ไทยยูเนี่ยน (TU) สปินออฟบริษัทลูก “ไอ-เทล” เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิด IPO ราคา 30-32 บาท/หุ้น โดยบริษัทนี้เป็นผู้ผลิต “อาหารสัตว์เลี้ยง” รายใหญ่ในระดับ Top 10 ของโลก มองเทรนด์อนาคตเข้าทางเพราะคนทั่วโลกหันมาเลี้ยงสัตว์เสมือนสมาชิกครอบครัว ยอมใช้จ่ายสูงขึ้นเพื่อดูแลสัตว์เลี้ยงแสนรัก คาดการณ์ตลาดโลกโตเฉลี่ยปีละ 7.1%
บริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ITC เริ่มเดินหน้าโรดโชว์ก่อนเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) โดยประกาศเปิดขายหุ้น IPO จำนวนรวมไม่เกิน 660 ล้านหุ้น ด้วยช่วงราคาเสนอขาย 30-32 บาทต่อหุ้น รวมคิดเป็นมูลค่าเสนอขายไม่เกิน 21,120 ล้านบาท โดยหุ้น IPO จะคิดเป็นไม่เกิน 22% ของจำนวนหุ้นสามัญหลัง IPO
ITC จะพร้อมเปิดให้นักลงทุนจองซื้อหุ้นได้ระหว่างวันที่ 22-25 พฤศจิกายน 2565 และเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในเดือนธันวาคม 2565
“ไอ-เทล” ทำธุรกิจอะไร?
ชื่อบริษัท “ไอ-เทล” อาจฟังไม่คุ้นหูนัก แต่จริงๆ บริษัทดำเนินธุรกิจผลิต “อาหารสัตว์เลี้ยง” มานาน 45 ปี ภายใต้เครือไทยยูเนี่ยน (TU) และเพิ่งปรับโครงสร้าง เปลี่ยนชื่อบริษัทเพื่อเตรียมเข้าตลาดหุ้นเมื่อปี 2564 นี้เอง
“พิชิตชัย วงศ์ปิยะ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงประวัติบริษัทว่า แต่เดิมเริ่มต้นจากการนำ by-products เศษเหลือของการผลิตอาหารทะเลที่เป็นอาหารมนุษย์ของ TU มาเพิ่มมูลค่าด้วยการผลิตเป็นอาหารสัตว์เลี้ยง
แต่พฤติกรรมผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ TU ตั้ง “Global Pet Care Business Unit” ขึ้นในปี 2558 เห็นได้ชัดว่า วันนี้อาหารสัตว์เลี้ยงไม่ใช่ by-products ของอาหารคนอีกต่อไป แต่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องสร้างนวัตกรรมเพื่อสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะ
ตลาดใหญ่อยู่ในอเมริกา เน้นหนักอาหาร “แมว”
ลักษณะธุรกิจของไอ-เทล ทำรายได้ 99% จากการรับจ้างผลิต (OEM) มีรายได้จากแบรนด์ของตนเอง (own brand) เพียง 1% โดยมีแหล่งผลิตอยู่ 2 แห่ง คือ โรงงานจ.สมุทรสาคร และโรงงานจ.สงขลา
การรับ OEM อาหารสัตว์เลี้ยงของบริษัท ถือเป็นรายใหญ่ระดับ Top 10 ของโลก ปัจจุบันไอ-เทลส่งออกไปกว่า 45 ประเทศทั่วโลก มีคู่ค้าสำคัญที่สั่งซื้อสินค้าไปขายภายใต้แบรนด์อย่าง Mars Petcare และ The J.M.Smucker Co. ซึ่งเป็นแบรนด์อาหารสัตว์เลี้ยงชั้นนำในสหรัฐฯ รวมถึง Aixia แบรนด์ชั้นนำของญี่ปุ่น
