ไม่ใช่ตัวร้าย! งานวิจัยล่าสุดเผย ‘เกม’ ช่วยให้ ‘สมอง’ ของเด็กทำงานได้ดีขึ้น

ภาพจาก Shutterstock
ที่ผ่านมา เกม มักเป็นตัวร้ายในหน้าข่าวเสมอ ๆ แม้ว่าปัจจุบัน เกมจะกลายเป็นอาชีพที่สามารถทำเงิน และถูกนับเป็น กีฬาอีสปอร์ต ไปแล้วก็ตาม แต่ผู้ปกครองมักกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่เป็นอันตรายของเกมที่มีต่อบุตรหลาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพจิต ปัญหาสังคม ไปจนถึงการพัฒนาการทางร่างกาย

แต่จากผลการศึกษาใหม่ในสหรัฐฯ ที่ตีพิมพ์ใน JAMA Network Open บ่งชี้ว่า เกมอาจ มีประโยชน์ ในด้านการช่วยให้ สมองของเด็กทำงานได้ดีขึ้น โดยการศึกษาดังกล่าวนั้นเกิดจาก Bader Chaarani ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตเวชแห่งมหาวิทยาลัยเวอร์มอนต์และเพื่อนร่วมงาน ได้นำการศึกษาการพัฒนาความรู้ความเข้าใจในสมองของวัยรุ่น หรือ Adolescent Brain Cognitive Development (ABCD) มาทำค้นคว้าต่อ

โดยก่อนหน้านี้ ผลการวิจัยดังกล่าวมุ่งเน้นถึงการศึกษาผลลัพธ์ที่เป็นอันตราย ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโยงการเล่นเกมกับภาวะซึมเศร้าและความก้าวร้าวที่เพิ่มขึ้น แต่จากการวิจัยใหม่ของ Bader Chaarani นั้นแสดงให้เห็นว่า เกมเองก็สามารถใช้ในการพัฒนาสมองของเด็กได้

สิ่งที่งานวิจัยใหม่อยากนำเสนอเพิ่มเติมต่อจากนั้นก็คือ พฤติกรรมการเล่นเกมจะมีผลร่วมด้วยกับพัฒนาการของสมองมากน้อยแค่ไหน และที่เขาสนใจมาศึกษาวิจัยเรื่องเกมเป็นเพราะเขาเป็นนักเล่นเกมตัวยงที่เชี่ยวชาญด้านภาพประสาท”

สำหรับการวิจัยดังกล่าว เกิดจากการทดสอบเด็กอายุ 9-10 ขวบ จำนวนประมาณ 2,000 คน ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ไม่ค่อยเล่นเกม และกลุ่มที่เล่นเกมอย่างน้อย 3 ชั่วโมง/วันขึ้นไป โดยพวกเขาจะต้องทำแบบทดสอบการทำงานของสมองประกอบไปด้วยการวัดสมาธิ การควบคุมการตอบสนอง การวัดการจดจำ และสุขภาพจิต  รวมถึงการสแกนสมองด้วยถ่ายภาพคลื่นแม่เหล็ก (fMRI) เพื่อวัดผล

โดยผลลัพธ์พบว่า สมองของกลุ่มเด็กที่เล่นเกมมีคะแนนการทดสอบสูงกว่า โดยพบว่ามีพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับความสนใจและความจำเพิ่มมากขึ้น ในส่วนของการวัดผลด้านสุขภาพจิต ผลของทั้งกลุ่มที่ไม่ค่อยเล่นและเล่นเป็นประจำ ออกมาไม่แตกต่างกันนัก

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยภายนอกอื่น ๆ ที่ยังส่งผลต่อความเป็นไปได้ของการทดสอบ เช่น สภาพแวดล้อมที่บ้านของเด็ก ๆ การออกกำลังกายและคุณภาพการนอนหลับ ดังนั้น ทีมงานหวังว่าจะได้คำตอบที่ชัดเจนยิ่งขึ้นในขณะที่การศึกษายังคงดำเนินต่อไป และพวกเขามองดูเด็กคนเดิมอีกครั้งในขณะที่เด็ก ๆ กำลังโตขึ้น

สุดท้าย Bader Chaarani ย้ำว่า การใช้เวลาอยู่หน้าจอมากเกินไปส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต และสุขภาพกายโดยรวม เอาเป็นว่า มากไปไม่มีอะไรดี ถ้าจะเล่นก็เอาแค่พอดี ๆ อย่าเล่นจนเสียการเสียงานไม่เป็นอันกินอันนอนแล้วกัน

Source