ยังคงเดินต่อได้อย่างมั่นคงสำหรับ “แอสเซทไวส์” ปี 2565 เตรียมบุกต่อ 7 โครงการ 12,400 ล้านบาท เปิดโต๊ะเจรจาทั้ง JV, เทกโอเวอร์ และคอลแลปกับแบรนด์ต่างๆ รวมถึงหาโอกาสใหม่ในธุรกิจที่ไม่ใช่อสังหาฯ สนใจเจาะตลาดสุขภาพ-บิวตี้ มองเป็นเทรนด์ที่คนไทยจะให้ความสนใจระยะยาว
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทยถือว่าผ่านพายุมาแล้วและกำลังจะเข้าสู่น่านน้ำโอกาสใหม่ คือนิยามสถานการณ์ปี 2565 ของ “กรมเชษฐ์ วิพันธ์พงษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซทไวส์ จำกัด (มหาชน) โดยจะเปิดตัวมากขึ้นในปีนี้
ย้อนไปปี 2564 แอสเซทไวส์ มีการเปิดตัวทั้งหมด 5 โครงการ มูลค่ารวม 7,500 ล้านบาท และมียอดพรีเซล 8,800 ล้านบาท
ปี 2565 นี้บริษัทจะเปิดตัว 7 โครงการ มูลค่ารวม 12,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 65% จากปีก่อน และตั้งเป้ายอดพรีเซลที่ 10,000 ล้านบาท เป้ารับรู้รายได้ 6,000 ล้านบาท ถือว่าเป็นปีที่เปิดตัวมากที่สุดตั้งแต่ตั้งบริษัท
เน้นคอนโดฯ ราคาไม่เกิน 2 ล้าน กับพอร์ตบ้านหรู
สำหรับการเปิดตัวโครงการปีนี้ แบ่งเป็น คอนโดมิเนียม 5 โครงการ และโครงการแนวราบ 2 โครงการ หากแบ่งตามมูลค่าจะเป็นคอนโดฯ 60% และแนวราบ 40% ถือว่าสัดส่วนแนวราบเพิ่มขึ้นมามากเพราะปีก่อนแอสเซทไวส์เปิดแนวราบเพียง 1% เท่านั้น
รายละเอียดโครงการที่จะเปิดตัว ได้แก่
1.แอทโมซ คาแนล รังสิต – คอนโดฯ ใกล้สถานีรังสิต (รถไฟฟ้าสายสีแดง) ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต และม.รังสิต มูลค่าโครงการ 1,650 ล้านบาท ราคาเริ่ม 1.39 ล้านบาท
2.แอทโมซ โอเอซิส อ่อนนุช – คอนโดฯ ทำเล 450 เมตรจากสถานีศรีนุช (รถไฟฟ้าสายสีเหลือง) มูลค่าโครงการ 2,200 ล้านบาท ราคาเริ่ม 1.49 ล้านบาท
3.แอทโมซ โฟลว์ มีนบุรี – คอนโดฯ ใจกลางตลาดมีนบุรี 300 เมตรจากสถานีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ มูลค่าโครงการ 1,350 ล้านบาท ราคาเริ่ม 1.xx ล้านบาท
4.แอทโมซ พอร์เทรต ศรีสมาน – คอนโดฯ ตรงข้ามโรบินสัน ศรีสมาน ใกล้รถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายเมืองทองธานี มูลค่าโครงการ 1,150 ล้านบาท ราคาเริ่ม 1.xx ล้านบาท
5.เคฟ ซีด เกษตร – แคมปัสคอนโดฯ ติดรถไฟฟ้าสายสีเขียว ม.เกษตรศาสตร์ มูลค่าโครงการ 1,200 ล้านบาท ราคาเริ่มต้น 1.xx ล้านบาท
6.เอสต้า รังสิต คลอง 2 – บ้านเดี่ยวย่านรังสิต คลอง 2 โครงการขนาดเล็กเพียง 153 ยูนิต มูลค่าโครงการ 680 ล้านบาท ราคาเริ่มต้น 3.xx ล้านบาท
7.ดิ ออเนอร์ โยธินพัฒนา – บ้านเดี่ยวหรู 3 ชั้นระดับซูเปอร์ลักชัวรี ทำเลถ.โยธินพัฒนา มูลค่าโครงการ 4,170 ล้านบาท ราคาเริ่มต้น 29 ล้านบาท
เห็นได้ว่าปีนี้แอสเซทไวส์ตีตลาด 2 กลุ่ม คือกลุ่มคอนโดฯ ตึกเตี้ยราคาเข้าถึงได้ เริ่มต้นไม่เกิน 2 ล้านบาท และโครงการใหญ่แบรนด์บ้านหรู ดิ ออเนอร์ ที่กลับมาในตลาดอีกครั้ง
ด้านทำเลจะเกาะพื้นที่ถนัดของตนเองที่เคยเปิดโครงการมาแล้ว เช่น รังสิต เลียบด่วนรามอินทรา มีนบุรี และเป็นพื้นที่รถไฟฟ้าสายใหม่ไม่ว่าที่กำลังก่อสร้างหรือที่เพิ่งสร้างเสร็จ
