‘มีความรู้ก็อยู่รอด’ อีกแคมเปญย่อยง่ายของ ‘เอไอเอส อุ่นใจไซเบอร์’ ช่วยคนไทยไม่ตกเป็นเหยื่อ!


ย้อนไปปี 2562 ที่ ‘เอไอเอส’ (AIS) เริ่มชวนคนไทยให้หันมาตระหนักถึง ภัยไซเบอร์ ผ่านหลักสูตร ‘อุ่นใจไซเบอร์’ พร้อมกับออกแคมเปญ “ถ้าเราทุกคนช่วยกัน เพราะเราทุกคนคือเครือข่าย” ที่สะท้อนถึงปัญหาที่เยาวชนต้องเผชิญจากการมาของอินเตอร์เน็ต จนมาถึงแคมเปญล่าสุด ‘มีความรู้ก็อยู่รอด’ ที่สะท้อนถึงความรุนแรงของภัยไซเบอร์ที่อาจรุนแรงถึงชีวิต


ภัยไซเบอร์ที่มากกว่าบูลลี่

จากจุดเริ่มต้นเพื่อช่วยเสริมสร้างความฉลาดทางดิจิทัล (Digital Intelligence Quotient : DQ) แต่ปัจจุบันหลักสูตร อุ่นใจไซเบอร์ ของ เอไอเอส คิดไปไกลกว่านั้นมาก เพราะการสร้างภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์ไม่ได้อยู่แค่เยาวชน แต่ต้องสร้างให้กับทุกคน เพราะ มิจฉาชีพ ในปัจจุบันก็มาในรูปแบบออนไลน์

พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน รองผู้บัญชาการ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในช่วง 8 เดือนที่มีการเปิดให้แจ้งความผ่านเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com มีการแจ้งความถึง 113,461 คดี แบ่งเป็น 19 ประเภท รวมมูลค่าความเสียหาย 21,900 ล้านบาท โดยคดีเกี่ยวกับการ ซื้อของออนไลน์ เช่น ไม่ได้ของหรือไม่ตรงปกมีมากที่สุด แต่คดีที่ทำให้เกิดความ เสียหายมากสุด คือ หลอกลงทุน และ แก๊งคอลเซ็นเตอร์

“มิจฉาชีพมักโทรมาแจ้งเรื่องมีพัสดุตกค้างเป็นสิ่งผิดกฎหมาย โดยจะหลอกล่อให้เราโอนเงินเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ หรือใช้โปรไฟล์หนุ่มหล่อสาวสวยมาหลอกให้รักแล้วชวนลงทุน โดยมีคนโดนหลอกมูลค่าความเสียหายเป็นหลักล้านทุกวัน” พล.ต.ต.นิเวศน์ ย้ำ

ทางด้าน แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การที่คนใช้เวลากับออนไลน์มากขึ้นก็ส่งผลต่อสุขภาพจิตและสุขภาพกาย ยิ่งการระบาดของโควิดได้มีผลต่อแรงกดดันทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวยิ่งห่างเหิน ปัญหาต่าง ๆ ยิ่งรุมเร้า กลายเป็นสาเหตุหลัก ๆ ในการทำร้ายตัวเองมาจาก อัตราการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นในกลุ่มคนที่อายุน้อยลงเรื่อย ๆ และมีวิธีการที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ

“กรมสุขภาพจิต เก็บข้อมูลแล้วพบว่า คนไทยมีความรู้เรื่องสุขภาพจิตพอสมควร แต่เป็นลักษณะ รู้เฉย ๆ แต่ไม่ได้นำมาใช้หรือนำมาปฏิบัติอย่างเต็มที่ ให้ตัวเองอยู่รอดท่ามกลางมีปัญหารุมเร้า”


