“นักศึกษาจีน” ไม่มา “มหาวิทยาลัย” ในสหรัฐฯ กำไรหด วิ่งหาผู้เรียนชาติอื่นทดแทน

มหาวิทยาลัย สหรัฐฯ
University of Chicago (Photo: Shutterstock)
แม้แต่ภาคการศึกษาก็กระทบเมื่อ “นักศึกษาจีน” ยังไม่กลับมาสมัครเรียนใน “มหาวิทยาลัย” สหรัฐฯ ทำให้สถาบันเหล่านี้เห็นกำไรที่ลดต่ำลง เหตุเกิดเพราะจีนยังปิดพรมแดนจากโรคระบาด และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ย่ำแย่มาตั้งแต่ยุคทรัมป์ สถาบันอุดมศึกษาอเมริกันจึงต้องเบนเข็มพยายามดึงดูดผู้เรียนชาติอื่นทดแทน ชิงตลาดแข่งกับมหาวิทยาลัยในยุโรปและเอเชีย

สำนักข่าว Wall Street Journal รายงานตัวเลขการออกวีซ่า F-1 ของสหรัฐอเมริกาในรอบ 6 เดือนแรกปี 2022 ลดเหลือเพียง 31,055 รายการ เทียบกับ 6 เดือนแรกปี 2019 (ก่อนโควิด-19) ที่มีการออกให้ถึง 64,261 รายการ เรียกว่าลดลงไปมากกว่าครึ่ง

ปัญหาหลักเกิดจากนักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาเรียนต่อในสหรัฐฯ สัดส่วนใหญ่ที่สุดคือ “นักศึกษาจีน” ซึ่งคิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของนักศึกษาต่างชาติทั้งหมด ทำให้เมื่อนักศึกษาจีนไม่กลับมา ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ส่งผลกระทบกับ “กำไร” ของวิทยาลัยเหล่านี้ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยรัฐซึ่งมักจะคิดค่าเทอมนักศึกษาชาติสูงกว่านักศึกษาอเมริกันอย่างมาก ทำให้เป็นการขาดรายได้ก้อนใหญ่

การเกิดโรคระบาดทำให้นักศึกษาต่างชาติในภาพรวมลดลงอยู่แล้ว โดยปีการศึกษา 2020-2021 มีนักศึกษาต่างชาติเข้าลงทะเบียนเรียนน้อยกว่า 1 ล้านคน เป็นตัวเลขต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปีการศึกษา 2014-2015

แต่ปัญหาของนักศึกษาจีนที่หายไปไม่ได้มีเฉพาะเรื่องโรคระบาด ทำให้จีนปิดพรมแดนจนถึงวันนี้ ส่งผลให้นักศึกษาลังเลที่จะไปเรียนต่อต่างประเทศ

ปัญหาอื่นยังซึมลึกกว่านั้น นั่นคือผลกระทบตั้งแต่ยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แสดงออกเป็นปฏิปักษ์อย่างโจ่งแจ้งต่อคนจีน มีการสั่งห้ามคนจีนที่เชื่อว่าเป็นภัยความมั่นคงเข้าประเทศ และแสดงออกว่าสหรัฐฯ ไม่ต้องการนักศึกษาจีน ยิ่งความสัมพันธ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ของจีนกับสหรัฐฯ ตึงเครียดขึ้น คนจีนก็ยิ่งกังวลว่าชาวอเมริกันจะคุกคามลูกหลานตนหากส่งให้ไปเรียนในสหรัฐฯ

สถาบันอุดมศึกษาของสหรัฐฯ เห็นสัญญาณเหล่านี้มาสักพักแล้ว ทำให้สถาบันพยายามจะหาทางแก้ รวมถึงหาเบาะรองรับด้วยการหาผู้เรียนชาติอื่นๆ ทดแทน โดยเฉพาะอินเดีย

ดูเหมือนความพยายามจะให้ผลกระเตื้องขึ้นบ้าง ผลสำรวจมหาวิทยาลัยสหรัฐฯ 559 แห่ง จัดสำรวจโดย Institute of International Education (IIE) พบว่า 65% ของมหาวิทยาลัยที่สำรวจรายงานว่ามีใบสมัครจากนักศึกษาต่างชาติ “เพิ่มขึ้น” ในปีการศึกษา 2022-23 ซึ่งมากกว่าเมื่อปีก่อนที่มีเพียง 43% ของมหาวิทยาลัยที่ได้ใบสมัครจากนักศึกษาต่างชาติมากขึ้น

มหาวิทยาลัย ดีที่สุด
University of California, Berkeley (Photo: Shutterstock)

แต่การที่มี “ใบสมัคร” ไม่ได้แปลว่าสุดท้ายนักศึกษาจะเลือกลงทะเบียนเรียนกับมหาวิทยาลัยนั้นๆ นักศึกษาอาจสอบติดหลายที่และเลือกที่อื่นแทน เพราะมหาวิทยาลัยสหรัฐฯ ก็มีข้อเสียและเผชิญการแข่งขันต่างๆ ดังนี้

  • การแข่งขันแย่งตัวนักศึกษาต่างชาติยิ่งร้อนแรงขึ้น – แม้ว่าสหรัฐฯ จะเป็นจุดหมายยอดฮิตของนักศึกษา แต่สถาบันในอังกฤษ ฝรั่งเศส แคนาดา ออสเตรเลีย และเอเชีย ต่างก็ผลักดันตนเองขึ้นมาจนสามารถดึงนักศึกษาต่างชาติเพิ่มขึ้นได้สำเร็จ รวมถึงจีนเองก็ลงทุนกับการปั้นมหาวิทยาลัยในประเทศมาก จนสามารถยื้อตัวนักศึกษาชาติตัวเองให้เรียนต่อภายในประเทศได้มากขึ้น
  • ค่าเรียนแพงค่าเทอมระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยสหรัฐฯ นั้นแพงกว่าประเทศอื่นอยู่แล้ว และนักศึกษาต่างชาติยังต้องเสียค่าเรียนแพงกว่าปกติอีก โดยส่วนมากจะสูงกว่าที่คนอเมริกันจ่ายเป็นเท่าตัว นอกจากนี้ ยังต้องเสียค่าที่พัก อาหาร การเดินทาง ประกันสุขภาพ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดก็มักจะสูงกว่าประเทศอื่นเช่นกัน
  • สหรัฐฯ พึ่งนักศึกษาจีนมากจนยากจะชดเชย – จีนแผ่นดินใหญ่มีประชากรถึง 1,400 ล้านคน และเป็นกลุ่มคนที่ต้องการจะเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาด้วย มหาวิทยาลัยสหรัฐฯ จะหาประชากรมากขนาดนี้มาทดแทนได้ ถือเป็นงานช้างและต้องใช้เวลา
  • ปัจจัยทางจิตวิทยา – ชาวอเมริกันดูเหมือนจะเริ่มเสียศรัทธากับคุณค่าของการเรียนระดับอุดมศึกษา ทำให้ชาวต่างชาติเองก็มีคำถามในใจว่าคุณภาพการศึกษาของสหรัฐฯ ยังดีอยู่หรือเปล่า ต่างจากในอดีตที่ทั่วโลกต่างมั่นใจกับคุณภาพที่เหนือกว่าของระบบการศึกษาอเมริกัน

Source