นอกจากนี้ กรมเชษฐ์ระบุว่าบริษัทจะลงทุน “คอมมูนิตี้มอลล์” แห่งใหม่คือ “มิงเกิล มีนบุรี” คอนเซ็ปต์เดียวกับมิงเกิลย่านม.ธรรมศาสตร์ รังสิต และม.กรุงเทพ รังสิต คือเป็นมิกซ์ยูสคู่ไปกับแหล่งคอนโดมิเนียม สำหรับพื้นที่มีนบุรี บริษัทมีที่ดินใหญ่ 34 ไร่ซึ่งจะขึ้นโครงการแรก แอทโมซ โฟลว์ มีนบุรี ใช้เนื้อที่ดิน 6 ไร่ จากนั้นจะมีเฟสต่อๆ ไปตามมา ทำให้เหมาะพัฒนาคอมมูนิตี้มอลล์ ใช้งบลงทุน 400-500 ล้านบาท (รวมมูลค่าที่ดิน)
คาดว่ารายได้จากพื้นที่เช่ารีเทลจะขึ้นไปแตะ 30-50 ล้านบาทและคิดเป็นสัดส่วน 5% ของรายได้รวมบริษัทได้ภายใน 3 ปี
กลยุทธ์เปิดโต๊ะ เจรจา JV, เทกโอเวอร์, คอลแลปแบรนด์
ด้านกลยุทธ์ของแอสเซทไวส์ไม่ได้มีการลงทุนด้วยตนเองเท่านั้น แต่ยังพร้อมเปิดโต๊ะเจรจาในหลายแง่มุมเพื่อผลักดันธุรกิจให้โตเร็วยิ่งขึ้น ได้แก่
- จอยต์เวนเจอร์ – พร้อมเปิดรับดีลเจรจา JV รายโครงการกับบริษัทอื่นๆ เช่นเดียวกับที่บริษัทเพิ่งปิดดีล JV กับ ทาคาระ เลเบ็น ได้ในโครงการแอทโมซ บางนา โดยขณะนี้มีผู้สนใจอีก 3-4 รายทั้งสัญชาติไทย ญี่ปุ่น และเกาหลี
- เทกโอเวอร์ – แอสเซทไวส์รับเจรจาซื้อโครงการเพื่อนำมาบริหารการขายต่อ ดังที่เพิ่งปิดการซื้อโครงการ แม็กซี่ ไพรม์ รัชดา-สุทธิสาร มาได้ โดยมองว่าเป็นดีลที่วินวินทั้งสองฝ่าย เพราะผู้ขายสามารถปิดการขายทั้งโครงการได้เร็วเพราะเป็นการเหมาตึก ส่วนแอทเซทไวส์มีโปรเจกต์ใหม่ขายทำกำไรได้ทันที ไม่ต้องรอหลายปีกว่าจะสร้างเสร็จ
- คอลแลปแบรนด์ – ประโยชน์ในการแลกฐานลูกค้า และการสร้างสิทธิประโยชน์ให้กับลูกค้าของแอสเซทไวส์ ที่มีความร่วมมือแล้ว เช่น Popcoin ดิจิทัลคอยน์ในเครือ RS, Doctor A to Z เทคโนโลยีสุขภาพออนไลน์ที่เหมาะกับคนเมือง, BHS ศูนย์ฟื้นฟูสภาพร่างกาย เหมาะกับสังคมผู้สูงอายุ
แตกไลน์ธุรกิจ “สุขภาพ-บิวตี้”
กรมเชษฐ์ยังแย้มถึงแผนการแตกไลน์ไปทำธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่อสังหาฯ (non-real estate) เพื่อเป็นการจัดสมดุลพอร์ต และหาโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ
โดยแอสเซทไวส์มีความสนใจธุรกิจด้านสุขภาพและความงาม ดังที่เห็นว่ามีการคอลแลปกับแบรนด์ในธุรกิจด้านนี้แล้ว บริษัทกำลังหาโอกาสที่จะลงทุนต่อไป โดยอาจจะเป็นได้ทั้งการลงทุนเองทั้งหมด หรือการจอยต์เวนเจอร์ หรือเข้าไปถือหุ้นในบริษัทที่เกี่ยวข้อง
สาเหตุที่เลือกสุขภาพและความงามเพราะมองว่าเป็นเทรนด์ที่จะยั่งยืนในสังคมไทย ไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย และในแง่ความงามกลายเป็นของคู่กันกับคนไทยที่ต้องการให้ตัวเองดูดีเสมอ
ปิดท้ายวิเคราะห์สถานการณ์ปีนี้ ความกังวลของกรมเชษฐ์ดูจะอยู่ที่ปัจจัยกระทบเศรษฐกิจ/กำลังซื้อเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ที่อาจกลับมาดุเดือด และการระบาดของไวรัสโรค COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นอีกก็ได้