Greyhound Cafe ถึงเวลารีเฟรชแบรนด์ เตรียมเปิดสแตนด์อโลนขนาด 3 ไร่ที่ “ราชพฤกษ์”

Greyhound Cafe คัมแบ็กโลเคชั่นรัชโยธินอีกครั้ง เปิด Greyhound Ratyo ดีไซน์ และคอนเซ็ปต์ใหม่ เตรียมแผนเปิดโมเดลสแตนด์อโลนสาขาแรกที่ราชพฤกษ์ พื้นที่ 3 ไร่ ยังยึดทำเลในกรุงเทพฯ ไม่ไปต่างจังหวัด แต่กระจายรายได้ไปต่างประเทศมากขึ้น

ต้องรีเฟรชแบรนด์ ดีไซน์ร้านหลายคอนเซ็ปต์

25 ปีทั้งที Greyhound Cafe (เกรย์ฮาวด์ คาเฟ่) ขอรีเฟรชแบรนด์ครั้งใหญ่ แต่ไม่เชิงรีแบรนด์ทั้งหมด เพียงแต่ปรับคอนเซ็ปต์แต่ละสาขาให้ทันสมัยขึ้น ถ้าใครเป็นแฟนๆ ของร้านจะเห็นว่าโดยปกติทุกร้านของ Greyhound จะมีสไตล์ Modern and Contemporary เหมือนกันหมด ที่ให้ความรู้สึกดิบๆ ปนความเท่ เน้นสีดำ ไฟสลัวๆ

แต่ด้วยเทรนด์ของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงมากขึ้น การไปทานอาหาร หรือการไปแฮงค์เอาท์ ต้องการถ่ายรูป หรือหาบรรยากาศใหม่ๆ ทำให้ Greyhound ต้องปรับวิธีคิดใหม่ แต่จะไม่ใช้การรีโนเวตสาขา เพียงแค่สาขาที่เปิดใหม่ จะดีไซน์ในคอนเซ็ปต์ใหม่ทั้งหมด และแต่ละสาขาจะไม่เหมือนกัน

Greyhound Cafe

เริ่มนำร่องที่สาขา Greyhound Ratyo หรือที่ ดิ อเวนิว รัชโยธิน เป็นการคัมแบ็กโลเคชั่นเดิมหลังจากปิดไป 6-7 ปี เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการทำอุโมงค์ตรงแยกรัชโยธิน ทำให้ทราฟฟิกหาย จึงเลือกปิดร้าน แต่เมื่อถนนเป็นปกติ และมีรถไฟฟ้า ทำให้ทำเลรัชโยธินเป็นจุดน่าสนใจ เนื่องจากเป็นย่านที่มีกำลังซื้อสูง

Greyhound Ratyo มีการดีไซน์ใหม่ ใช้งบลงทุน 15 ล้านบาท พื้นที่ 250 ตารางเมตร ในคอนเซ็ปต์ Cozy at day, Party at night. เน้นบรรยากาศเป็นกันเองเหมือนอยู่บ้าน และมีการดึงเอาสตรีทฟู้ดมาดีไซน์เป็นเมนูใหม่ของร้าน เช่น ปลาหมึกบด หมูทอด

ภาคิน เพ็ญภาคกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เกรฮาวด์ คาเฟ่ จำกัด เล่าว่า

“2 ปีที่ผ่านมา ได้เปลี่ยนมุมมองการทำธุรกิจคาเฟ่ไปค่อนข้างเยอะ รูปแบบจะเปลี่ยนไป สาขาตามศูนย์จะยังมีอยู่ แต่จะไปคอมมูนิตี้มอลล์มากขึ้น แต่นอกจากอาหารแล้ว ประสบการณ์ก็สำคัญ จึงต้องออกแบบร้านให้ทันสมัยขึ้น ลูกค้าจะมองหาประสบการณ์มากกว่าความอร่อย ความท้าทายคือ ทำให้ลูกค้าไม่เบื่อกับการใช้บริการ” 

ภาคิน เพ็ญภาคกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เกรฮาวด์ คาเฟ่ จำกัด
ภาคิน เพ็ญภาคกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เกรฮาวด์ คาเฟ่ จำกัด

