เกิดกระแสฮือฮาในวงการบันเทิงและนักลงทุน เมื่อปรากฏภาพ “แบมแบม-กันต์พิมุกต์ ภูวกุล” ในฐานะแพลตฟอร์ม พาร์ทเนอร์ของเหรียญ “Popcoin” เหรียญนี้คืออะไร เราจะพาไปทำความรู้จักกัน
เหรียญ Popcoin เกิดจากความร่วมมือของ 3 บริษัท คือ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS, โฟร์ท แอปเปิ้ล และ บริษัท ฟิวเจอร์ คอมเพเทเร่ จำกัด และวางตัวให้เหรียญนี้เป็น “Utility Token” คือเหรียญที่ตั้งใจให้มีช่องทางนำไปใช้แลกเปลี่ยนสินค้าได้จริงมากกว่าการเก็งกำไร
จุดประสงค์ของ Popcoin ดูได้จากสโลแกนของเหรียญคือ “Popcoin: Join to Earn” เหรียญนี้จะมาดิสรัปต์วงการ “Entertainmerce” โดยเข้ามาเป็นตัวเชื่อมในระบบนิเวศของ “วงการบันเทิง” และ “การตลาด”
โดยผู้ที่จะได้ครอบครองเหรียญ (หรือในแพลตฟอร์ม Popcoin ใช้ชื่อว่า Popsters) จะได้เหรียญมาจากการรับชมโฆษณา เข้าร่วมงานอีเวนต์ ตอบคำถาม เล่นเกม ฯลฯ ตามแต่จะมีการสร้างกิจกรรมขึ้นมาร่วมกับสปอนเซอร์
วิธีการนี้จะเข้ามาอุดจุดบอดของการตลาดปัจจุบันที่คนมักจะไม่สนใจโฆษณา ไม่สนใจมีส่วนร่วมกับแบรนด์ แต่เมื่อมี Popcoin ตอบแทนก็จะเป็นแรงจูงใจใหม่ให้ผู้บริโภคสนใจมากขึ้น
แล้วผู้บริโภคจะอยากได้ Popcoin ไปทำไม?
คำตอบคือ Popcoin จะร่วมกับพันธมิตรเพื่อให้คนนำเหรียญไปใช้แลกสินค้าได้จริง บางแคมเปญอาจจะมีการปล่อยสินค้าพิเศษที่ต้องใช้ Popcoin แลกเท่านั้น เช่น การ์ดเซ็ทของไอดอล ของสะสมดาราศิลปิน เมอร์ชานไดซ์พิเศษ รวมถึงอนาคตหากโลก ‘เมตาเวิร์ส’ บูมเมื่อไหร่ เหรียญนี้ก็อาจจะนำไปใช้ในโลกดิจิทัลได้
แม้ว่าจุดประสงค์ของเหรียญจะไม่ได้เน้นเก็งกำไร แต่ Popcoin กำลังจะเข้าไปเทรดบนกระดานของ Bitkub ด้วย ซึ่งจะทำให้ผู้เทรดแลกเหรียญ Popcoin กับเงินคริปโตอื่นๆ หรือแลกออกมาเป็นเงินบาทได้
นอกจากนี้ ยังมีระบบให้ ‘Stake’ เหรียญ ให้เจ้าของเหรียญที่ไม่มีแผนจะใช้เหรียญนำเหรียญเข้ามาออมในระบบเพื่อรอรับ Reward (คล้ายกับฝากเงินในธนาคารแล้วได้ดอกเบี้ย) อัตรา Reward ที่จะได้ก็ขึ้นอยู่กับสภาวะซัพพลาย-ดีมานด์ของเหรียญขณะนั้น
ด้านการควบคุมจำนวนเหรียญ Popcoin มีการระบุไว้ใน Whitepaper ว่า ภายใน 4 ปีแรกจะมีการผลิตเหรียญไม่เกิน 10,000 ล้านเหรียญ และในปีต่อๆ ไปจะมีการปรับจำนวนเหรียญขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ เพื่อไม่ให้จำนวนเหรียญในระบบ “เฟ้อ” จะต้องเพิ่มจำนวนตามปริมาณการนำไปใช้จริง
ใครได้ Popcoin ไปแล้วบ้าง?
การปล่อยเหรียญครั้งแรกหรือ ICO ไม่ได้ขายให้กับประชาชนทั่วไป แต่เน้นไปที่ B2B มากกว่า ได้แก่
- 65% ให้กับแบรนด์ที่ต้องการซื้อไปทำแคมเปญ
- 15% เก็บไว้ทำการตลาดให้กับตัวเหรียญเอง
- 15% ให้กับพันธมิตรธุรกิจ
- 5% ให้กับทีมผู้ก่อตั้ง
เหรียญ Popcoin มีการเปิดตัวไม่เป็นทางการต่อสาธารณะไปตั้งแต่เดือน พ.ย.-ธ.ค. 2564 โดยให้สิทธิผู้ที่สมัครเข้ามาในแพลตฟอร์ม สามารถร่วมแคมเปญ “Popcoin Airdrop” รับเหรียญฟรี 100 เหรียญ และเมื่อชวนเพื่อนมาสมัครจะได้รับเพิ่มอีก 25 เหรียญต่อเพื่อน 1 คน (เป็นเหรียญที่มาจากส่วนสำหรับทำการตลาดนั่นเอง)
ปัจจุบันเหรียญมี Popsters ที่ถือเหรียญแล้ว 5 แสนคน และ Popcoin เชื่อว่าจะมีผู้สมัครเข้าแพลตฟอร์มเป็น 1 ล้านคนในเร็วๆ นี้ (สำหรับแคมเปญ Popcoin Airdrop จบไปแล้วตั้งแต่เที่ยงคืนวันที่ 10 ม.ค. 65)
ล่าสุด Popcoin ประกาศรายชื่อพันธมิตรออกมายาวเหยียด แบ่งกลุ่มได้ดังนี้
- ธุรกิจดนตรีและบันเทิง: Live Nation, BEC Tero, High Cloud Entertainment, คณะหมอลำเสียงอิสาน, VOM Records, Full Sense, สมาคมการค้าธุรกิจไอดอลหญิง (FITA), RS Music, Coolism, สถานีโทรทัศน์ช่อง 8
- ธุรกิจสื่อ: UNLOCKMEN, Pet Hipster
- ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค: RS Mall, คามู ซี, เวล ยู, ไลฟ์เมต, ไวตาเนเจอร์พลัส
- ธุรกิจอื่นๆ: Carnival แบรนด์สตรีทแฟชั่น, Bhouse Studio โรงเรียนสอนเต้น, บริษัท เชฎฐ์ เอเชีย จำกัด, บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), บริษัทไอที ซิตี้ จำกัด (มหาชน), บริษัท อินดีม กรุ๊ป จำกัด, บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน), บริษัท แอสเซทไวส์ จำกัด (มหาชน)
น่าสนใจว่า Popcoin จะร้อนแรงแค่ไหน เมื่อเข้ามาเป็นโทเคนมิติใหม่แห่งวงการบันเทิง-การตลาด!