-
แอสเซทไวส์ (ASW) เปิดคอนเซ็ปต์โครงการ “ไวส์พาร์ค มีนบุรี” มิกซ์ยูสบนเนื้อที่ 33 ไร่ รวมคอมมูนิตี้ มอลล์, คอนโดฯ, ออฟฟิศ ไว้ในแห่งเดียว
-
โครงการนี้จะมีพื้นที่สีเขียวเพื่อชุมชน ทางจักรยานสาธารณะ เว้นพื้นที่เพิ่มท่าเรือคลองแสนแสบในอนาคต และเปิดห้องชุดแบบใหม่ ‘For All Gens’ สร้างมาเพื่อให้อยู่อาศัยได้จนถึงวัยชรา
-
ASW หวังจะปลุกกระแสพัฒนาทำเลมีนบุรี node เศรษฐกิจชานเมืองกรุงเทพฯ แห่งใหม่บริเวณจุดตัดปลายสายรถไฟฟ้าสายสีส้ม-ชมพู
ก่อนหน้านี้โครงการคอนโดมิเนียม “แอทโมซ โฟลว์ มีนบุรี” เริ่มเปิดจองไปก่อนแล้ว โดยคอนโดฯ นี้จะเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ “ไวส์พาร์ค มีนบุรี” ที่มีเนื้อที่รวม 33 ไร่ ซึ่งทาง บมจ.แอสเซทไวส์ (ASW) เจ้าของโครงการ เพิ่งจะได้ฤกษ์เปิดภาพการพัฒนาที่ดินทั้งผืนว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง
“กรมเชษฐ์ วิพันธ์พงษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แอสเซทไวส์ เล่าถึงแผนการพัฒนา ไวส์พาร์ค มีนบุรี มูลค่ารวม 10,000 ล้านบาท โครงการนี้ตั้งอยู่บนถนนสีหบุรานุกิจ ระยะ 350 เมตรจากสถานีตลาดมีนบุรี รถไฟฟ้าสายสีชมพู เป็นที่ดินแปลงลึกเข้าไปจนติดคลองแสนแสบ ทำให้ต่อไปจะเดินทางได้ทั้งทางรถ ราง เรือ
เมื่อเป็นที่ดินผืนค่อนข้างใหญ่ จึงมองว่าควรจะพัฒนาให้เป็นชุมชนขนาดย่อม มีฟังก์ชันและแบบตึกหลายแบบ รวมถึงตอบรับกับชุมชนเดิมให้ได้มีพื้นที่สาธารณะเพิ่มด้วย
คอนเซ็ปต์ของ ไวส์พาร์ค มีนบุรี ภายใต้แนวคิด “WISECOLOGY” แบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วนคือ
– ที่อยู่อาศัย คอนโดมิเนียม 3 อาคาร แบ่งเป็นคอนโดฯ ตึกเตี้ย 2 อาคาร และตึกสูง 1 อาคาร
– มิกซ์ยูส คอนโดมิเนียมและออฟฟิศ 1 อาคาร สูง 45 ชั้น (ออฟฟิศมีสัดส่วน 10-15% ของตึก)
– คอมมูนิตี้ มอลล์ “มิงเกิ้ล มีนบุรี” พื้นที่อาคาร 8,800 ตร.ม.
– ไวส์พาร์ค พาวิลเลียน พื้นที่สวนสาธารณะด้านหน้าโครงการ (ปัจจุบันเป็นเซลส์ แกลลอรี)
รวมถึงโครงการจะตัดถนนขนาด 16 เมตร ความยาว 500 เมตรจากหน้าโครงการไปถึงด้านหลังติดคลองแสนแสบ พร้อมเลนจักรยาน-วิ่งออกกำลังกาย เพื่อให้เป็นพื้นที่สาธารณะของชุมชน คนภายนอกมาใช้งานได้ และในอนาคตเมื่อมีชุมชนใหญ่ขึ้น โครงการจะขออนุมัติสร้างท่าเรือคลองแสนแสบเพิ่มเติม
คอมมูนิตี้ มอลล์ “มิงเกิ้ล มีนบุรี” นั้นจะเป็นส่วนแรกของโครงการที่สร้างเสร็จก่อนในปี 2566 เพื่อเป็นแม่เหล็กดึงทราฟฟิก ปัจจุบันมีผู้เช่าที่ยืนยันแล้วคือ โลตัส โก เฟรช ส่วนที่เหลือจะเน้นร้านค้า-ร้านอาหารที่มีชื่อเสียง ขณะที่ทั้งโครงการจะใช้เวลาทยอยก่อสร้างรวม 6 ปีจากนี้
โซนออฟฟิศเล็กๆ เจาะกลุ่ม SMEs
ที่น่าสนใจอีกส่วนคือ “ออฟฟิศ” ซึ่งจะเป็นห้องชุดขายขาดในตึกมิกซ์ยูสด้านหลังคอมมูนิตี้ มอลล์ มีลิฟต์แยกโซนกับที่พักอาศัย และจดทะเบียนเป็นพื้นที่พาณิชย์ สามารถเปิดเป็นที่อยู่บริษัทได้
