กว่าร้อยปีเศษ อาชีพ Bike Messenger หรือนักปั่นส่งเอกสารได้ถือกำเนิดขึ้นในยุโรปพร้อมๆ กับความนิยมในการใช้จักรยานในฐานะ “พาหนะคู่กาย” แต่สำหรับเมืองไทย กระแสความนิยมใน “เชิงแฟชั่น” ได้นำพาจักรยานเข้ามาในฐานะไลฟ์สไตล์ใหม่ของคนเมือง
กระทั่งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา แนวคิดของอาชีพนักปั่นส่งเอกสารและพัสดุก็ถือกำเนิดขึ้นโดยชนส่วนหนึ่งในนักปั่นกลุ่ม “จามจุรีสแควร์” พวกเขาเรียกตัวเองว่า “BikeXenger” สื่อถึงความเป็น Bike Messenger สมาสสนธิเข้ากับ Xpress เพื่อสร้างจุดขายด้านความรวดเร็วในงานบริการ ผสานกลิ่นอายแห่งขบวนการยอดมนุษย์ Rangers โดยหลักๆ ขบวนการนี้ประกอบด้วย ปณต พุทไธสง, มนตรี ฉันทะยิ่งยง และ สิริชัย วัฒนสุทธิพงศ์ สิ่งที่คล้ายคลึงกับฮีโร่ห้าสีคือยูนิฟอร์มเข้ารูปขณะทำงาน และอุดมการณ์เพื่อพิทักษ์โลก ต่างกันที่ยอดมนุษย์ Bikexenger ใช้ (หัวใจ) สีเขียวเหมือนกันทุกคน ชู Green Service และจบภารกิจด้วยพลัง “ลำแข้ง”
กำเนิดวินจักรยานรับจ้าง
“วิน” ของกลุ่ม BikeXenger อยู่ที่จามจุรีสแควร์เป็นหลัก ที่นั่นไม่ได้เป็นออฟฟิศ หากแต่เป็นที่สำหรับ “สแตนด์บาย”…ที่ใดมีร้านกาแฟชิลๆ ที่นั่นก็พร้อมจะมีวินของ BikeXenger
BikeXenger เกิดจากนักปั่นจำนวนเล็กๆ ในกลุ่มจามจุรีสแควร์ “ปณต” เล่าว่าเมื่อสามปีก่อนเขาเป็นผู้ริเริ่มรวมก๊วนคนรักจักรยานในย่านสี่พระยา สาทร สีลม โดยโพสต์กระทู้ชวนปั่นลงบนเว็บไซต์ ThaiMTB จากสิบคนก็เพิ่มขึ้นเป็น 30-40 คนในปัจจุบัน จากพบกันเดือนละครั้ง ก็เริ่มขยับเป็นสัปดาห์ละครั้ง และกลายเป็นเจอกันทุกวัน “พอเลิกงานพวกเราไม่รู้จะไปไหน ลองสุ่มๆ ปั่นมาที่จามจุรีสแควร์ดู อ้าวก็มีเพื่อนๆ มานั่งรออยู่เหมือนกันนี่” เขาเองมาเจอกับ “มนตรี” ที่นี่โดยมิได้นัดหมาย มนตรีใช้จักรยานเป็นพาหนะจากอินเนอร์ส่วนตัวมาแต่แรก
“ผมทำงานอยู่แถวๆ บางรัก นั่งรถไปกลับร่วมๆ 6 ชั่วโมง มันไม่ไหว รถติดเมื่อไหร่ผมต้องโดดลงมา เพราะเดินครึ่งชั่วโมง ยังดีกว่ายืนอยู่เฉยๆ ตั้งครึ่งชั่วโมง”
ตลอดสามปี นักปั่นกลุ่มจามจุรีสแควร์ทำกิจกรรมร่วมกันมาแล้วแทบทุกอย่างยิ่งกว่าพี่แอ้ดเมืองไทยสไมล์คลับ ทั้งกินเที่ยวและออกทริปจน “หมดมุก” พวกเขาจึงมานั่งคิดกันต่อว่ายังมีกิจกรรมอะไรที่นักปั่นสามารถทำร่วมกันได้อีก ไอเดียของงานบุญจึงเกิดขึ้น “ก่อนหน้านี้เราก็ไปตามสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ออกทริปซ่อมจักรยานให้เด็กต่างจังหวัด