“อีลอน มัสก์” ไม่รอนานในการตัดสินใจ “เลย์ออฟ” ทีมงานใน Twitter แบบล้างบาง เมื่อวันศุกร์ที่ 4 พ.ย. 2022 มัสก์เชิญพนักงานในส่วนสำคัญๆ ของบริษัทออกไปครึ่งหนึ่ง และทีมที่ถูกให้ออกสื่อให้เห็นว่ามหาเศรษฐีของโลกรายนี้จะให้ความสำคัญ “น้อยลง” ในส่วนไหนบ้าง
หลังจาก “อีลอน มัสก์” เข้าซื้อกิจการ Twitter เพียงสัปดาห์เดียว แรงกระเพื่อมเกิดขึ้นมากมายในบริษัท โดยเฉพาะข่าวลือการเลย์ออฟที่ในที่สุดเป็นความจริง บริษัทประกาศการเลย์ออฟพนักงานไปครึ่งหนึ่ง ซึ่งน่ากังขาว่าการให้ออกจำนวนมากขนาดนี้ในคราวเดียวจะไม่กระทบบริษัทจริงหรือไม่
สำนักข่าว TechCrunch รายงานจากแหล่งข่าวอดีตพนักงาน Twitter ที่เพิ่งถูกให้ออกสดๆ ร้อนๆ กล่าวถึงความโกลาหลที่เกิดขึ้นจากการสื่อสารอย่างเป็นทางการที่มีเพียงเล็กน้อยก่อนที่พนักงานจะได้รับจดหมายให้ออก หรือบางคนมารู้ว่าถูกให้ออกเพราะเข้าถึงเครื่องมือการทำงานอย่าง Slack หรือดาต้าเบสของบริษัทไม่ได้กะทันหัน พนักงานบางคนไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าเพื่อนร่วมงานหรือว่าทีมงานของตัวเองยังมีสถานะอยู่ที่บริษัทหรือไม่
การเลย์ออฟครั้งนี้ถือว่าเป็นการให้ออกทั้งเชิงกว้างและเชิงลึก ทีมงานมากมายได้รับผลกระทบหมด ไล่ตั้งแต่ทีมงานด้านความเชื่อมั่นและความปลอดภัยการใช้งานซึ่งดูแลด้านการตรวจสอบดูแลคอนเทนต์ ไปจนถึงแผนกการตลาดก็ถูกเด้งเหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม ทีมที่ถือว่าถูกให้ออกมากที่สุด ได้แก่ทีมงานเหล่านี้
“ทีมงานด้านสิทธิมนุษยชน”
Shannon Raj Singh อดีตที่ปรึกษาด้านสิทธิมนุษยชนของ Twitter ทวีตประกาศว่า เมื่อวานนี้เป็นวันสุดท้ายในการทำงานที่บริษัทของตัวเธอและทีมงานสิทธิมนุษยชนทั้งหมด ซึ่งทีมนี้เป็นผู้ดูแลปกป้องผู้ใช้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วโลก เช่น นักกิจกรรม นักข่าว หรือคนทั่วไปที่อยู่ภายใต้ความขัดแย้งอย่างสงครามยูเครน-รัสเซีย
“ทีมงานด้านประสบการณ์การเข้าถึงแพลตฟอร์ม”
Gerard K.Cohen อดีตหัวหน้าฝ่ายการเข้าถึงแพลตฟอร์ม ประกาศเช่นกันว่าทีมของเขาทั้งทีมถูกเลย์ออฟ ซึ่งทีมนี้คือทีมที่ดูแลด้านการพัฒนาการเข้าถึงแพลตฟอร์มของผู้พิการ
“ทีมงานด้านการสื่อสาร”
ยังไม่แน่ชัดว่าทีมสื่อสารทีมไหนบ้างของ Twitter ที่ถูกเลย์ออฟ แต่สำนักข่าว TechCrunch คาดว่ามีทีมถูกให้ออกจำนวนมาก และสัญญาณจากมัสก์เห็นได้ชัดว่าเจ้าของใหม่คนนี้ไม่เห็นความจำเป็นของทีมสื่อสารภายในองค์กร จากการที่เขาให้ข้อมูลเรื่องการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรน้อยมากตั้งแต่เข้ามาซื้อกิจการ ดังนั้น หัวหน้าทีมสื่อสารภายในองค์กรจึงถูกปลดทันที
“ทีมงานด้านจริยธรรม AI/แมชชีน เลิร์นนิ่ง ความโปร่งใสตรวจสอบได้”
ทีมที่มีชื่อย่อว่า META (Machine learning Ethics, transparency and accountability) ถูกมัสก์ให้ออกยกทีม ทีมนี้เป็นคนทำงานสำรวจด้านจริยธรรมของ AI ระบบอัลกอริธึม และความโปร่งใส
“ทีม Curation คัดเลือกคอนเทนต์”
ทีมงานทั้งหมดด้านบนที่ถูกให้ออก อาจจะเรียกได้ว่าสมเหตุสมผลหากวัดจากรสนิยมหรือวิสัยทัศน์ของอีลอน มัสก์เองที่ไม่ให้ความสำคัญในเรื่องบางเรื่อง (เรื่องที่ว่าคือเรื่องสิทธิมนุษยชน และการเข้าถึงแพลตฟอร์มของผู้พิการ…) แต่ที่น่าแปลกใจคือทีมงานที่จะช่วยเขาสกัดคุณค่าออกมาจากบริษัทนี้ก็ถูกเด้งไปด้วย
ทีม Curation คือทีมที่เขียนโปรแกรมหมวด Trending Topics (เวลากดปุ่ม Explore และจะเห็นว่าคอนเทนต์ไหนเป็นเทรนด์ หรือหัวข้อไหนที่น่าติดตาม) ทีมช่วยให้บริบทแก่หัวข้อสนทนาเหล่านั้น เพื่อให้แพลตฟอร์มคัดทวีตที่น่าสนใจมาได้อย่างเหมาะสม
ทีมนี้ยังเป็นผู้ดูแลการจัดอีเวนต์สด (Live Events) รวมถึงเป็นผู้ต่อสู้กับการให้ข้อมูลผิดๆ บนแพลตฟอร์มด้วย เห็นได้ชัดว่าการปิดทีม Curation ออกทั้งทีมคือสัญญาณว่ามัสก์ไม่ได้สนใจเรื่องความถูกต้องของข้อมูลบน Twitter หรือกระทั่งการคัดเลือกคอนเทนต์น่าสนใจมานำเสนอ
“ทีมนโยบายสาธารณะ”
อีกทีมที่น่าสนใจว่ามีการให้ออกไปถึงครึ่งหนึ่งคือ ทีมนโยบายสาธารณะ ทีมงานนี้สำคัญมากกับการควบคุมแพลตฟอร์ม Twitter ในช่วงเลือกตั้ง และช่วงนี้กำลังจะถึงช่วงเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐอเมริกาแล้วด้วย รวมถึงทีมงานย่อยทีมหนึ่งในหน่วยงานนี้ที่ถูกเลย์ออฟยกทีม คือพนักงานที่เป็นผู้ตรวจสอบตัวตนจริงของบัญชีบุคคลทางการเมืองเพื่อให้เครื่องหมาย Verified สีฟ้าหลังชื่อ
ทั้งหมดเป็นข้อมูลล่าสุดที่ TechCrunch รายงาน แต่อาจจะมีการอัปเดตเพิ่มเติมอีกว่าการเลย์ออฟครั้งนี้ส่งผลกับทีมไหนอีกบ้าง