กรมเชษฐ์มองว่า ออฟฟิศแบบนี้มีดีมานด์ในย่าน เพราะเหมาะกับ SMEs ขนาดเล็ก พนักงานไม่เกิน 10 คน หรือเน้นทำงานออนไลน์ ปกติ SMEs ลักษณะนี้จะเช่า/ซื้อตึกแถวหรือทาวน์เฮาส์มาดัดแปลงเป็นออฟฟิศอยู่แล้ว ทำให้มองว่าโปรดักส์ลักษณะนี้ทำได้ในตลาดย่านมีนบุรี
ห้องชุด “For All Gens” ออกแบบล่วงหน้าให้ “ผู้สูงวัย” ก็อยู่ได้
อีกประเด็นหนึ่งที่แอสเซทไวส์จะมีการปรับคือ การออกแบบห้องแบบใหม่ ‘For All Gens’ มาจากแนวคิดจากการสำรวจตลาดพบว่า ผู้ซื้อคอนโดฯ วันนี้ไม่ได้ต้องการอยู่อาศัยแค่ชั่วคราว แต่หลายคนต้องการอยู่อาศัยจนถึงวัยสูงอายุ ทำให้มีการเปิดยูนิตแบบพิเศษเป็นห้องชุดขนาด 31 ตร.ม. ที่มีฟังก์ชันแบบ Universal Design ได้แก่
- ประตูห้องกว้าง 100 ซม. (จากปกติ 90 ซม.) เพื่อให้รถเข็นเข้าออกสะดวก
- กั้นห้องเฉพาะส่วนครัวกับห้องน้ำ บริเวณห้องนอน นั่งเล่น โต๊ะทำงาน เปิดโล่งเพื่อให้ปรับเปลี่ยนการใช้งานง่ายในแต่ละช่วงวัยของชีวิต
- พื้นห้องน้ำไม่มีเนินสะดุด ห้องน้ำขนาดใหญ่พิเศษ และเป็นประตูบานเลื่อน เพื่อให้รถเข็นเข้าได้
- ติดตั้งปุ่มเรียกฉุกเฉินจาก DoCare by SCG ไว้ในห้องน้ำ (*ต้องสมัครแพ็กเกจการใช้บริการเพิ่มเองในภายหลัง)
ห้องพิเศษนี้จะเปิดขายสัดส่วน 10% ในคอนโดฯ แอทโมซ โฟลว์ มีนบุรี เพื่อทดลองตลาดก่อน หากได้รับผลตอบรับดี ก็จะเปิดในคอนโดฯ ตึกอื่นในไวส์พาร์ค มีนบุรีต่อไป
“มีนบุรี” node เศรษฐกิจแห่งใหม่ย่านชานเมือง
“สุรเชษฐ์ กองชีพ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด กล่าวถึงศักยภาพของมีนบุรีที่เปลี่ยนแปลงจากการมาถึงของรถไฟฟ้า 2 สาย คือสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี (กำหนดเปิด 2567) และสายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี (กำหนดเปิด 2568) รวมถึงผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ที่กำลังจะขยายพื้นที่พาณิชยกรรมให้กินวงกว้างขึ้น
ปัจจัยเหล่านี้จะส่งให้มีนบุรีเป็น sub-center คือเป็นย่านความเจริญทางเศรษฐกิจในเขตชานเมืองตะวันออกของกรุงเทพฯ คล้ายกับที่เกิดขึ้นแล้วในย่านบางแคทางฝั่งตะวันตก
ในแง่ของที่พักอาศัย เดิมมีนบุรีเป็นย่านหมู่บ้านแนวราบ แต่เมื่อมีรถไฟฟ้าทำให้ที่ดินริมถนนใหญ่ของมีนบุรีราคาพุ่งขึ้นไปกว่า 200,000 บาทต่อตร.ว. ซึ่งเป็นราคาที่ทำให้ที่พักอาศัยต้องเปลี่ยนรูปเป็นคอนโดฯ เพื่อให้เข้าถึงง่ายขึ้น แม้ปัจจุบันคอนโดฯ ที่ขอใบอนุญาตก่อสร้างแล้วจะมีเพียงกว่า 6,000 ยูนิต แต่คาดว่าอนาคตจะมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“ในอีก 1-2 ปีนี้อาจจะยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง แต่ระยะยาวแล้วมีนบุรีจะเปลี่ยนไปจากเดิมมาก” สุรเชษฐ์กล่าว “เพราะคนมีนบุรีจนถึงหนองจอกหากจะพึ่งพาระบบขนส่งทางราง จะต้องมารวมกันที่นี่”