เมื่อคน Gen Z เริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เสมือนว่าสมรภูมิรบได้เกิดขึ้นระหว่างพนักงานใหม่วัยหนุ่มสาวกับพนักงานเก่าที่อยู่มาก่อน
หัวหน้าระดับผู้จัดการเรียกคนเจนเนอเรชันนี้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันว่าเป็นพวก “เรื่องเยอะ” ไม่สามารถทำงานง่ายๆ ให้สำเร็จได้ ขณะเดียวกัน Gen Z ก็คอยหงุดหงิดนายจ้างที่ไม่ค่อยจะใส่ใจกับประเด็นต่างๆ เช่น สวัสดิการด้านสุขภาพจิต, รายได้ที่เท่าเทียม, ความรับผิดชอบขององค์กร หรือความหลากหลายในองค์กร
Gen Z น่าจะกำลังเผชิญอุปสรรคแบบเดียวกับที่คน Gen Y เคยเผชิญมาก่อนเมื่อครั้งที่ก้าวเท้าเข้าสู่ตลาดแรงงานแรกๆ (เหมือนว่าพนักงานรุ่นเก่าจะชอบเรียกคนรุ่นใหม่กว่าทุกรุ่นว่าเป็น “พวกขี้เกียจ”) อย่างไรก็ตาม “ลินด์ซีย์ พอลลัก” ผู้เชี่ยวชาญด้านสถานที่ทำงานและอาชีพ กล่าวว่า Gen Z น่าจะต้องเผชิญความท้าทายยิ่งกว่าท่ามกลางโรคระบาดโควิด-19 และการพัฒนาวัฒนธรรมการทำงานที่รวดเร็วยิ่งขึ้น
“ทุกคนผ่านโรคระบาดมาด้วยประสบการณ์ที่แตกต่างกัน” พอลลักให้สัมภาษณ์นิตยสาร Fortune “เราต้องมองในมุม Gen Z ว่าพวกเขาเผชิญกับโรคระบาดในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตและการงานของตน ซึ่งทำให้พวกเขาเรียกร้องการสนับสนุนชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีมากกว่าคนรุ่นอื่น รวมถึงมีความคาดหวังที่ชัดเจนเปิดเผยยิ่งกว่า”
ทัศนคติของ Gen Z ที่ถูกคนรุ่นเก่ากว่ามองว่า “ขี้เกียจ” หรือ “เรื่องเยอะ” จริงๆ แล้วก็เป็นเพียงแค่การให้คุณค่าและวิธีการทำงานที่แตกต่างไป
พอลลักกล่าวว่า บางครั้งปัญหาก็แก้ได้ง่ายๆ แค่เพียง “ใช้เวลา” สอนคน Gen Z ในเรื่องต่างๆ ที่คนรุ่นอื่นมองว่าควรจะเป็น “สามัญสำนึก” งานเล็กน้อยบางอย่างเช่นการชวนลูกค้าคุยสัพเพเหระ หรือการเขียนอีเมลด้วยภาษาที่เป็นมืออาชีพ สิ่งเหล่านี้พนักงานที่ทำงานมาหลายปีจะทำได้โดยอัตโนมัติ แต่สำหรับเจนเนอเรชันที่เด็กที่สุดในตลาดงานขณะนี้ไม่ได้โตมากับการทำสิ่งเหล่านี้เลย และยิ่งเข้าตลาดแรงงานมาในช่วงโรคระบาดก็ยิ่งไม่ได้รับการฝึกฝน
“มันเหมือนกับคนแต่ละรุ่นนั้นมาจากคนละประเทศ คุณไม่ได้พูดภาษาเดียวกัน และไม่ได้มีธรรมเนียมปฏิบัติเหมือนกัน” พอลลักกล่าว “คุณอาจจะรู้วิธีทำงานในประเทศนี้ แต่ถ้าหัวหน้าส่งคุณไปดูไบ คุณก็คงต้องเปลี่ยนวิธีทำงานบางอย่างบ้างเพราะวัฒนธรรมแตกต่างกัน คุณอาจจะฉลาด แต่มีความแตกต่างที่ทำให้คุณต้องปรับตัวและเรียนรู้ไประหว่างทาง”
