ร่วมสืบสานเทศกาลสายน้ำแห่งวัฒนธรรมไทย River Festival 2022 ครั้งที่ 8 “รักษ์ ณ สายน้ำ”


กลับมาอีกครั้งกับ River Festival 2022 เทศกาลสายน้ำแห่งวัฒนธรรมไทย ครั้งที่ 8 เทศกาลแห่งวัฒนธรรมที่ทุกคนรอคอย ในปีนี้มาในคอนเซ็ปต์ “รักษ์ ณ สายน้ำ” จัดขึ้นในช่วงวันที่ 5 – 8 พฤศจิกายน 2565 เป็นการสืบสานวัฒนธรรมผ่านท่าน้ำสำคัญของไทย

River Festival 2022 เป็นอีกหนึ่งโปรเจ็กต์ยักษ์ใหญ่ที่ช่วยสืบสานประเพณีดีงามส่งท้ายปีของทุกปีในช่วงเทศกาลลอยกระทง  ซึ่งในปีนี้ได้กลับมาจัดงานแบบเต็มพื้นที่อีกครั้งหลังสถานการณ์โควิด–19 ได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 8 แล้ว เพื่อต่อยอดคุณค่าทางวัฒนธรรม กับประเพณีลอยกระทง และมงคลอันดีงามของไทย ตอกย้ำการเป็นเทศกาลวัฒนธรรมที่คำนึงเรื่องความยั่งยืนเป็นหลัก ได้แก่ มิติด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน ผ่านการดูแลรักษ์โลก รณรงค์ไม่เพิ่มขยะในแม่น้ำ ลำคลอง การลอยประทีปในบ่อลอยประทีป  เรียนรู้เรื่องการคัดแยกขยะต่างๆ

งาน River Festival เป็นการร่วมมือกันของภาครัฐ และเอกชน โดยมีบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด ( มหาชน) เป็นหัวเรือใหญ่ ผนึกกำลังร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า กรุงเทพมหานคร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมด้วยองค์กรภาคีอีกหลายภาคส่วน ในการเนรมิตความงดงามให้กับเทศกาลลอยกระทง

โดยในปีนี้ได้จัดงานขึ้นที่ 10 ท่าน้ำร่วมสมัย ริมแม่น้ำเจ้าพระยา วัดโพธิ์, วัดอรุณฯ, วัดระฆังฯ, วัดกัลยาฯ, วัดประยูรฯ, ศาลเจ้ากวนอู (คลองสาน), ท่ามหาราช, เดอะล้ง 1919, สุขสยาม ณ ไอคอนสยาม และเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ มีทั้งแหล่งประวัติศาสตร์อย่างวัดสำคัญๆ ที่มีชื่อเสียงยาวนานมานับร้อยปี พื้นที่แห่งวัฒนธรรมของชุมชนเก่าแก่ ไปจนถึงแหล่งชอปปิ้ง และแหล่งแฮงก์เอาท์ยอดนิยมของทั้งชาวไทย และต่างประเทศ ซึ่งแต่ละแห่งก็ล้วนแต่มีความน่าสนใจทั้งในเรื่องสถานที่ ประวัติความเป็นมา รวมไปถึงกิจกรรมต่างๆ ที่รังสรรค์ขึ้นมาด้วยการผสมผสานกับวัฒนธรรมของชุมชน เพื่อร่วมสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

เริ่มจาก “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม” หรือ วัดโพธิ์ ซึ่งจะเปิดให้ได้สักการะพระพุทธไสยาสน์ (พระนอน) และ จุดประทีปรอยพระพุทธบาทจำลอง เพื่อสร้างมงคลร่มเย็นเป็นสุขในชีวิต ร่วมลอยประทีปเทียนหอม ชมนิทรรศการพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวที่จัดแสดงโดยทางวัด รับชมการแสดงดนตรี และนาฎศิลป์จากสถานศึกษาในชุมชน และพบกับการออกร้านจากชุมชนรอบวัดโพธิ์  มาเยี่ยมชมวัดได้ทั้ง 2 ท่าเรือคือ ท่าน้ำวัดโพธิ์ ซอยประตูนกยูง และ ท่าเตียน