หากคิดเป็นสัดส่วน ขณะนี้ตลาดใหญ่ที่สุดของไอ-เทล คือ ทวีปอเมริกา 46.2% รองมาคือทวีปเอเชียและโอเชียเนีย 34.4% และตามด้วยทวีปยุโรป 19.4%
พิชิตชัยยังอธิบายถึง “ความแข็งแรง” ของบริษัท มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงประเภท “อาหารเปียก” และ “ขนมสัตว์เลี้ยง” และสัดส่วนใหญ่ของสินค้าจะอยู่ในกลุ่มอาหารแมวถึง 83% ที่เหลือ 17% เป็นอาหารสุนัข
ความแข็งแรงในนวัตกรรมขนมสัตว์เลี้ยงและอาหารแมวนั้นไอ-เทลคาดว่าจะเป็นข้อได้เปรียบของบริษัท โดยพิชิตชัยเสนอให้เห็นเทรนด์การเลี้ยงสัตว์ของคนในปัจจุบันมีการ ‘Humanization’ เลี้ยงสัตว์เหมือนเป็นสมาชิกของครอบครัวคนหนึ่ง ทำให้ตลาดจะต้องการ “ขนมสัตว์เลี้ยง” มากขึ้น
รวมถึงไอ-เทลยังพบว่า ตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่นนั้นนิยมเลี้ยงแมวมากขึ้น โอกาสเติบโตของ “อาหารแมว” จะมีมากกว่าอาหารสุนัข
OEM ที่คิดค้นนวัตกรรมพร้อมเสิร์ฟลูกค้า
ด้าน “นคร นิรุตตินานนท์” ประธานเจ้าหน้าที่ด้านปฏิบัติการของ ITC อธิบายถึงจุดแข็งของบริษัทที่ทำให้ได้เปรียบคู่แข่ง มาจากการเน้นหนักการเป็นอาหารสัตว์เลี้ยงพรีเมียมที่มาจากการคิดค้น “นวัตกรรม” ทำให้ลอกเลียนแบบสูตรได้ยาก
“ฐานข้อมูลด้านสารอาหารของเราเชื่อว่านำหน้าคนอื่นไปกว่า 10 ปี” นครกล่าว
ปัจจุบันไอ-เทลจึงมีสินค้าถึง 5,187 SKUs และมีการคิดค้นเพิ่มปีละกว่า 1,000 รายการ เพื่อตอบโจทย์ทุกอย่างที่ลูกค้าต้องการได้ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงทุกช่วงวัย ทุกความต้องการทางสุขภาพ ลักษณะอาหารหรือรสชาติที่ต้องการ และบริษัทยังพร้อมจะ ‘customize’ ให้ลูกค้าที่ต้องการลักษณะเฉพาะสำหรับแบรนด์ตนเอง ซึ่งทำได้ก็เพราะมีศูนย์ R&D ของตนเอง จึงเป็น OEM ที่ไม่ได้หยุดนิ่งรอการสั่งซื้อเท่านั้น
กินตลาดใหญ่แล้วแต่ยังโตได้อีก
ITC รายงานผลประกอบการปี 2564 ทำรายได้ 14,500 ล้านบาท และมีการเติบโตเฉลี่ย 15% ในช่วง 3 ปีย้อนหลัง (2562-64) โดยมีอัตราการทำกำไรจากการดำเนินงานเฉลี่ยอยู่ในช่วง 15-20% มาโดยตลอด
ขณะที่รอบ 9 เดือนแรกปี 2565 ทำรายได้ไป 15,829 ล้านบาท เติบโต 52.5% YoY และทำกำไรสุทธิ 3,700 ล้านบาท
- AAI เร่งลงทุนทำอาหารสัตว์ครบวงจร รับเมกะเทรนด์สัตว์เลี้ยงเหมือนสมาชิกครอบครัว
- “โลตัส” เปิดตัวร้าน Pet Us อาณาจักรตลาดสัตว์เลี้ยง นำร่องสาขาบางนา-พัฒนาการ
ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงทั่วโลกมีการเติบโตที่ดี โตเฉลี่ยปีละ 5.8% ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา (2558-2564) แต่แนวโน้มอนาคตก็ยังจะโตมากขึ้น อ้างอิงการวิจัยโดย Frost & Sullivan คาดว่าตลาดมูลค่า 5 ล้านล้านบาทนี้ จะโตเฉลี่ยปีละ 7.1% ในรอบ 5 ปีข้างหน้า (2565-69) เพราะเทรนด์การเลี้ยงสัตว์เสมือนสมาชิกในครอบครัว และเทรนด์ครัวเรือนที่ไม่มีบุตรแต่จะเลี้ยงสัตว์เป็นเพื่อนแทน
ทำให้แผนของไอ-เทลต้องการจะหาโอกาสเติบโตต่อไป “พรชัย ตติยชัยทวีสุข” รักษาการประธานเจ้าหน้าที่ด้านการพาณิชย์ของ ITC เปิดกลยุทธ์ 3 ด้านที่จะสร้างการเติบโตให้ ITC ดังนี้
1.ขยายส่วนแบ่งในตลาดเดิม เช่น สหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น
- เจาะกลุ่มลูกค้าห้างค้าปลีกที่ต้องการมีแบรนด์ของตนเอง (Private Label)
- เพิ่มสินค้านวัตกรรม เช่น ขนมสัตว์เลี้ยง ซึ่งคาดว่าจะโต 11.0% ต่อปีในรอบ 5 ปีข้างหน้า (สูงกว่าค่าเฉลี่ยรวมของตลาด)
2.เพิ่มน่านน้ำใหม่ ในตลาดใหม่ที่กำลังเติบโตสูง เช่น จีน อังกฤษ
- ร่วมมือกับแบรนด์คู่ค้านอกประเทศจีนที่ต้องการส่งแบรนด์เข้าเจาะตลาดจีน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าเข้าสู่ตลาดจีนได้ง่ายขึ้น
- รับจ้างผลิตให้กับแบรนด์ท้องถิ่นจีนซึ่งต้องการสินค้าระดับพรีเมียม โดยขณะนี้บริษัทมีข้อตกลงกับอีคอมเมิร์ซรายใหญ่รายหนึ่งให้ผลิตสินค้าภายใต้ Private Label ของอีคอมเมิร์ซเรียบร้อยแล้ว
- รับจ้างผลิตให้กับห้างค้าปลีกที่ต้องการ Private Label ของอังกฤษ โดยไอ-เทลมีจุดแข็งที่สนองตลาดอังกฤษได้เนื่องจากมีนโยบาย ESG ร่วมกับ TU บริษัทแม่มาโดยตลอด
3.ผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มมูลค่า
- อาหารสัตว์เลี้ยงที่มีคุณค่าทางสารอาหารและให้ผลจริง
- อาหารสัตว์เลี้ยงที่ทำจากโปรตีนทางเลือก เช่น แมลง
- อาหารและเครื่องดื่มสัตว์เลี้ยงที่ผลิตเลียนแบบอาหารคน ตอบโจทย์ Humanization เช่น เบียร์สัตว์เลี้ยง ให้เจ้าของได้ทำกิจกรรมร่วมกับสัตว์เลี้ยงในแบบเดียวกัน
ระดมทุนสร้างโรงงานใหม่และการ R&D
จากแผนการเติบโตทั้งหมดของไอ-เทล ทำให้การระดมทุนครั้งนี้มีขึ้นเพื่อนำไปใช้ในการลงทุนต่างๆ เหล่านี้
- สร้างโรงงานแห่งใหม่ ในบริเวณเดียวกับโรงงาน จ.สมุทรสาคร จะทำให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 7%
- ซื้อเครื่องจักรอุปกรณ์เพิ่มเติมสำหรับโรงงานต้นแบบ
- ปรับปรุงโรงงานและเครื่องจักรในโรงงานเดิม
- ระบบอัตโนมัติในการติดฉลากและบรรจุสินค้า
- เพิ่มคลังสินค้าระบบอัตโนมัติทั้งที่สมุทรสาครและสงขลา
- สร้างศูนย์ปฏิบัติการทดสอบรสชาติอาหารแมว “Cattery”
- ดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม