่ต้องกรอก Thailand Pass เพื่อเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา จะทำให้การเดินทางเข้าช่วงครึ่งปีหลังยิ่งมีมากขึ้น

“ราจิต สุขุมารัน” กรรมการบริหาร ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเกาหลี IHG

จากการประเมินของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พบว่า ครึ่งปีแรกมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยแล้ว 2 ล้านคน และคาดว่าจนถึงสิ้นปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยสะสม 9 ล้านคน พร้อมคาดการณ์ปี 2566 อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนคิดเป็นสัดส่วน 80% ของที่เคยมีในปี 2562

นอกจากนี้ ในแง่ของการเป็นตัวเลือกจุดหมายปลายทางท่องเที่ยว จากฐานข้อมูลของ IHG พบว่า จุดหมายปลายทาง 4 แห่งที่ลูกค้ามีการค้นหา (search) ในเว็บไซต์ IHG มากที่สุด คือ กรุงเทพฯ ภูเก็ต พัทยา และเกาะสมุย โดยทั้งหมดนี้ติด Top 10 จุดหมายปลายทางที่มีการค้นหาสูงสุดในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเกาหลี เห็นได้ว่าประเทศไทยยังคงดึงดูดนักท่องเที่ยวให้กลับมา

ส่วนสัญชาตินักท่องเที่ยวที่ค้นหาการเดินทางมาไทยมากที่สุด คือ อินเดีย สิงคโปร์ ยุโรปตะวันตก และอเมริกัน แต่ที่กำลังมาแรงในช่วงครึ่งปีหลัง คือ เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ขณะที่กลุ่มชาวจีนที่เคยเป็นฐานลูกค้าหลักของการท่องเที่ยวไทย ยังต้องรอฝั่งจีนเปิดประเทศอีกครั้ง

 

ไทยเป็นแหล่งลงทุนสำคัญ IHG เปิดโรงแรมเพิ่มเท่าตัวใน 3 ปี

ราจิตยังย้ำถึงการลงทุนของ IHG ในไทยด้วยว่า บริษัทเล็งเห็นความสำคัญของประเทศไทยตลอดมา ปัจจุบันบริษัทมีการบริหารโรงแรมในไทยอยู่ 30 แห่ง และมีแผนที่จะเปิดโรงแรมเพิ่ม 35 แห่งภายใน 2-3 ปีข้างหน้า นั่นคือพอร์ตของ IHG ในไทยจะขยายเป็นเท่าตัว

สินธร มิดทาวน์ กรุงเทพฯ วีนแยทท์ คอลเล็คชั่น

ล่าสุดบริษัทเพิ่งมีการเปิดตัวแบรนด์ใหม่ครั้งแรกในไทยและในเอเชีย และถือเป็นแห่งที่ 2 ในโลกที่ใช้แบรนด์นี้ นั่นคือ “วีนแยทท์ คอลเล็คชั่น” เป็นแบรนด์โรงแรมระดับลักชัวรีใหม่ในพอร์ต เน้นด้านไลฟ์สไตล์และการออกแบบเฉพาะที่สะท้อนศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่น

โรงแรมที่ได้ใช้แบรนด์นี้คือ “สินธร มิดทาวน์ โฮเทล กรุงเทพฯ วีนแยทท์ คอลเล็คชั่น” ตั้งอยู่ในซอยหลังสวน แต่เดิมโรงแรมใช้การบริหารโดยโลคอลอยู่ราว 2 ปี ก่อนที่จับเซ็นดีลกับ IHG เพื่อเข้ามาปรับการตกแต่งให้เข้ากับคอนเซ็ปต์และเข้าบริหารด้วยมาตรฐานสากล เปิดตัวอย่างเป็นทางการภายใต้วีนแยทท์ คอลเล็คชั่นไปเมื่อ 1 กรกฎาคม 2565

IHG
ห้องพักของสินธร มิดทาวน์ฯ มีแพ็กเกจพิเศษร่วมกับ Harborland ดึงดูดกลุ่มครอบครัวที่มีเด็กเล็ก

