ซัมซุง : Passion for Winning

5 ปีที่แล้วผู้บริหารกลุ่มธุรกิจโทรศัพท์มือถือของซัมซุงประกาศลั่นว่า จะเอาชนะ “โนเกีย” เพื่อขึ้นเป็นอันดับ 1 ของตลาดโทรศัพท์มือถือในเมืองไทยให้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไม่ได้ แต่วันนี้ “ซัมซุง” ไปถึงจุดนั้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ในตลาดโลกแม้ภาพรวมของธุรกิจโทรศัพท์มือถือซัมซุงจะยังคงอยู่ในอันดับ 2 รองจากโนเกีย แต่ระยะห่างระหว่างที่ 1 และที่ 2 เริ่มแคบลง จากเคยมีส่วนแบ่งห่างกันเท่าตัว ก็เหลือเพียงห่างกันไม่ถึง 10% จนไตรมาสแรกของปี 2011 การ์ทเนอร์รายงานว่า ซัมซุงมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ 16.1% โนเกียอยู่ที่ 25.1%

สถานการณ์นี้ต่างจากในเมืองไทยที่ซัมซุงขยับใกล้โนเกียอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่ “ซัมซุง” เปิดตัวโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่เป็นระยะๆ เจาะทุกเซ็กเมนต์ ด้วยจำนวนปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 40 รุ่น ใช้งบการตลาดปูพรมไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาทต่อปี รวมไปถึงการปรับระบบช่องทางการจัดจำหน่าย จนปลายปี 2009 ซัมซุงประกาศความสำเร็จเป็นครั้งแรก โดยอ้างผลสำรวจของ GFK ว่าซัมซุงมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 32.9% ส่วนโนเกีย 32.3%

นั่นเป็นครั้งแรกที่ซัมซุงได้ลิ้มรสของความเป็นเบอร์ 1 แต่ความท้าทายของซัมซุงยังมี เพราะห่างแค่ 0.6% จึงอาจเป็นแค่จังหวะเดียวเท่านั้น และยังมีคู่แข่งกระหน่ำเข้ามาในตลาด โดยเฉพาะความแรงอย่างต่อเนื่องของไอโฟนและแบล็คเบอร์รี่ ที่กวาดตลาดบนได้สำเร็จ ทำให้ตั้งแต่ปี 2010 ตลาดบนเริ่มขยับมาที่สมาร์ทโฟน ขณะที่ตลาดล่างราคาเริ่มหล่นลงไปเรื่อยๆ ถึงขนาดที่คนในวงการจัดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือบอกว่าราคาเครื่องต่ำกว่า 1,000 บาท กำไรแค่ 5 บาท ก็ต้องยอมขายแล้ว

นี่คือความสำเร็จในเบื้องต้นของซัมซุง แต่ก็ยังมีโจทย์อีกหลายข้อที่ต้องตอบ กรณีศึกษาของ “ซัมซุง” ในเมืองไทย ในช่วงที่ผ่านมาและทิศทางที่กำลังไปจะเป็นอย่างไรนั้น สามารถสรุปได้จากคำสัมภาษณ์ของผู้บริหารซัมซุง และผู้ที่มีส่วนร่วมกับแบรนด์ของซัมซุง ซึ่งจัดได้ว่ามีส่วนผสมการตลาดครบ ที่ไม่เพียงแค่ 4 P อย่าง Product Price Place Promotion เท่านั้น แต่ยัง + อีก 4 P ที่สำคัญคือ People Passion Pressure และ Partnership ที่จะใช้เป็นส่วนผสมในการบุกตลาดนี้อย่างต่อเนื่อง

Product : แผนส่งฮีโร่บุกทุกเซ็กเมนต์
มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นฮีโร่อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่โทรศัพท์มือถือธรรมดาที่สร้างความต่างด้วยฝาพับ รุ่น 2 ซิม จนมาถึงทัชโฟนที่บุกตลาดล่างด้วยสีสันของตัวเครื่องอย่างรุ่น Candy มาตลาดบนด้วยสมรรถนะของจอสัมผัส คมชัด และจอใหญ่กว่าคู่แข่ง