แล้วตอนนั้นสมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยกำลังระทมทุนเพื่อซื้อจักรยานให้เด็กพอดี เราก็เลยตั้ง “บุญไบค์” ขึ้นมาในเน็ต ปั่นไปรับของบริจาคมาประกาศขาย พอมีคนซื้อ เราก็ปั่นไปส่งของ แล้วเอาเงินที่ได้รวมกับค่าปั่นที่คิดราคาเดียวแค่ 40 บาท ไปร่วมสมทบทุนให้สมาคมฯ”
กระทั่งภายหลังมีข้อเสนอจากคนภายนอกมาว่า ทำไมไม่ปั่นจักรยานเป็นอาชีพเสียเลย สมาชิกจามจุรีฯ ราวสิบคนจึงศึกษาโมเดล “Bike Messenger” ของต่างประเทศ จนเกิดโครงการ BikeXenger และได้รับทุนสนับสนุนเบื้องต้นจากสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ จักรยานรับจ้างในเมืองกรุงจึงเกิดขึ้น
“นักข่าวญี่ปุ่นเขาทึ่งที่พวกเรากล้าปั่นในกรุงเทพฯ เขาบอกว่าใครปั่นในกรุงเทพฯ ได้ ก็จะปั่นได้ทุกที่ในโลก เพราะการจราจรบ้านเราไม่เป็นระเบียบ แถมนิสัยคนใช้ถนนก็ดูใจร้อน” ปณตถ่ายทอดเรื่องตลก (ร้าย) แต่จริง
กลยุทธ์แบบวิน – วิน : รายได้ ภาพลักษณ์องค์กร และความยั่งยืน
“ในเมืองไทย มันเหมือนจะโตแต่ก็ยังไม่โต คนเรียกใช้งานก็มีอยู่จำนวนหนึ่ง ไม่ได้โตเปรี้ยงปร้าง พอออกทีวีทีหนึ่งก็กระหน่ำโทรเข้ามา แล้วก็ซาไปจนกว่าจะออกรายการใหม่ ออกสื่อช่วยให้เราดังจริงครับ แต่คนไทยยังไม่ค่อยใช้บริการ” ปณตเล่าถึงวัฏจักรที่เริ่มคุ้นชิน “ตอนนี้เราเลยพยายามเปิดตลาดด้วยการบุกไปบริษัทต่างๆ เพื่อเสนอบริการของเราที่ยังใหม่อยู่มากๆ และกำลังจะรับสมัครนักการตลาดเข้ามาช่วยงานด้วย”
หลังจากเก็บเช็ควางบิลเสร็จ เหล่า BikeXenger ก็จะทำหน้าที่เซลส์ต่อ จนพบว่าองค์กรที่หันมาใช้บริการ Bikexenger มักจะเป็นบริษัทใหม่ที่มีขนาดเล็ก เจ้าของบริษัทมีอำนาจตัดสินใจ หรือเป็นบริษัทคนไทยที่เห็นความสำคัญของคอนเซ็ปต์รักษ์โลก เพราะแม้ผู้บริหารชาวต่างชาติจะคุ้นเคยกับ Bike Messenger ในบ้านเกิดเป็นอย่างดี แต่บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่มักมีสัญญาจ้างเมสเซนเจอร์ซึ่งเป็นมอเตอร์ไซค์อยู่ก่อนแล้ว “บางคนถามว่าพวกเราบ้ารึเปล่า มอเตอร์ไซค์ก็มีให้ใช้ เราตอบไปว่า เราอยากจะเปลี่ยนแปลงอากาศในกรุงเทพฯ”
“โรงงานน้ำปลาไทย ตราปลาหมึก” เป็นตัวอย่างลูกค้าประจำรายแรกของ BikeXenger ที่มีการจ่ายงานให้เป็นประจำทุกวันจนถึงปัจจุบัน “เขาต้องชอบคอนเซ็ปต์ของเราก่อน อย่างบริษัทหนึ่งแถวอาร์ซีเอมีแมสเซนเจอร์ของเขาอยู่แล้ว แต่ก็อุตส่าห์แบ่งงานมาให้เรา แถมให้ค่าจ้างเยอะกว่าเมสเซนเจอร์มอเตอร์ไซค์ถึงเท่าตัว”