วีนแยทท์ คอลเล็คชั่นในไทยยังมีแผนงานก่อสร้างอยู่อีก 2 แห่ง คือ โครงการอควอทิค พัทยา เตรียมเปิดปี 2567 และ แบงค็อก ไชน่าทาวน์ เตรียมเปิดปี 2570

ส่วนโรงแรมแบรนด์อื่นๆ ที่จะเปิดตัวในปีนี้ของ IHG ประเทศไทย ได้แก่ อินเตอร์คอนทิเนนทัล เขาใหญ่ รีสอร์ท (แบรนด์สากลแห่งแรกในเขาใหญ่ เปิดตัว 22 สิงหาคมนี้), สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท และ ฮอลิเดย์ อินน์ สมุย บ่อผุด บีช

ขณะที่การเซ็นสัญญารับจ้างบริหารก็ยังมีอย่างต่อเนื่องเช่นกัน เช่น คิมป์ตัน หัวหิน รีสอร์ท, คิมป์ตัน เขาใหญ่ (ในโครงการมาย โอโซน ของบมจ.ณุศาศิริ)

 

“เงินเฟ้อ” คือความท้าทายในการจัดการต้นทุน

ด้านความเสี่ยงในระยะใกล้ของธุรกิจโรงแรม ราจิตกล่าวว่า เงินเฟ้อถือเป็นเรื่องสำคัญ ทำให้บริษัทต้องมีการบริหารต้นทุน โดยอาศัยการใช้ Economy of Scale ในการต่อรองสินค้าที่จัดซื้อ ซึ่งการที่ IHG ลงทุนโรงแรมไว้ 30 แห่งและจะมีเพิ่มอีกในอนาคต ทำให้สามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ดีขึ้น เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่บริษัทยังคงวางประเทศไทยเป็นแหล่งธุรกิจที่สำคัญ

IHG
คิมป์ตัน คีตะเล สมุย

ส่วนฝั่งนักท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อในเรื่องราคาตั๋วเครื่องบิน ทำให้วิถีการท่องเที่ยวเปลี่ยนไป การมาเที่ยวระยะสั้นเพียง 1-2 คืนจะน้อยลง แต่การพักแบบลองสเตย์อย่างน้อย 3-4 คืนจะมากขึ้น เพื่อให้คุ้มค่าใช้จ่ายการเดินทาง

ในด้านแรงงานขาดแคลนของภาคบริการที่เกิดขึ้นทั่วโลก ราจิตกล่าวว่า IHG ก็เผชิญปัญหานี้เช่นกัน แต่ในไทยจะมีความรุนแรงน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ความท้าทายนี้ก็ทำให้บริษัทเปิดกว้างมากขึ้นในการรับพนักงานจากธุรกิจอื่นเข้ามาฝึกฝนใหม่ เพราะหากไม่มีแรงงานเลยก็จะทำให้แบรนด์และการบริการตามมาตรฐานไม่เกิดขึ้น

เมื่อถามถึงนักท่องเที่ยวในประเทศ ราจิตกล่าวว่าการผ่านวิกฤตโควิด-19 มาทำให้บริษัทรู้ว่านักท่องเที่ยวในประเทศสำคัญอย่างมาก “เรามีการปรับตัวเองให้ตอบรับคนไทยมาแล้วและเราจะไม่ทิ้งไป จากนี้เมื่อเราจะลงทุนที่ใดเราจะมองนักท่องเที่ยวในประเทศด้วย ช่วงหลังนี้เราเห็นว่าคนไทยชื่นชอบการท่องเที่ยวแบบ ‘multi-generation’ คือมากันทั้งครอบครัวตั้งแต่รุ่นปู่ย่าจนถึงรุ่นหลาน และชอบสถานที่ใกล้กรุงเทพฯ เช่น พัทยา หัวหิน เขาใหญ่ ทำให้เราสนใจการลงทุนในพื้นที่เหล่านี้”