นี่คือประสบการณ์ที่ “ซัมซุง” ได้จากการเป็นผู้รับจ้างผลิต (OEM) และที่สำคัญ “วิชัย พรพระตั้ง” ผู้อำนวยการธุรกิจโทรคมนาคม บริษัทไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด บอกว่า ซัมซุงให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่องและลงทุนมหาศาลในส่วนนี้ โดยเน้นตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ ในฐานะเครือข่ายซัมซุงในประเทศไทย ก็มีการแชร์ข้อมูลความต้องการของลูกค้าสู่บริษัทแม่ตลอดเวลา

ผลิตภัณฑ์ที่สำคัญในช่วง 2 ปีหลังนี้คือสมาร์ทโฟนในตระกูล Galaxy ที่ถือว่ามาได้ถูกที่ถูกเวลา ที่ผู้บริโภคต้องการโทรศัพท์มือถือที่ตอบโจทย์ชีวิตการทำงานและส่วนตัวมากขึ้น หลังจากตลาดเรียนรู้สีสันของไอโฟนไปแล้ว จนตลาดโทรศัพท์มือถือที่เคยเงียบ กลับคึกคักขึ้นมา

“วิชัย” บอกว่า Galaxy S ที่เปิดตัวปี 2010 เหมือน Tipping Point ที่ทำให้ซัมซุงโดดเด่นในตลาดนี้ จนต่อยอดให้ซัมซุงมีสินค้าในตระกูล Galaxy ครบทุกเซ็กเมนต์ตั้งแต่สมาร์ทโฟนระดับล่างในราคาไม่ถึง 5,000 บาท อย่างGalaxy Mini, Cooper จนถึงระดับไฮเอนด์ Galaxy S และ II ราคาประมาณ 20,000 บาท รวมไปถึงการทำตลาดผลิตภัณฑ์ตัวใหม่อย่างแท็บเล็ต ที่ใช้ชื่อแบรนด์ว่า ซัมซุง Galaxy Tab

ทั้งหมดนี้คือยุทธศาสตร์การทำผลิตภัณฑ์ให้มี Product Hero บุกทุกเซ็กเมนต์

Price : หั่นราคาเพื่ออนาคต
ไม่ว่าจะเป็นเซ็กเมนต์ไหน นโยบายของซัมซุง คือการทำราคาให้ถูกกว่าคู่แข่ง ซึ่ง “วิชัย” บอกว่าเป็นความพยายามทำราคาให้สมเหตุสมผลและผู้บริโภคสามาาถจ่ายได้ ขณะเดียวกันยอดขายที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้เกิด Economy of Scale ต้นทุนในการผลิตต่ำลงเมื่อมีการผลิตจำนวนมากขึ้น

สัญญาณการบุกด้วยราคาเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อกลางปี 2011 ซัมซุงเริ่มยิงแคมเปญหั่นราคาในตลาดล่าง พร้อมกับตอกย้ำเรื่องคุณภาพที่สื่อสารให้เห็นความคงทนของสินค้า ซึ่งเป็นจุดอ่อนของซัมซุงมาโดยตลอด

“วิชัย” บอกว่าหลังจากทำตลาดระดับบนมาช่วงหนึ่ง ซัมซุงก็อยากเอาใจตลาด Mass บ้าง แคมเปญล่าสุดรุนวิทยุ FM ลดจาก 890 เหลือ 567 บาท คือกลยุทธ์ล่าสุดเพื่อรักษาตลาด Mass ไว้ที่ต่อไปจะขยับมาใช้ฟีเจอร์โฟน

