ครบ 5 ปีเต็มที่ ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กุมบังเหียน ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ ล่าสุด ธนวัฒน์ก็ได้ออกมาเปิดเผยถึงแง่มุมหรือทิศทางที่ประเทศไทยจะสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสร้าง New S-Curve ก้าวจาก Made in Thailand ไปสู่ Born in Thailand
ไทยติดหล่มผู้รับจ้างไม่ใช่เจ้าของ
อ้างอิงจากผลสำรวจ World Digital Competitiveness Ranking 2021 ของสถาบัน IMD จากสวิตเซอร์แลนด์ พบว่า ไทยถูกจัดอยู่ใน ลำดับ 38 จากทั่วโลก และ อันดับ 10 ของเอเชีย โดย
- ความพร้อมด้านองค์ความรู้ อันดับ 42
- ความพร้อมด้านเทคโนโลยี อันดับ 22
- ความพร้อมด้าน Future Readiness อันดับ 44
- การผลิตบัณฑิตสายวิทยาศาสตร์ อันดับ 17
- การส่งออกเทคโนโลยีชั้นสูง อันดับ 12
- ทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล อันดับ 42
- การจ้างงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันดับ 58
- การจดสิทธิบัตรด้านเทคโนโลยีระดับสูง อันดับ 42
แม้จะมีการส่งออกเทคโนโลยีขั้นสูงจะอยู่อันดับที่สูง แต่ในความเป็นจริงไทยอยู่ในฐานะผู้รับจ้างผลิตไม่ได้เป็นเจ้าของ ดังนั้น จะเห็นว่ามีหลายด้านมากที่ไทยยังต้องพัฒนา โดยเฉพาะการผลิตหรือจดสิทธิบัตรด้านนวัตกรรมของตัวเอง
ธนวัฒน์ กล่าวว่า ไมโครซอฟท์ ได้พยายามเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยก้าวสู่ยุคต่อไป โดยแบ่งเป็น 3 ด้านหลัก ๆ ได้แก่
- สร้างคน – ทักษะเชิงดิจิทัล และการเรียนรู้ในทุกระดับ
- สู่อนาคต – เทคโนโลยีที่เสริมศักยภาพในการคิดและสร้างสิ่งใหม่ๆ อย่างมั่นใจและมีประสิทธิภาพ
- เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่า – ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อนำทั้งทักษะและเทคโนโลยีมาสร้างความเปลี่ยนแปลงที่สัมผัสได้จริง
โดยไมโครซอฟท์วางเป้าเสริมทักษะเชิงดิจิทัลให้กับคนไทยในได้ 10 ล้านคน ภายในปี 2024 โดยปัจจุบันได้รีสกิลและอัพสกิลให้คนไทยแล้วกว่า 3 ล้านคน และจากนี้จะจับมือกับพาร์ตเนอร์ในการสร้าง ไมโครซอฟท์เลิร์นนิ่งเวิร์ส ให้คนเข้ามาเรียนเกี่ยวกับทักษะด้านดิจิทัล
สำหรับเทรนด์เทคโนโลยีโลกทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ Metaverse, AI, Quantum Computing และ Hybrid Work ซึ่งทั้ง 4 เทคโนโลยีทางไมโครซอฟท์ก็พร้อมสนับสนุน โดยให้บริการบนคลาวด์ ดังนั้นต้นทุนจะต่ำ แม้ว่าเศรษฐกิจจะไม่ดี แต่ที่ผ่านมาธนวัฒน์ก็ยังเห็นการลงทุนด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องในทุกอุตสาหกรรม
“ตอนนี้บริการต่าง ๆ เราอยู่บนคลาวด์ จ่ายเท่าที่ใช้ ทำให้ต้นทุนต่ำ ซึ่งปัจจุบันทุกอุตสาหกรรมตื่นตัวลงทุนในดิจิทัลหมด โดยเฉพาะแบงก์ที่เป็นผู้นำระดับโลกด้านเทคโนโลยี และตอนนี้แบงก์ไทยไม่ได้มองแค่ไทย แต่เริ่มรุกตลาดภูมิภาคอื่น ๆ”
แนะไทยโฟกัสพลังงานสะอาด
หนึ่งในสิ่งที่ธนวัฒน์เห็นในไทยคือ การลงทุนในเทคโนโลยีนอกจากจะใช้เพื่อลดต้นทุนแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนเพื่อต่อยอดในมุมอื่น ๆ ของธุรกิจ อย่างธุรกิจนำเข้า-ส่งออกสินค้าจากต่างประเทศ ก็เอาเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้เพื่อช่วยในการ ลดการปล่อยมลพิษ เพราะในต่างประเทศมีค่าปรับที่สูงหากธุรกิจปล่อยมลพิษจำนวนมาก ดังนั้น ธนวัฒน์จึงมองว่าตอนนี้อุตสาหกรรม พลังงานสะอาด น่าจะเป็น New S-Curve ของไทย เช่น การทำอีวี พาไทยไปสู่ผู้นำด้านรถยนต์ไฟฟ้า
“ตอนนี้เป็นโอกาสที่จะเปลี่ยนจาก Made in Thailand เป็น Born in Thailand เพราะตอนนี้เทคโนโลยีล้ำ ๆ ที่ใช้ในอเมริกา ไทยก็มีใช้เหมือนกัน”
ทั้งนี้ ธนวัฒน์ยืนยันว่า แม้บริษัทเทคโนโลยีหลายรายชะลอการจ้างงาน แต่ไมโครซอฟท์ยังคงมีแผนที่จะลงทุนต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ 2023 นี้ ก็มีแผนจะจ้างานเพิ่มอีก 20-30% ในส่วนของแผนโซลูชันซิเคียวริตี้ และพาร์ตเนอร์กับลูกค้าเพื่อช่วยในการพัฒนาโซลูชัน