ข้ามฟากไปยังอีกฝั่งแม่น้ำที่ “วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร” ที่ก็เปิดให้ร่วมสักการะพระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก สวดมนต์ เจริญสมาธิ และเวียนเทียนพระปรางค์ 4 ทิศ ขอพรหลวงพ่อรุ่งอรุณ เสริมสิริมงคลให้กับตนเอง พบกับการออกร้านค้าจากชุมชน จุดถ่ายภาพเครื่องแขวนดอกไม้มาตกแต่งประดับด้วยแสงไฟ  และรับชมการแสดงดนตรีและนาฎศิลป์จากสถานศึกษาในชุมชน การแสดงดนตรีร่วมสมัยและการแสดงวัฒนธรรมแขนงต่างๆ และร่วมลิ้มลอง หลากหลายเมนูขนมไทยจากร้านค้าชุมชน ที่มาออกร้านที่ลานเสน่ห์ขนมไทย

และร่วมรับฟังเสวนา River Talk  ที่ว่าด้วยเรื่องราวของประวัติศาสตร์ ทานได้ ผ่านตำรับขนมหวานของท้าวทองกีบม้า หรือ มารีอา กียูมาร์ ดึ ปีญา (มารี กีมาร์) ที่ผสานศาสตร์ขนมหวานของสองวัฒนธรรมโปรตุเกส และไทย จนเกิดเป็นขนมไทยหลากหลายเมนู ที่เราคุ้นหู และกลายเป็นเมนูโปรดของใครหลายๆ คน

ใกล้ๆ กันนั้นที่ “วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร” ก็เปิดให้สักการะพระประธานยิ้มรับฟ้า พระประธานวัดระฆังฯ สักการะ รูปหล่อ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สักการะ พระปรางค์วัดระฆัง สักการะพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และเยี่ยมชมตำหนักแดง พบกับการออกร้านค้าจากชุมชน รับชม การแสดงดนตรีและนาฎศิลป์จากสถานศึกษาในชุมชน

สำหรับที่ “วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร” ถือเป็นอีกหนึ่งวัดสำคัญในประวัติศาสตร์ ที่ประดิษฐานหลวงพ่อโต หรือพระพุทธไตรรัตนนายก (หลวงพ่อซำปอกง) มีการเปิดให้ทำบุญหีบสมบัติเจ้าสัวโต มงคลมั่งคั่งจีนเสริมสิริมงคล พร้อมถ่ายภาพกับ เรือสำเภาจำลอง รับชมการแสดงดนตรีและนาฎศิลป์ จากสถานศึกษาในชุมชน

ถัดมาในละแวกเดียวกัน เพียงลอดผ่านสะพานพุทธ ก็เจอกับ “วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร” ที่ก็มีให้ร่วมสักการะพระพุทธธรรมวิเชษฐศาสดา พระประธาน สักการะพระบรมสารีริกธาตุ และ สักการะพระพุทธนาค พร้อมรับฟังบรรยายธรรมโดยท่านพระพรหมบัณฑิต กิจกรรมพิธีสวดกระทงขอขมาพระแม่คงคา ลอยประทีปเทียนหอมบูชาพระบรมสารีริกธาตุ และเดิน ชอป ชิม ชิลล์จากร้านค้ามากมาย เพลิดเพลินไปกับจุดถ่ายภาพหมูกระดาษซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน  เข้าชม การเขียนจิตรกรรมฝาผนังวิหารพระพุทธนาคนำชมโดยเยาวชนเจ้าบ้าน