หรือแม้แต่ Galaxy Mini ที่เหลือ 4,900 บาทเมื่อเดือนกรกฎาคมซึ่งถูกกว่าช่วงเปิดตัวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2011 ประมาณ 1,000 บาท ก็เป็นยุทธศาสตร์ที่ “วิชัย” บอกว่าเพื่อดึงลูกค้าหน้าใหม่เข้ามาในตลาดสมาร์ทโฟน ซึ่งกลุ่มนี้มีโอกาสที่จะใช้สมาร์ทโฟนในราคาแพงขึ้น

Place : เรียลไทม์ไม่พอ ลุย Experience Shop
จุดแข็งของซัมซุงเรื่องช่องทางการจัดจำหน่าย ที่ได้เปลี่ยนจากระบบขายผ่านดิสทริบิวเตอร์รายเดียวคือ TWZ และมีปัญหาการฟ้องร้อง มาเป็นระบบ Direct Trade ที่ซัมซุงประสานงานกับไมโครดิสทริบิวเตอร์หรือฮับมาสเตอร์ ที่ส่งสินค้าให้ดีลเลอร์ที่เป็นจุดจำหน่ายโดยตรง หลังจากที่ปี 2007 โดยลงทุนทั้งระบบซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ ที่เรียบกว่า Samsung Channel Sale Information (SCSI) ที่ทำให้รู้ความเคลื่อนไหวของสินค้าแบบเรียลไทม์

เมื่อมาถึงการบุกสมาร์ทโฟน ซัมซุงเร่งปรับโฉมช็อป เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้เข้ามาลองใช้สมาร์ทโฟนของซัมซุงมากขึ้น ด้วยงบลงทุนถึง 1,000 ล้านบาท

Promotion : เวลาเปลี่ยน โปรยงบก็ต้องเปลี่ยน
ซัมซุง ถือเป็นแบรนด์ที่ใช้งบโปรโมชั่นต่อปีสูง ปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ชนิดจัดเต็ม IMC มีพรีเซ็นเตอร์ช่วยทำให้ผู้บริโภคจดจำสินค้าได้เร็วขึ้น ซึ่งเหมาะกับซัมซุงในช่วงที่ผ่านมา แต่นับจากนี้อาจไม่ได้ใช้งบกระจายเหมือนที่ผ่านมา ซึ่ง “สิทธิโชค นพชินบุตร” ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายการตลาด ธุรกิจโทรคมนาคม บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด บอกว่า การโปรยงบอาจไม่ได้ผลเหมือนเดิม อาจได้ผลกับบางกลุ่ม แต่เข้าไม่ถึงบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มสมาร์ทโฟน ที่ต่อไปกลุ่มนี้จะเน้นใช้สื่อออนไลน์มากขึ้น (อ่านเพิ่มเติม ซัมซุง Galaxy S II แท็กซี่ติดสปีด)

People +Passion + Pressure = Profit นี่คือ 3 P ที่เชื่อมต่อกัน ที่คนทำงานในซัมซุงนั้นมีวัฒนธรรมการทำงานที่ต้องมี Passion การเอาชนะ พร้อมกดดันตัวเองให้ได้ผลงานเกินมาตรฐานทั่วไป นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้องค์กรซัมซุงได้ผู้บริหารฝีมือดี แรงขับสูงมาร่วมงานไม่ขาด ขณะเดียวกันการใช้พลังงานสูง ก็ทำให้มีการเปลี่ยนตัวผู้บริหารบ่อยครั้ง เฉพาะส่วนงานของธุรกิจโทรศัพท์มือถือในช่วง 4 ปีมีการเปลี่ยนตัวระดับผู้บริหารแล้วประมาณ 3 ครั้ง จนล่าสุดมี “วิชัย” และ “สิทธิโชค” เป็นแกนหลักในสร้างยอดขายให้กับซัมซุงในประเทศไทย

การเปลี่ยนผ่าน และการสร้างผลงานจากผู้บริหารรุ่นก่อน คือสิ่งที่ “วิชัย” บอกว่าเหมือนโมเมนตั้มที่ส่งต่อมาในปัจจุบันอย่างที่เห็น (อ่านเพิ่มเติม “DNA คนซัมซุง”)

