ถอดรหัสความสำเร็จ ‘PTT VIRTUAL RUN ลมหายใจเพื่อน้อง’ ที่ช่วยทั้ง ‘เด็กไทยได้เรียนต่อ’ และกระตุ้นให้คนไทยมีสุขภาพแข็งแรง


นับเป็นอีกความสำเร็จแบบเกินกว่าเป้าที่วางไว้ สำหรับ กิจกรรม “PTT Virtual Run ภายใต้โครงการ ลมหายใจเพื่อน้อง” ซึ่งสามารถช่วยเหลือให้นักเรียนและเยาวชนจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อยกว่า 60,000 รายได้เข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง โดยมอบทุนรวมกว่า 171 ล้านบาท และมีผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 90,000 คน อะไรถึงทำให้โครงการสำเร็จอย่างงดงามไปดูกัน

ย้อนไปช่วงเดือนพฤษภาคม ปตท. ได้จัดกิจกรรม PTT Virtual Run ภายใต้โครงการ ลมหายใจเพื่อน้อง โดยเป็นกิจกรรมเดิน-วิ่งสะสมระยะทางเพื่อแปลงเป็นทุนการศึกษา โดยทุก ๆ ทุก 1 กิโลเมตร มีมูลค่าเท่ากับ 250 บาท โดย 10 กิโลเมตร จะมีมูลค่าเป็นทุนการศึกษาจำนวน 2,500 บาท สำหรับการช่วยพาน้อง ๆ กลับโรงเรียนได้ 1 คน โดย ปตท. ตั้งเป้าหมายที่มอบทุนการศึกษากว่า 150 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือ น้อง ๆ กว่า 60,000 คนทั่วประเทศ

ความน่าสนใจของโครงการคือ การจัดวิ่งแบบ Virtual เพราะต้องยอมรับว่าเทรนด์การวิ่งในไทยนั้นมีมาตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด โดยมีการจัดงานวิ่งถึงปีละกว่า 1,000 งาน อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการระบาดของโควิดการจัดงานวิ่งเป็นไปได้ยาก ในขณะที่นักวิ่งก็ต้องวิ่งอยู่กับบ้านหรือในฟิตเนสเป็นประจำ รวมถึงการมาของโควิดก็ทำให้คนหันมาออกกำลังกายเพื่อดูแลสุขภาพตัวเอง


ดังนั้น ในเมื่อเทรนด์การดูแลสุขภาพที่มาพร้อมกับการระบาดของโควิด หลายคนออกวิ่งอยู่เป็นประจำ ดังนั้น หากสามารถวิ่งพร้อมกับได้ช่วยเหลือน้อง ๆ นักเรียนผ่านกิจกรรมดี ๆ ที่จะช่วยบรรเทาปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศไทย เลยเป็นส่วนผสมที่ทำให้โครงการ PTT Virtual Run สำเร็จได้ไม่ยาก

โดยตั้งแต่เริ่มกิจกรรมวันที่ 15 พฤษภาคม จนถึง 30 มิถุนายน 2565 รวมระยะเวลา 45 วัน มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมถึง 93,061 คน เป็นระยะทางเดิน-วิ่งสะสม 7,425,061 กิโลเมตร รวมงบประมาณทั้งสิ้น 171 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นทุนการศึกษา จำนวน 151 ล้านบาท พร้อมทั้งจัดตั้งกองทุนแรกเริ่มช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในวิกฤตการศึกษาได้สำเร็จ ผ่านกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา อีก 20 ล้านบาท สามารถช่วยเด็กและเยาวชนให้มีโอกาสได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้กว่า 60,000 คน

“ขอบคุณนักวิ่งทุกคนในโครงการ PTT Virtual Run ลมหายใจเพื่อน้อง ที่รวมพลังสร้างปรากฎการณ์ช่วยเหลือน้อง ๆ มอบทุน 171 ล้านบาท นำเด็กไทยกว่า 60,000 คน กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา เพราะเราเชื่อว่า… โอกาสไม่เคยวิ่งหาใคร แต่เป็นคนไทยทุกคนที่วิ่งเพื่อมอบโอกาส” นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) กล่าว

อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวเป็นแค่ ‘ส่วนหนึ่ง’ ในการช่วงลดความเหลื่อมล้ำเท่านั้น เพราะจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา คาดว่าจำนวนนักเรียนยากจนเพิ่มสูงขึ้นเป็น 2 ล้านคน

ซึ่งทางกลุ่ม ปตท. เคียงข้างสังคมไทย ด้วยลมหายใจเดียวกัน โดยได้จัดตั้งสถาบันวิทยสิริเมธี และ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ เพื่อส่งเสริมเยาวชนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงมีโรงเรียนภายใต้ PTT Group School Model ที่สนับสนุนโดยกลุ่ม ปตท. อีกกว่า 200 แห่ง เพื่อสร้างโอกาสให้เยาวชนไทยเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ เพื่อที่จะเติบโตเป็นกำลังสำคัญที่จะร่วมพัฒนาประเทศต่อไป