รัชโยธิน เป็นย่านที่มีกำลังซื้อ และเป็นแหล่งรวมไลฟ์สไตล์ ร้านอาหาร คาเฟ่ และช้อปปิ้ง สะดวกสบายง่ายต่อการใช้ชีวิต เนื่องจากติดรถไฟฟ้า และยังเป็นศูนย์กลางการเดินทางที่สามารถไปได้ทุกที่ ไม่ว่าจะเข้าหรือออกนอกเมือง Greyhound จึงกลับมาเปิดสาขาใหม่อีกครั้ง แต่ทำให้มีคาแรกเตอร์ที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้คนย่านนี้ มีความแฟชั่นมากขึ้นให้เหมาะกับยุคสมัย

ภาคินบอกถึงไทม์ไลน์ในการทำร้านว่า ใช้เวลาดีไซน์ร้าน 1 เดือน ก่อสร้างร้าน 45 วัน ในขณะที่ทำสัญญากับแลนด์ลอร์ดเพียงแค่ 2 วันเท่านั้น บ่งบอกถึงการตัดสินใจในการบุกโลเคชั่นนี้อย่างแน่วแน่

ผุดสแตนด์อโลสาขาแรก

นอกจากสาขารัชโยธินแล้ว ในครึ่งปีหลังยังเตรียมเปิดอีก 2 สาขา ได้แก่ โรงพยาบาลเมดพาร์ค และสาขาราชพฤกษ์ ทั้ง 2 สาขาจะมีดีไซน์ที่แตกต่างกันอีกเช่นเคย

Greyhound Cafe

ที่โรงพยาบาลเมดพาร์คจะเป็นสไตล์ Cozy เน้นเมนูสุขภาพ และอาหารเช้า ให้ความรู้สึกว่ามาโรงพยาบาลแล้วไม่น่าเบื่อ ไม่อึดอัด เหมือนทานอาหารอยู่บ้าน

ส่วนสาขาที่ราชพฤกษ์จะเป็นโมเดลสแตนด์อโลนสาขาแรกในพื้นที่ขนาด 3 ไร่ สร้างตึกเอง อยู่ติดถนนใหญ่ เป็นอีกหนึ่งคอนเซ็ปต์ด้วยเช่นกัน อาจจะมีโซนบาร์บีคิว รองรับการจัดปาร์ตี้ ฉลองงานต่างๆ และมีห้อง VIP สำหรับสมาชิกของ Greyhound เท่านั้น คาดว่าจะใช้งบลงทุน 40 ล้านบาท เพราะมีพื้นที่ขนาดใหญ่ เตรียมเปิดช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้

ไม่ไปต่างจังหวัด

สำหรับแผนในการขยายสาขาของ Greyhound ทางภาคินยอมรับว่าค่อนข้างท้าทาย เพราะด้วย Positioning ของแบรนด์ ทำให้ต้องเน้นโลเคชั่นอยู่ในกรุงเทพฯ ไม่ขยายไปต่างจังหวัด ก่อนหน้านี้เคยไปมาบ้างแล้วแต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

Greyhound Cafe

“เรายังคงไม่ขยายไปต่างจังหวัด ก่อนหน้านี้เคยมีไปเปิดที่พัทยา และหัวหิน แต่ปิดให้บริการไปก่อนที่ COVID-19 จะระบาด มองแล้วว่าไม่เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภค ที่ต่างจังหวัดมีร้านอาหารท้องถิ่นเยอะอยู่แล้ว คนจากกรุงเทพฯ ไปก็ต้องการทานร้านท้องถิ่น ไม่ได้อยากไปเพื่อกินร้านที่มีสาขาในกรุงเทพฯ ทำให้เราไม่พร้อมที่จะไปบุกตลาดต่างจังหวัดอีก”

การเลือกโลเคชั่นอยู่แต่ในกรุงเทพฯ จึงมีความท้าทายตรงที่พื้นที่เริ่มมีจำกัด ศูนย์การค้า หรือคอมมูนิตี้มอลล์ก็ผุดขึ้นจนแน่นไปหมด อีกทั้งคาแรกเตอร์ที่ต้องเลือกโลเคชั่นที่ค่อนข้างพรีเมียมด้วยอีก ทำให้ Greyhound ต้องเน้นยอดขายสาขาเดิมมากขึ้น บวกกับสาขาใหม่ต้องดึงดูดได้ดี