Partnership แพ็กทุกค่าย มีแต่ได้กับได้
“สิทธิโชค” บอกว่าความโดดเด่นของซัมซุงคือการเป็นพันธมิตรธุรกิจกับทุกส่วนที่น่าจะเกี่ยวข้องและทำให้สินค้าซัมซุงเติบโต ไม่ว่าจะเป็นการเลือกเป็นพันธมิตรกับกูเกิลในการพัฒนาแอนดรอยด์โฟน และการร่วมมือกับค่ายโทรศัพท์มือถือเพื่อทำแพ็กเกจราคาให้ลูกค้า อย่างในประเทศไทยซัมซุงก็ร่วมกับมือถือทุกค่าย โดยเลือกจังหวะ เวลา ที่เหมาะสมกับสินค้าที่ต้องการเปิดตัว

ตัวอย่างเช่น ซัมซุงเลือกทำตลาดวัยรุ่นกับดีแทค ด้วยรุ่น Candyเลือกทำตลาดกับเอไอเอสเมื่อเปิดตัว Galaxy S และเมื่อถึงรุ่น Galaxy S II ก็จับมือกับทุกค่ายมือถือ จนสร้างปรากฏการณ์คนเข้าคิวเพื่อจองซื้อ (อ่านเพิ่มเติม “ปาร์ตี้ Galaxy S II ข้ามถิ่น “ไอโฟน”)

แม้หลายคนจะมองว่าซัมซุงได้เดินมาสัมผัสความสำเร็จแล้ว แต่ “วิชัย และสิทธิโชค” ย้ำว่าอาจจะใช่เมื่อวัดจากยอดขายในครึ่งปี 2011 ที่เพิ่มขึ้นถึง 50% และคนทำงานของซัมซุงมีดีเอ็นเอของ Passion For Winning อย่างเต็มที่ แต่ความสำเร็จนี้จะอยู่อีกนานหรือไม่ มีคำตอบจาก “วิชัย” เพียงว่า เส้นทางนี้ยังอีกยาวไกล เพราะนี่คือการเริ่มต้นของการแข่งขันรอบใหม่ในธุรกิจโทรศัพท์มือถือเท่านั้น

Timeline “ไฮไลต์ มือถือซัมซุง”
ปี 2000 ซัมซุงบุกธุรกิจโทรศัพท์มือถือในไทย แต่ผู้บริโภคยังติดภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า และยังไม่เชื่อมั่นในความคงทนของสินค้า
ปี 2003 โปรดักต์ฮีโร่คือรุ่นฝาพับ E700 ที่ราคาเปิดตัวขณะนั้นสูงถึง 19,000 บาท
ปี 2004 โมโตโรล่าส่งรุ่น RAZR ฝาพับมาเอาแย่งตลาด
ปี 2007 ซัมซุงบุกจอสัมผัส F700 แต่ยังไม่ดังนักเพราะเจอกระแสไอโฟน
ปี 2008 ส่งจอสัมผัสเข้ามาบุกทุกเซ็กเมนต์ ตั้งแต่ระดับบนอย่าง Omnia F480 Touchwiz ระดับกลางอย่าง Star และ Candy ที่มีจุดเด่นเรื่องดีไซน์และนวัตกรรมของจอ
ปี 2010 บุกตลาดบนอีกครั้งด้วย Galaxy S ที่ร่วมมือกับกูเกิลในการพัฒนาระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ที่เป็นทางเลือกของคนที่ปฏิเสธไอโฟน ซัมซุงส่ง Galaxy ลงตลาด 2 รุ่นในเวลา 2 ปี กลายเป็นแบรนด์ที่ต่อยอดให้ซัมซุงทำตลาดในกลุ่มสินค้าแท็บเล็ตอีกด้วย