‘มีความรู้ก็อยู่รอด’ แคมเปญย่อยง่ายแต่ลึกซึ้ง

หลังจากที่เคยใช้แคมเปญ เพราะเราทุกคนคือเครือข่าย ที่นำเสนอในแบบดราม่าจริงจัง พร้อมสะท้อนถึงปัญหาที่เยาวชนต้องเผชิญจากการมาของอินเตอร์เน็ตจากปัญหาการบูลลี่ การติดเกม แต่ในบริบทปัจจุบันที่มีเรื่องของมิจฉาชีพ ปัญหาเฟคนิวส์ และทุกปัญหาอาจนำไปสู่การ สูญเสีย ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทำให้ พี่เอื้อง สายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ AIS ได้วาง 3 แนวทางหลักในการสื่อสารถึงภัยไซเบอร์ผ่านแคมเปญใหม่ มีความรู้ก็อยู่รอด ว่าต้อง ย่อยง่าย ไม่ต้องตีความ และไม่ทำร้ายใคร

“เอไอเอสเราเป็นคนสร้างอินฟราสตรั๊กเจอร์ เสมือนการสร้างซูเปอร์ไฮเวย์ดิจิทัล ถ้าคนที่มาใช้เส้นทางนี้ไม่มีความรู้ เขาจะใช้อย่างปลอดภัยได้อย่างไร อย่างขับรถเราก็ต้องมีสกิลการขับรถให้ปลอดภัย ดังนั้น เราอยากเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ช่วยให้เขาอยู่บนโลกดิจิทัลให้ปลอดภัย ใช้ให้เกิดประโยชน์” พี่เอื้องย้ำ

สำหรับแคมเปญ มีความรู้ก็อยู่รอด เอไอเอสจึงได้ทำงานร่วมกับ Phenomena สร้างภาพยนตร์โฆษณาชิ้นใหม่ ที่เล่าเรื่องผ่าน ผี ที่นั่งคุยกันในห้องน้ำถึงสาเหตุการเสียชีวิตที่เกิดจากภัยไซเบอร์ ไม่ว่าจะเป็นการ ถูกมิจฉาชีพหลอก หรือ หลงเชื่อเฟคนิวส์ ให้กับ น้องหน้ายักษ์ ที่ถูกบูลลี่เรื่องความผิดปกติจากการมีเขี้ยวโง้งขนาดใหญ่ แต่ก็สามารถรับมือได้เพราะหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์

พลัช ร่มไทรย์ ผู้กำกับภาพ Phenomena อธิบายว่า ที่ต้องเล่าเรื่องผ่าน ผีหรือคนตายเพราะต้องการสื่อว่า ปัญหาเหล่านี้ส่งผลถึง ชีวิต จริง ๆ และที่นำเสนอเป็นแนวคอมมาดี้เพราะต้องการให้ดูง่าย ดูได้ทุกวัย ไม่อยากให้เขากดข้าม และอีกโจทย์สำคัญคือ ต้องไม่ทำร้ายใคร ดังนั้น จึงเลือกจะใส่เขี้ยวยักษ์ที่ ไม่มีจริง จะได้ไม่เป็นการบูลลี่รูปร่างหน้าตาในโฆษณา

“เราไม่รู้หรอกว่ามีคนเป็นเหยื่อเยอะมากและมันเป็นเรื่องคอ ขาด บาด ตาย คือ ตายจริง ๆ มันส่งผลถึงชีวิตจริง ๆ และเราตั้งโจทย์ว่าจะทำให้หนังได้ประโยชน์สูงสุดและไม่ทำร้ายใคร” พลัช ย้ำ

พี่เอื้องทิ้งท้ายว่า นอกจากแคมเปญโฆษณา แต่เอไอเอสจะไม่หยุดสื่อสารถึงบริบทยิบย่อยหรือที่ทริกเกอร์เหยื่อได้ง่าย อะไรที่มันเป็นจุดเล็ก ๆ ที่ยังไม่สื่อสาร เราก็จะทำต่อไป เพื่อให้คนไทยได้ตระหนักถึงภัยไซเบอร์ ควบคู่กับหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ที่ประกอบด้วย 4P4ป โดยสามารถเรียนออนไลน์ได้ที่ https://learndiaunjaicyber.ais.co.th/

ติดตามแคมเปญ “มีความรู้ก็อยู่รอด” ได้ที่ Facebook: AIS Sustainability และรับชมหนังโฆษณาชุดใหม่ล่าสุดได้ที่  https://m.ais.co.th/rxHnoozSJ