“ยอมรับว่าการขยายสาขายากขึ้น เลยต้องเพิ่มยอดขายจากสาขาเดิม ทำให้ต้องมาเน้นที่เมนูอาหารที่ใช้มานาน 10 กว่าปีแล้ว เมนูที่ไม่ได้ความนิยมก็ตัดออกไป และก็จะมีเมนูโปรโมชันออกทุก 45 วัน จะออกถี่ขึ้น แต่ก่อนออกทุก 3 เดือน ยูนิฟอร์มของพนักงานก็ออกแบบใหม่ อีกส่วนหนึ่งก็คือ มองรายได้จากต่างประเทศสำคัญขึ้น อยากไปเอเชีย และยุโรป ต้องการกระจายรายได้ เพราะในไทยมีโลเคชั่นครอบคลุมในกรุงเทพฯ เกือบหมดแล้ว ด้วยโพสิชั่นทำให้การหาทำเลต้องประณีตหน่อย”

Greyhound Cafe

ที่ต่างประเทศจะเป็นระบบแฟรนไชส์ ยกเว้นที่ลอนดอนที่ลงทุนเปิดเอง เริ่มขยายสู่ตลาดต่างประเทศเมื่อปี 2554 เปิดสาขาแรกที่ IFC mall ฮ่องกง ปัจจุบันมีสาขาในต่างประเทศทั้งหมด 13 สาขา ใน 4 เมืองใหญ่ของเอเชีย คือ ฮ่องกง, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และ 1 สาขาในยุโรป ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในย่าน Fitzrovia ซึ่งเป็นย่านแห่งไลฟ์สไตล์สุดฮิป

สำหรับเมนูอาหาร ได้มีดีไซน์เมนูใหม่ๆ ที่เข้ากับยุคสมัย เมื่อปลายปี 2564 ได้ออกเมนูยำที่ใส่น้ำปลาร้าครั้งแรก และล่าสุดได้ออกเมนูก๋วยเตี๋ยว เป็นเทรนด์ที่หลายแบรนด์เริ่มทำแบรนด์ก๋วยเตี๋ยวน้ำตกแบบพรีเมียมมากขึ้น

ส่วนเมนูยอดนิยมที่ขายดีที่สุดของร้าน ได้แก่ แซลมอนแช่พริก, ปีกไก่ทอด และปูผัดข้าว ยอดการใช้จ่ายเฉลี่ย 650-800 บาท/คน

เมนูใหม่ที่เกรย์ฮาวด์ รัชโย

ปัจจุบัน Greyhound Cafe ได้อยู่ภายในเครือของบริษัท มัดแมน จำกัด (มหาชน) ซึ่งทางมัดแมนได้ซื้อกิจการมาได้ 12 ปีแล้ว แต่ยังคงใช้ทีมบริหารเดิม มีแบรนด์ในเครือ ได้แก่ โอ บอง แปง, บาสกิ้น ร็อบบิ้นส์, ดังกิ้นโดนัท, เกรฮาวด์ คาเฟ่, อนาเธอร์ฮาวด์ คาเฟ่, กินเฮ บาย เกรฮาวด์, ครัวเอ็ม, Le Grand Vefour ร้านอาหารหรูระดับ Michelin สองดาว กรุงปารีส

และล่าสุดได้เปิดตัวแบรนด์น้องใหม่ Beanhound  by Greyhound Café ร้านกาแฟที่มีทั้งสเปเชียลตี้ และระดับแมส รวมไปถึงไซม่อนเซย์ชาบู และฟังก์กี้ ฟรายส์ ภาคินมองว่ายังขาดร้านอาหารในกลุ่มบุฟเฟต์นานาชาติ คาดว่าจะเปิดตัวปีหน้าที่สาขาพระราม 4 ในพื้นที่ 2 ไร่

ปัจจุบัน Greyhound Café มีสาขารวมกว่า 21 สาขาในเมืองไทย ส่วน Another Hound Café มีทั้งหมด 3 สาขา คาดว่าในปีนี้มีการเติบโต 10-15%

Beanhound by Greyhound Café
Beanhound by Greyhound Café