โดยเหตุที่ไม่สามารถดัมพ์ค่าบริการให้ถูกกว่ามอเตอร์ไซค์รับจ้างที่รับส่งเอกสารด้วยได้ แพ็กเกจเหมาจ่ายเริ่มที่ 1,100 บาทสำหรับลูกค้าที่จ้างงานในระยะยาว (22 วันต่อเดือน) จึงเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ BikeXenger นำมาใช้ต่อสู้ด้านราคา
“ช่วงแรกๆ เราต้องอธิบายให้ตลาดเข้าใจในเรื่องราคาเสียก่อน เพราะเราสตาร์ท 1-3 กม.แรกที่ 50 บาท หลายคนบ่นว่าแพงกว่ามอเตอร์ไซค์ทั้งที่ไม่ได้ใช้น้ำมัน แล้วจะช้ากว่ารึเปล่า เราบอกได้เลยว่ารถติดๆ อย่างนี้ เราทำความเร็วได้ไม่ต่างจากมอเตอร์ไซค์แน่นอนครับ เราซอกแซกได้ดีกว่าด้วยซ้ำ” มนตรีแย้ง
เพื่อลบข้อกังขาด้านราคา BikeXenger จึงชูอีกหนึ่งจุดขายด้วย “บริการที่เหนือกว่า” เพราะไม่ใช่แค่การนำเอกสารและพัสดุไปส่ง หากแต่ BikeXenger จะเก็บงานให้ลูกค้าจนเป๊ะ ในกรอบเวลาที่เที่ยงตรง “เรามีการเทรนด์ เช่น วางบิลเก็บเช็คต้องทำยังไง เส้นทางต้องแม่น ไม่ใช่โทรไปถามทางบ่อยๆ”
นอกจากนี้ เมื่อส่งงานเสร็จ ทีมงานจะถ่ายรูปกับผู้รับเพื่อนำมาลงเฟซบุ๊ก ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดการบอกต่อ นัยหนึ่งยังช่วยสานสัมพันธ์ที่ดีเพื่อสร้างโอกาสในการได้ลูกค้ารายใหม่ ในขณะที่องค์กรนั้นๆ ก็สามารถใช้จุดนี้แสดงภาพลักษณ์ CSR ได้เนียนๆ
นอกจากกลุ่มองค์กร ลูกค้าขาจรรายบุคคลก็เรียกใช้บริการ BikeXenger ด้วยสัดส่วนที่มากพอตัว ที่น่าสนใจคือไม่ใช่การอุดหนุนกันเองของคนปั่นจักรยานอย่างแน่นอน เพราะคนกลุ่มนี้จะไม่อยากเสียเงินให้กับสิ่งที่ตัวเองทำได้ มนตรีบอกว่าลูกค้าส่วนใหญ่จึงเป็นคนไทยที่ให้เหตุผลว่า เพราะบริการนี้เป็นความแปลกใหม่ ในขณะที่บางส่วนแค่อยากลอง มีเพียงส่วนน้อยที่ใช้บริการเพราะตระหนักว่าจักรยานเป็นพาหนะรักษ์โลก
กลุ่ม BikeXenger รับว่าที่ผ่านมามีบริษัทจักรยานมาเสนอให้ใช้จักรยานเพื่อโปรโมตแบรนด์ของตนเองบ้าง เช่น LA Bicycle, Sport Bicycle “อันที่จริงเราก็ยังไม่อยากผูกมัดกับแบรนด์ไหน เดี๋ยวมันจะเสียบุคลิกการเป็นพาหนะส่วนตัว” มนตรีกล่าว “แต่ถ้าแค่แปะโลโก้ของเขาบนเสื้อเรา เราทำให้ได้ มันง่ายกว่า” ปณตเสริม
นักปั่นส่งเอกสารจะมาวินในไทยแน่หรือ
เฉพาะนิวยอร์กเพียงแห่งเดียวก็มีบริษัท Bike Messenger กว่า 1,500 แห่ง มีนักปั่นอาชีพร่วมๆ 50,000 คน มีการวางระบบงานที่ชัดเจน และที่สำคัญมีการแข่งขันกันระหว่างเอาต์ซอร์สต่างๆ อย่างดุเดือด