นอกจากทั้ง 5 วัดสำคัญที่กล่าวมาแล้ว อีก 5 ท่าน้ำก็มีบรรยากาศแห่งความเพลิดเพลินของเทศกาลลอยกระทงไม่น้อยหน้ากัน ไล่มาตั้งแต่ “เอเชียทีค เดอะริเวอร์ ฟร้อนท์” พื้นที่หัวใจสำคัญของการจัดงาน River Festival ที่จัดได้อย่างยิ่งใหญ่อลังการมาทุกปี ด้วยการเป็นศูนย์การค้าริมแม่น้ำขนาดใหญ่ที่ถูกเนรมิตให้เป็นฉากจำลองการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยและกิจกรรมที่หลากหลาย ให้คุณได้อิ่มเอมไปกับประเพณีลอยกระทง พร้อมตระการตากับทัศนียภาพริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในบรรยากาศงานวัดที่มีทั้งเครื่องเล่น และความบันเทิงมากมาย พร้อมทั้งมีคอนเสิร์ตจากศิลปินหลากหลายที่มาร่วมสร้างความสุขทุกวัน ได้แก่  เปาวลี พรพิมล, Yes Indeed, ลาดา อาร์สยาม และ Better Weather

ข้ามไปยังฝั่งธนบุรีที่ “สุขสยาม ณ ไอคอนสยาม” ดื่มด่ำบรรยากาศ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วไปเพลิดเพลินกับอาณาจักรของแหล่งช้อปปิ้งสินค้าท้องถิ่นไทยและร้านอาหารหลากหลายจาก 4 ภาคของไทย

SOOKSIAM รักษ์ ณ สายน้ำ ชมวิถี ยลสีสัน ความงามแห่งสายน้ำ สุขสืบสาน ชุมชน 4 ภาค รักษ์สิ่งแวดล้อม วันที่ 1 – 10 พ.ย. 65  ที่เมืองสุขสยาม ณ ไอคอนสยาม

ล่องริมน้ำไปอีกไม่ไกลกัน เป็นอีกหนึ่งจุดที่ถือเป็นไฮไลท์อย่าง “ล้ง 1919” กับการลอยกระทงในบรรยากาศของวัฒนธรรมจีน โดยการร่วมสักการะ “หม่าโจ้วแห่งบ้านหวั่งหลี” ที่มีอายุ 200 ปี ชื่นชมสถาปัตยกรรมและจิตกรรมฝาผนังโบราณอันงดงาม พร้อมกับ หนังกลางแปลง ตลอด 4 วัน

และขยับต่อไปอีกนิด ที่ท่าน้ำ ศาลเจ้ากวนอู (คลองสาน) ซึ่งนับเป็นพื้นที่ใหม่ล่าสุดที่เพิ่งร่วมเป็นหนึ่งในสถานที่จัด River Festival ในปีนี้เป็นปีแรก ศาลเจ้ากวนอู (คลองสาน) ถือเป็นศาลเจ้าเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย เทพเจ้ากวนอูองค์เล็กสุดเป็นองค์แรกที่เข้ามาในประเทศไทยราวปี พ.ศ. 2279  ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ โดยชาวจีนฮกเกี้ยนได้อัญเชิญมาจากมณฑลฮกเกี้ยนทางเรือ  เชื่อกันว่าสมเด็จพระเจ้าตากสิน เคยเสด็จมาสักการะเทพเจ้ากวนอูที่ศาลแห่งนี้ ก่อนที่จะกรีธาทัพไปทำสงคราม   พบกับกิจกรรม ได้ร่วมสักการะ เทพเจ้ากวนอูแล้ว  ประทีปเทียนลอยหอม พร้อมช้อป ร้านค้าชุมชน ต่างๆ

ปิดท้ายที่ “ท่ามหาราช” แหล่งแฮงก์เอาท์ของเหล่าวัยรุ่นที่ให้คุณได้เพลิดเพลินกับทัศนียภาพของแม่น้ำเจ้าพระยา สัมผัสกับบรรยากาศดีๆ พบร้านอาหารมากมายที่จะมาช้อป ชม ชิม มีมุมถ่ายชิลล์ ชิลล์ริมแม่น้ำ ร่วมสนุกสนานกับการประกวดมิสวันเพ็ญ

ผู้ที่สนใจเข้าร่วมงาน River Festival 2022 สามารถสัมผัสบรรยากาศได้ทั้งรูปแบบออฟไลน์ หรือออนไลน์ได้ที่ www.riverfestivalthailand.com หรือ เฟซบุ๊ก riverfestivalthailand