ในทำนองเดียวกัน Gen Z ก็กำลังรับภาระรับผิดชอบในรูปแบบเดียวกันนั้น
จูนกับ Gen Z: ขีดเส้นความคาดหวังให้ชัด และคุยให้ละเอียด
ในทางปฏิบัติแล้ว นั่นหมายความว่าใครที่ทำงานกับ Gen Z จะต้องมีความอดทนและลงลึกในรายละเอียดเมื่อสั่งงาน “คุณต้องจำไว้ว่าจะต้องสั่งงานหรือให้ข้อมูลคนในทีมว่าคุณคาดหวังให้เขาทำอะไรแน่” พอลลักกล่าว เพราะแต่ละคนมีความเข้าใจที่แตกต่างกัน สามัญสำนึกของสิ่งหนึ่งๆ ไม่ได้ตรงกัน จากการเติบโตมาในสิ่งแวดล้อมที่แตกต่าง
- ส่องอินไซต์ช่วง ‘Mega Sale Days’ พร้อมอัปเดตกลยุทธ์มัดใจ ‘Gen Z’ ผู้ขับเคลื่อนโซเชียลคอมเมิร์ซ
- ชำแหละตลาด ‘ลักชัวรี่’ ยุค ‘เศรษฐี GEN Z’ ซื้อง่าย จ่ายไว ขอแค่ให้ได้ ‘RARE ITEM’
เธอเล่าถึงการทำงานเมื่อเร็วๆ นี้ของเธอกับบริษัทด้านการเงินแห่งหนึ่ง ระดับบริหารมีการตำหนิว่า Gen Z ชอบเอาเปรียบนโยบายวันลาโดยได้รับค่าจ้างของบริษัท แต่เมื่อพอลลักไปศึกษากฎบริษัทแล้ว ในเนื้อความมีระบุแค่ว่า พนักงานมีสิทธิที่จะลาหยุดได้ตามความเหมาะสม
พอลลักมองว่านั่นคือสัญญาณเตือนครั้งใหญ่ “นิยามคำว่า ‘เหมาะสม’ ของคุณกับของฉันอาจจะไม่เหมือนกันก็ได้” เธออธิบาย “คุณต้องระบุให้ชัดว่าความคาดหวังคืออะไร กฎที่ไม่เขียนให้ชัดคือกฎที่ไม่ยุติธรรม” และคุณไม่สามารถจะทึกทักเอาเองว่าทุกคนจะเข้าใจระเบียบการทำงานได้เอง
เมื่อมาถึงประเด็นการทำงานจากบ้าน (work from home) ระดับบริหารคงไปไหนไม่รอดถ้าเอาแต่บอก Gen Z ว่าคุณทำอย่างนั้นไม่ได้เพราะประสิทธิภาพการทำงานจะต่ำลง เพราะพวกเขารู้แล้วว่าทำได้ จากการที่ใครๆ ก็ทำกันมาตลอดสองปีในช่วงโรคระบาด
แทนที่จะพูดแบบนั้น การพูดคุยทำความเข้าใจกับ Gen Z อาจจะต้องลงลึก และเปลี่ยนวิธีพูด เช่น เราอยากให้พนักงานกลับมาออฟฟิศเพราะทีมจะมีการประชุมและระดมสมอง ซึ่งจะให้ประสิทธิภาพที่ดีกว่าเมื่อทุกคนได้มาเจอกันต่อหน้า หรืออาจจะบอกว่า เพราะวิธีนี้ทำให้เพื่อนร่วมงานได้รู้จักกันอย่างเป็นส่วนตัวมากกว่า
“เราต้องให้ความชัดเจนไปเลยว่าประโยชน์ของการทำงานแบบไฮบริดหรือมาเจอตัวจริงคืออะไร” พอลลักกล่าว
“Gen Z ไม่ได้เป็นมนุษย์ที่มีพื้นฐานแตกต่างสิ้นเชิง พวกเขาแค่โตมาในประเทศและวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไปแล้ว ดังนั้น อย่าไปมองว่า Gen Z คือคนที่แตกต่าง แต่ให้ดูว่าวัฒนธรรมของพวกเขาเป็นอย่างไรในช่วงที่เขาโตมา” พอลลักกล่าว