BikeXenger ทั้งสามหันมาเป็นนักปั่นเต็มเวลา โดยมนตรีลาออกจากงานออฟฟิศเพราะมั่นใจว่าในอนาคตน่าจะมีลู่ทางทำให้ตลาดงานบริการนี้เติบโตในเมืองไทย เขาเห็นว่า “ตลาดนี้มันใหญ่มาก แค่จับตลาดเล็กๆ เราก็อยู่ได้แล้ว คู่แข่งก็ไม่มี เราเป็นเบอร์หนึ่ง อาชีพนี้ในเมืองใหญ่ทั่วโลกโตหมด ทำไมกรุงเทพฯ จะมีไม่ได้”
ในขณะที่ “สิริชัย” มีธุรกิจส่วนตัวด้านอาหาร เช่นเดียวกับ “ปณต” ที่มีสำนักงานทนายความของตัวเอง เขาบอกว่ารายได้จากการเป็น BikeXenger นั้นสูงกว่าธุรกิจส่วนตัวของเขาเสียอีก ด้วยรายได้ที่ไม่ต่ำกว่าวันละ 500 – 1,000 บาท ลูกน้องจึงถูกส่งไปว่าความ ในขณะที่เจ้านายเลือกมาปั่นจักรยานรับจ้าง (ซะอย่างงั้น)
ค่าบริการจัดส่งคิดตามระยะทางและน้ำหนักของสินค้า “ศาลายาก็ไปมาแล้ว ล่าสุดจะให้ไปธรรมศาสตร์รังสิต เขาบอกว่ามอเตอร์ไซค์ไม่ยอมไป” มนตรีเล่าเคสแปลกๆ ที่เพิ่งโทรเข้ามาว่า “ลูกค้าจะให้ไปรับขนมปัง 6 แผ่นจากร้านมนต์นมสดไปส่งที่ระยอง ค่าปั่น 2,000 กว่าบาท ถ้าเขากล้าจ่าย เราก็ไปทุกที่ครับ”
ระหว่างวันธรรมดา ทั้งสามจะมีงานต่อเนื่องตลอดทั้งวัน โดยช่วงฮอตสุดๆ ของ BikeXenger คือ วันวาเลนไทน์ กามเทพบนหลังอานเล่าว่าเขาตระเวนส่งดอกไม้ให้คู่รักตั้งแต่ตีสี่จนถึงเที่ยงคืนโดยไม่หยุดหย่อน รองลงมาเป็นเทศกาลหยุดยาวที่ไปรษณีย์หยุดทำการ เช่น สงกรานต์ หรือปีใหม่ที่คนนิยมให้ของขวัญกัน
เพื่อรับมือกับปริมาณงานที่น่าจะเพิ่มขึ้น ทีม BikeXenger จึงประกาศหาพนักงานใหม่ “คนสมัครเยอะมากครับ ไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทั้งนั้น จบโทจบนอก ปริญญาหลายใบมีหมด ส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าอยากใช้จักรยานเป็นอาชีพเพราะสนุกและมีรายได้ บางคนบอกว่าพร้อมจะลาออกจากออฟฟิศที่เครียดๆ เลยทันที”
สเต็ปต่อไป พวกเขาวางแผนต่อยอด “งานบริการ” ด้วยการผลิต “สินค้า” ภายใต้แบรนด์ BikeXenger ของตนเอง เพื่อนักปั่นส่งเอกสารโดยเฉพาะ เช่น หมวก หรือเป้ที่ระบายความร้อนได้ดีขึ้นในสภาพอากาศเมืองไทย โดยนำโมเดลความสำเร็จมาจากเจ้าของแบรนด์ดังในต่างประเทศที่ทำอาชีพนี้มาก่อน จนสามารถออกแบบสินค้าให้ตรงความต้องการจริงๆ ของ Bike Messenger ได้
สุดท้ายเขายังแนะว่า หากต้องการส่งเสริมให้คนหันมาเดินทางด้วยจักรยาน รัฐต้องขจัดความสะดวกสบายของการใช้รถเสียก่อน “รถติดก็ปล่อยให้ติดไป ไม่ต้องไปสร้างถนนทำสะพานเพิ่มให้ เดี๋ยวคนก็จะหันมาเห็นข้อได้เปรียบของจักรยานเอง”